100 วัน ในสัญญาของ รัฐบาล ‘มหาเธร์’
"...ในการแถลงข่าวหลังการรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ยังเน้นเป็นพิเศษเรื่องจะโยกย้ายหรือปลดข้าราชการชั้นสูงและหัวหน้าหน่วยงานอิสระบางรายที่ทำงานรับใช้รัฐบาลนาจิบ ราซัก โดยกล่าวว่า “ศีรษะ (ของข้าราชการ) บางรายจะต้องขาด” (Some heads will fall) ..."
‘สึนามิของชาวมลายู’ ส่งแนวร่วมแห่งความหวัง หรือ 'ปากาตัน ฮาราปัน' อดีตฝ่ายค้านภายใต้การนำของ 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' ขึ้นเป็นรัฐบาลด้วยเสียงท่วมท้นถล่มทลาย ซึ่งมีการจัดพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 กษัตริย์แห่งมาเลเซีย เมื่อค่ำวานนี้ (10 พ.ค.2561) นอกจากจะช่วยสยบข่าวลือในห้วงสุญญากาศทางการเมืองของการปราศจากรัฐบาลไปหนึ่งวันเต็มๆ
ยังเป็นการประทับตรารับรองฐานะในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของผู้นำกลุ่มใหม่อีกด้วย
ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แนวร่วมแห่งความหวังชูคำประกาศให้สัญญาต่อประชาชนว่า ตนเองจะดำเนินนโยบายหลายประการภายในเวลาหนึ่งร้อยวัน หากชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล โดยมีเรื่องใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
นโยบายเศรษฐกิจ - ประชานิยมหลากเชื้อชาติ ?
• ยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จีเอสที ซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล 'นาจิบ ราซัก' เสียคะแนนนิยมอย่างมหาศาล เนื่องจากทำให้ราคาสินค้าจำเป็นและค่าครองชีพโดยรวมพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับค่าเงินริงกิตที่ลดลง
นายก ฯ มหาเธร์กล่าวในการแถลงข่าวหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลของเขาจะมุ่งไปที่ประเด็นใหญ่สองประเด็นเป็นเบื้องแรก คือเรื่องสถานะทางการเงิน และการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเขากล่าวว่ารัฐบาลต้องเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนโดยการปกครองตามระบบกฎหมายของประเทศ และมีผู้มีความสามารถที่พร้อมจะเข้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ “ที่รัฐบาลเก่าสร้างขึ้น”
เขาย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกยกเลิกแน่นอน โดยแทนที่ด้วยภาษีการขาย (sales tax)
• นำเอาระบบการหนุนช่วยเรื่องค่าน้ำมันเฉพาะกลุ่มประชากรบางกลุ่มมาใช้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถยนต์ขนาดต่ำกว่า 1300 ซีซี และมอเตอร์ไซค์ขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี
• จัดระบบค่าจ้างขั้นต่ำ และอาจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 1,500 ริงกิตมาเลเซียต่อเดือนเพื่อช่วยกลุ่มยากจน และให้ความสำคัญเบื้องต้นต่อการจ้างงานคนท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนสองล้านคนในประเทศ
• ชะลอการจ่ายคืนหนี้เพื่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจนว่าผู้จบการศึกษาจะมีระดับเงินเดือนถึง 4,000 ริงกิตมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยผู้จบการศึกษาใหม่ที่มีรายงานว่าหลายรายไม่สามารถหางานทำ และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายจากหนี้เงินกู้จนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ นอกจากนั้นยังมีแผนจะให้มีการศึกษาฟรีในสถานศึกษาระดับสูงของรัฐ
• สร้างงานใหม่จำนวน 1 ล้านตำแหน่งที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มการจ้างงานแรงงานอายุน้อยและผู้จบการศึกษาใหม่ที่ขณะนี้พบปัญหาไม่มีงานทำ
• ลดหรือยกเลิกค่าทางด่วนอย่างเป็นขั้นตอน
• ใช้ระบบหนุนช่วยเรื่องการรักษาพยาบาลในกลุ่มคนยากจน ในรูปของเงินหนุนช่วย 500 ริงกิต
จะเห็นได้ว่า โดยนโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้ที่ไม่ใช่นโยบายในระดับมหภาคนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นประชานิยมชนิดหนึ่ง แต่ต่างกับประชานิยมของพรรคอัมโนคือไม่เน้นเจาะจงที่ประชากรเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง
นโยบายการเมือง – เปลี่ยนระบบและ ‘เช็คบิล’
นอกจากจะสัญญาตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องการให้สิทธิการปกครองตนเองแก่รัฐซาบาห์และซาราวัก ซึ่งเป็นเกาะทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องคาราคาซังมาตั้งแต่หลังยุคอาณานิคมแล้ว
ปากาตัน ฮาราปัน ยังเสนอจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและมุขมนตรีผู้ปกครองรัฐต่าง ๆ เป็นสองเทอมจากที่ไม่มีการจำกัด เป็นการป้องกันการผู้ขาดอำนาจทางการเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต
นอกจากนั้นยังแสดงเจตจำนงสร้างความเป็นอิสระแก่สถาบันตุลาการด้วยการยกเลิกกฎระเบียบที่เอื้อให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง แยกอำนาจอัยการสูงสุดออกจากพนักงานอัยการเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนานาฉบับ เช่น กฎหมายการพิมพ์ที่จำกัดเสรีภาพสื่อ, กฎหมายกำกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักวิชาการ และกฎหมายความมั่นคงภายในที่มักถูกใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นต้น
--------------------------------------------
“เราเชื่อว่าเราสามารถนำเอาเงินของ 1MDB กลับมาได้ทั้งหมด เพราะเรารู้ว่าเงินเหล่านี้อยู่ที่อเมริกา สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์และที่อื่น ๆ บางที่ เรามีคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้”
--------------------------------------------
ในการแถลงข่าวหลังการรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ยังเน้นเป็นพิเศษเรื่องจะโยกย้ายหรือปลดข้าราชการชั้นสูงและหัวหน้าหน่วยงานอิสระบางรายที่ทำงานรับใช้รัฐบาลนาจิบ ราซัก
โดยกล่าวว่า “ศีรษะ (ของข้าราชการ) บางรายจะต้องขาด” (Some heads will fall)
แม้มาตรการนี้จะไม่อยู่ในคำประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นสิ่งที่นักการเมือง ปากาตัน ฮาราปัน โดยเฉพาะมหาเธร์เอง ส่งสัญญานอย่างต่อเนื่องช่วงการรณรงค์หาเสียง
โดยคาดกันในแวดวงการเมืองว่า ข้าราชการรายแรกน่าจะเป็น ตันศรี โมฮัมหมัด อาลี อาพันดี อัยการสูงสุด ผู้มีรายงานข่าวว่าได้รับการแต่งตั้งโดยนายนาจิบให้นั่งในตำแหน่งเพื่อช่วยกำจัดข้อกล่าวหาของเขาในกรณีทุจริตยักยอกเงินจากบริษัทเพื่อการลงทุน 1MDB ของรัฐ
เมื่อถูกถามความเป็นกรณีตันศรี โมฮัมหมัดให้สัมภาษณ์หลังการเลือกตั้งว่า สำนักอัยการสูงสุดของเขาเป็นหน่วยงานที่ปราศจากการเมือง นายก ฯ มหาเธร์ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “Bulshit” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘โกหกตอแหล’
ท้ายที่สุดคือการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนกรณีทุจริตในหน่วยงานใหญ่ ๆ บางหน่วยงาน โดยเฉพาะกรณี 1MDB ซึ่งพัวพันกับนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งจะเป็นการตัดสินชะตากรรมของนายนาจิบและผู้มีส่วนเกี่ยวกันคนอื่น ๆ ที่อาจลงเอยด้วยการถูกจำคุกหรือยึดทรัพย์สิน โดยมหาเธร์กล่าวว่าเขามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำเงินที่ถูกยักยอกไปกลับมาได้ทั้งหมด
“เราเชื่อว่าเราสามารถนำเอาเงินของ 1MDB กลับมาได้ทั้งหมด เพราะเรารู้ว่าเงินเหล่านี้อยู่ที่อเมริกา สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์และที่อื่น ๆ บางที่ เรามีคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้”
ท้ายที่สุดเรื่องการสืบต่ออำนาจ เขากล่าวว่า ในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 พระองค์ทรงแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการอภัยโทษนายอันวา อิบราฮิม ให้พ้นจากการเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีหลังถูกจำคุก โดยเป็นข้อตกลงในหมู่หัวหน้าพรรคแกนนำกลุ่มปากาตัน อาราปัน รวมกันว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการโดยเร็ว
สำหรับอนาคตทางการเมืองของตนเองนั้น มหาเธร์กล่าวว่า “ผมจะอยู่ในตำแหน่งนานตราบเท่าที่ (แนวร่วม) ยังมีความต้องการในประสบการณ์ของผม จะไม่อยู่นานเกินไป”
นับแต่นี้รัฐบาลแห่งความหวังภายใต้การนำของมหาเธร์ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันจากความคาดหวังของประชาชน
เวลา 100 วันนับแต่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ใช่เวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ แต่เป็นเวลาของการทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตนเอง ให้สมกับการได้รับความไว้วางใจครั้งประวัติศาสตร์นี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก kensomuse.com