กสทช.แจก "เพาเวอร์แบงค์"ฟรี! ให้คนแจ้งสายสื่อสารเสี่ยงอันตราย
กสทช.ชวนประชาชนร่วมใจเตือนภัย "สายสื่อสารอันตราย"ผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1200 พร้อมแจกเพาเวอร์แบงค์ให้คนแจ้งเบาะแสฟรีจำนวน 4,500 อัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีปรากฏตามข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากสายโทรคมนาคมที่จังหวัดขอนแก่น และสำนักงาน กสทช. ได้ประสานงานให้บริษัทเจ้าของสายเข้าไปรับผิดชอบต่อผู้เสียหายแล้วนั้น วันนี้ (8 พ.ค. 2561) สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและคณะ เพื่อหารือถึงแนวทางการพาดสายสื่อสารในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา
จากนั้นเดินทางตรวจสอบมาตรฐานการพาดสายสื่อสารในพื้นที่เกิดอุบัติเหตุ ณ บริเวณหน้าโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ถัดจากนั้นเดินทางไปตรวจพื้นที่เตรียมการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในปี 2561 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถ.กลางเมือง จากสี่แยก ถ.ประชาสโมสร ถึง สามแยก ถ. หลังศูนย์ราชการ 2.ถ.หน้าเมือง จากสี่แยก ถ.ประชาสโมสร ถึง สามแยก ถ. หลังศูนย์ราชการ และตรวจสอบเส้นทางวิกฤตที่ไม่สามารถอนุญาตให้พาดสายฯ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางแยกประชาสโมสร (ฝั่งตะวันออก) ถึง ถ.ราษฎร์คะนึง 2.เส้นทางทางเข้าบ้านโนนม่วง และ 3.เส้นทางถ.สมหวังสังวาล
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับมาตรการบังคับใช้ในการพาดสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. นั้นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายจะต้องดำเนินการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้ตกลงกับการไฟฟ้าฯ รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปัก หรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ หรือหลักสิทธิแห่งทางของสำนักงาน กสทช. โดยมาตรฐานการพาดสาย กรณีที่เป็นถนนหลัก ทางหลวงแผ่นดิน ไม่ให้มีการพาดสายข้ามถนนต้องดันท่อร้อยใต้ดินเท่านั้น กรณีถนนสายรอง ซอย การพาดสายข้ามถนนการพาดสายต้องพาดในระดับความสูงกว่าผิวจราจร 5.5-5.9 เมตร และสายสื่อสารทุกประเภทต้องมีสี และชื่อของเจ้าของระบุอย่างชัดเจนเพื่อแสดงตน
"กรณีประชาชนพบสายสื่อสารที่รกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบ อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัญจรบนท้องถนน หรือได้รับอันตรายจากสายสื่อสาร สามารถแจ้งมายัง Call Center ของสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 ฟรี หรือแจ้งไปที่การไฟฟ้านครหลวง หมายเลขโทรศัพท์ 1130 หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หมายเลขโทรศัพท์ 1129 ก็ได้ เมื่อรับเรื่องสำนักงาน กสทช. จะประสานงานกับผู้ประกอบการเจ้าของสายให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน"นายฐากร กล่าว
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ AIS TRUE 3BB และ Symphony เชิญประชาชนร่วมใจเตือนภัย เพื่อความปลอยภัยสายสื่อสาร รับ Power Bank ฟรี 4,500 อัน สำหรับประชาชน 4,500 รายแรก ที่โทรศัพท์มาแจ้งข้อมูลสายสื่อสารที่เป็นอันตรายกับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรี) ทั้งนี้ตามที่มีข่าวที่มีเหตุการณ์สายสื่อสาร หย่อน ขาด รกรุงรัง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสำนักงาน กสทช. ได้มีการเรียกประชุมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบกิจการเคเบิ้ลทีวี เพื่อย้ำถึงมาตรการบังคับใช้ในการพาดสายสื่อสารในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงทำความเข้าใจ เพื่อให้การพาดสายสื่อสารของผู้ประกอบการทุกรายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบ สร้างความปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดูสวยงาม ไม่รกรุงรัง รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้นไปแล้วนั้น
สำนักงาน กสทช. เห็นว่าสิ่งที่จะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่เป็นอันตรายนั่นคือสำนักงาน กสทช. ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยเป็นส่วนร่วมในการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากสายสื่อสารกับสำนักงาน กสทช. เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สายสื่อสารพาดผ่าน จะเป็นผู้ใกล้ชิดและน่าจะเป็นผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ปัญหาสายสื่อสาร หย่อน ขาด รกรุงรัง ที่ที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เร็วกว่า
โดยประชาชนที่แจ้งข้อมูลปัญหาสายสื่อสาร พร้อมทั้งระบุสถานที่ที่พบปัญหา มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรี) พร้อมทั้งถ่ายภาพสายสื่อสารที่เป็นปัญหาส่งมายัง Line ID : @nbtc1200 สำหรับ 4,500 สายแรกที่แจ้งข้อมูลเข้ามา เมื่อสำนักงาน กสทช. ทำการตรวจสอบว่าสายสื่อสาร ณ สถานที่ที่ประชาชนแจ้งเข้ามานั้นก่อให้เกิดปัญหาเป็นอันตรายกับประชาชนจริง สำนักงาน กสทช. จะส่ง Power Bank ฟรี ไปให้กับประชาชนที่แจ้งข้อมูลเข้ามาโดยเร็วที่สุด สำหรับ Power Bank ที่จะแจกให้กับประชาชนมีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 อัน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,000 อัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,000 อัน ภาคกลาง 1,000 อัน ภาคใต้ 1,000 อัน และกรุงเทพมหานคร 500 อัน
"การที่ประชาชนร่วมกันช่วยสังเกต และเตือนภัย สายสื่อสารที่อาจเป็นอันตราย มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรี) จะช่วยให้การทำงานของสำนักงาน กสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบกิจการการเคเบิ้ลทีวี ในการแก้ไขปัญหา อันตราย อันอาจจะเกิดจากสายสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ยิ่งขึ้น"นายฐากร กล่าว