เปิดคำชี้แจงประกอบการเสนอ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ กับมาตรา 10 เลิกสอบเข้าป.1
กระแสค่านิยมที่ครองงำสังคมไทยมากว่า 30 ปี ทำให้การจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลได้รับผลกระทบไปทั่วประเทส ครูปฐมวัยถูกกดดันทั้งจากผู้ปกครองและผู้บริหารให้ต้องเร่งสอนวิชา ทั้งที่หลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับอนุบาลจะต้องเน้นที่การเรียนรู้บนฐานการเล่น Play-Based Learning เรียนรู้แบบ Active Learning
ข่าวคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มีศ.นพ.จรัส สุวรรรเวลา เป็นประธาน พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.... และมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไปนั้น โดยกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานที่จัดการศึกษาด้านปฐมวัย ซึ่งมีอยู่มาตราหนึ่งที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า "ไม่มีการสอบเข้า" การรับเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาโดยวิธีสอบคัดเลือกจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่คณะกรรมการกำหนด (อ่านประกอบ:2 มุมมองนักการศึกษา ต่อกรณียกเลิกสอบเข้าอนุบาล-ป.1)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดคำชี้แจงประกอบการนำเสนอ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ..... โดยอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้ระบุ ถึงเจตนารมณ์และประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เพื่อยกระดับความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้อยู่ในลำดับต้นของวาระแห่งชาติ และเพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนในประเทศได้รับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามหลักวิชาการที่กล่าวว่า ช่วงปฐมวัย (ตั้งแต่ปฎิสนธิ - 8 ปี ) เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด และเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด อีกทั้งการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยรอบด้านอย่างเหมาะสมจะเป็นรากฐานของทุนมนุษย์สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเด็กไปจนตลอดชีวิต....
กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย จะเป็นหลักประกันให้เด็กปฐมวัยที่อยู่ช่วงวัยสำคัญได้รับการอบรมเลี้ยงดู พัฒนา ให้การศึกษา และได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
สำหรับมาตรา 10 ใน ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.....ระบุ การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยวิธีสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เป็นการวางหลักประกันว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยจะดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง โดยไม่อนุญาตให้มีการสอบคัดเลือกเข้าป.1
ดังระบุไว้ในสถานการณ์เด็กปฐมวัยว่า
จากคุณภาพของโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างสูงมาก ทำให้ผู้ปกครองในเศรษฐฐานะคนชั้นกลางขึ้นไป เกิดค่านิยมนำลูกไปสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแทนที่จะเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งแม้ผู้ปกครองเด็กที่นำลูกไปสอบเข้าในแต่ละปี จะมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับเด็กปฐมวัยที่ต้องเข้าเรียนในปีนั้นๆ ทั้งหมด
ในสภาวะเช่นนี้ก็ได้กลายเป็นกระแสค่านิยมที่ครองงำสังคมไทยมากว่า 30 ปี ทำให้การจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ
กล่าวคือ ครูปฐมวัยถูกกดดันทั้งจากผู้ปกครองและผู้บริหารให้ต้องเร่งสอนวิชา ทั้งที่หลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับอนุบาลจะต้องเน้นที่การเรียนรู้บนฐานการเล่น (Play-Based Learning) เรียนรู้แบบ Active Learning
แต่เด็กอนุบาลเกือบทั้งหมด ไม่ว่าในเมืองหรือในชนบทขาดโอกาสพัฒนาการที่ถูกต้อง เด็กขาดโอกาสพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถูกบังคับให้อ่าน สะกดคำ คัดเขียน และคิดคำนวณ ตั้งแต่วัยยังไม่พร้อม จึงเกิดความเครียดต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในคำชี้แจง ยังได้หยิบยกงานวิจัย Center for the Developing,Harvard University ที่ชี้ให้เห็นว่า ความเครียดสะสมต่อเนื่องยาวนาน จะทำลายการพัฒนาของเส้นใยสมอง จนสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของสมองให้ผิดปกติ ทั้งในแง่ที่ไม่เติบโตขยายเส้นใยประสาทไปเชื่อมต่อตามธรรมชาติ และทั้งในแง่คุณภาพของเส้นใยประสาทแต่ละเส้น
นอกจากความผิดปกติจะเกิดขึ้นกับเส้นใยประสาทของเด็กปฐมวัยแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งสำคัญที่ตามมาพร้อมกันคือ ความรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เล็ก เนื่องจากในเด็กสองสามพันคนที่ไปเข้าสอบในแต่ละโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จะมีเพียง 100-200 คนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสผ่านการคัดเลือก เด็กที่ไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม จะเกิดความรู้สึกเป็น "ผู้แพ้" ตั้งแต่ต้นและต้องได้รับแรงกดดันจากการที่ตนไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของพ่อแม่ไม่ว่า พ่อแม่จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ผลทางจิตวิทยาเช่นนี้ ทำลายความสุข ความเชื่อมมั่นที่จะเติบโตต่อไปของเด็ก
เนื่องจากการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนในช่วงปฐมวัย เป็นการขัดขวางหลักการพัฒนาอย่างรอบด้าน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดเป็นข้อห้ามไว้ในมาตรา 10
แต่ด้วยปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง จึงกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัยออกประกาศกำหนดวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ที่มาภาพ:คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา http://www.thaiedreform.org/