ปฏิรูปตำรวจห้ามนำ 'ผู้ต้องหา' แถลง
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2561 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เอาจริงกับการปฏิรูปตำรวจ หลังจากตั้งกรรมการร่างกฎหมายที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายนี้จะแตกต่างกับแนวทางการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานอย่างมาก โดยคณะกรรมการจะเขียนโครงสร้างการปฏิรูปที่ไม่ใช่แค่การขึ้นเงินเดือน แต่ต้องปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการดูความอาวุโส และผลงาน เพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่งและเลือกพวกพ้อง ลดการใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้ง
“การปฏิรูปตำรวจต้องเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนเติบโตในตำแหน่งหน้าที่จนถึงขั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ส่วนผู้ไม่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่ง ผบ.ตร.ก็ไม่มีอำนาจสั่งพนักบานสอบสวนได้ ที่สำคัญต้องแยกออกการทำงานของหน่วยปราบปรามกับพนักงานสอบสวนออกจากกัน อาจมีผู้กำกับการสถานีตำรวจที่อยู่ในสายพนักงานสอบสวนควบคู่กับผู้กำกับฯ ฝ่ายปราบปรามด้วย ทั้งยังต้องมีกองทุนสำหรับพนักงานสอบสวน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน”นายบวรศักดิ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงนั้นจะไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าผิดอาญา และกฎหมายยังกำหนดว่าผู้ต้องหาจะมีความผิดก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้ว