7 ตัวแปร - ‘เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่’ ที่จีนใช้พัฒนาประเทศ
“ช่วงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆ การบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วนแค่ 45% ของจีดีพี ปี 2016 ขึ้นมา 64% นี่คือสิ่งที่จีนได้เปรียบ คือการใช้จมูกตัวเองหายใจได้มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากเหมือนเดิมอีกแล้ว หันพึ่งพาพลังอำนาจการบริโภค 1,400 ล้านคน”
อะไรที่ทำให้ “จีน” ซึ่งมีประวัติศาสตร์กว่า 5 พันปี แค่ช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาถึงได้มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมาก รวดเร็วแบบก้าวกระโดด อย่างน่ามหัศจรรย์
ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตไว้ ในเวทีอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง จีน VS สหรัฐฯ 2018 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ จัดโดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.สมภพ ได้โชว์กราฟที่แสดงให้เห็นพัฒนาการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( gross domestic product: GDP) ของจีน เทียบกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ตอนจีนเปิดประเทศช่วงปีค.ศ. 1979-1980 ถึงปัจจุบัน โดยพบว่า ช่วงปีค.ศ. 1980-1981 จีดีพีสหรัฐฯ ใหญ่กว่าจีดีพีจีน 15 เท่าตัว ขณะที่จีพีดีของอินเดียก็ใหญ่กว่าจีดีพีจีน แต่ทุกวันนี้จีดีพีจีน ใหญ่กว่าจีดีพีอินเดีย 5 เท่าตัว
เกิดอะไรขึ้น ?
รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่า มี 6-7 ตัวแปรที่เคยสร้างสหรัฐฯ มาก่อน จีนกำลังเดินเส้นทางนี้ และหากทำได้ตามนี้ ไม่ว่าชาติไหนก็พัฒนาได้ไม่เฉพาะจีนประเทศเดียว Common Factors of China’s Development Opportunities ประกอบด้วย
1.ลงทุนเรื่องการขนส่งสาธารณะ (Transportation Development) เช่น ทางรถไฟ
2.ลงทุนเรื่องการสื่อสาร (Communications Development)
3.เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับตลาด (Market Friendly Economy)
4.การพัฒนาด้านการเงิน (Financial Development)
5.ลงทุนเรื่องเทคโนโลยี (Technological Development)
-Mechanical Technological
-Biotechnology
-Information Technological
-Nanotechnology
6.เสถียรภาพทางการเมือง(Political Stability)
7.ปฏิรูปการศึกษา คุณภาพของคน (Human Resource Development)
รศ.ดร.สมภพ ยังวิเคราะห์ต่อถึงการปฏิรูปของจีนขณะนี้ บอกได้เลยว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จีนเน้น Financial Reform ซึ่งน่าสนใจติดตาม เพราะเศรษฐกิจจีนภาคการเงินยังปิดตัวมาก รวมถึงการเร่งการโตของเมือง (More Speedy Urbanization)
“เมืองจะโตได้เมื่อคุณมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีทางรถไฟ มีไฮเวย์ วันนี้คนจีนอยู่ในเมือง 58% คิดดูหากเพิ่มข้น 60-70% จะมีผลต่อเศรษฐกิจจีนมากขนาดไหน”
อีกสิ่งหนึ่งที่จีนทำสำเร็จในมุมนักวิชาการด้านจีนศึกษา พบก็คือ การเร่งพลังอำนาจการบริโภคภายในประเทศ (Increase Domestic Consumption)
“ช่วงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆ การบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วนแค่ 45% ของจีดีพี ปี 2016 ขึ้นมา 64% นี่คือสิ่งที่จีนได้เปรียบ คือการใช้จมูกตัวเองหายใจได้มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากเหมือนเดิมอีกแล้ว หันพึ่งพาพลังอำนาจการบริโภค 1,400 ล้านคน”
10 อุตฯ หลัก
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมหลักที่จีนเร่งพัฒนาให้บรรลุในปี 2025 เช่น 1.AI (Artificial Intelligence) คาดกันว่า ภายในไม่เกินศตวรรษข้างหน้านี้จีนจะนำหน้าสหรัฐฯ เรื่อง AI 2.Robots 3.เซมิคอนดักเตอร์ (SEMICONDUCTOR) โดยจีนเร่งพัฒนาอย่างหนักด้วยตัวเอง เนื่องจากมีการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์กว่า 2.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 60%ของการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก 4.รถยนต์ขับเคลื่อนไร้คนขับ 5.Blockchain 6.การลงทุนต่อเรือโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 7. โครงการสำรวจอวกาศ และ 8.โครงการสำรวจทะเลลึก เป็นต้น
นี่คือ ‘เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่’ ที่จีนใช้พัฒนาประเทศ ทั้งมีความเหมือนและแตกต่างจากชาติตะวันตก
สุดท้ายคำถามที่ว่า สงครามการค้า ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น รศ.ดร.สมภพ วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า วันนี้จีนจับจุดอ่อนของสหรัฐฯ ได้ 3 เรื่อง 1.พลังภาคการเกษตร จีนใช้ “พลังเต้าหู้” ในการต่อสู้ เพราะจีนเป็นประเทศนำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลกปีหนึ่ง 100 ล้านตัน หรือนำเข้า 2 ใน 3 ที่โลกค้าขายถั่วเหลืองกัน และจีนยังนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯปีละ 30 กว่าล้านตัน หรือ 62% ถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ซึ่งมาจาก 10 มลรัฐ (8 มลรัฐเลือกนายโดนัล ทรัมป์) ส่งไปขายที่จีน, จีนนำเข้าแอปเปิ้ล 56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 2 พันล้านบาท รวมถึงนำเข้าโสมจากสหรัฐฯ 2.ภาคการเงิน และ 3.ตลาดพันธบัตรรัฐบาล
ทั้ง 3 เรื่อง รศ.ดร.สมภพ เชื่อว่า อาจทำให้การพูดคุย การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ง่ายขึ้น การเผชิญหน้ากัน อาจมีการลดลาวาศอก
ขณะที่ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีนักเศรษฐศาสตร์ ของสหรัฐ 1,140 คน ยื่นจม.เปิดผนึกเตือน 'ทรัมป์-คองเกรส' อย่าได้กระทำการผิดพลาดอีก ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ การปกป้องตลาดจะทำให้สหรัฐฯเสียหายมากกว่าได้ประโยชน์
“วันนี้สหรัฐฯ โชคไม่ดีมีประธานาธิบดีทรัมป์ที่ชาตินิยมแบบหลับหูหลับตา ไม่ใช่ชาตินิยมที่ใช้ปัญญา อย่างนายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีน ซึ่งในการประชุมที่ดาวอส สี จิ้นผิง ระบุว่า การดำเนินนโยบายปกป้องตลาด หรือเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็เหมือนการขังตัวเองไว้ในห้องมืด อาจทำให้ลม ฝน ไม่สามารถเข้ามาในห้องมืดได้ แต่ห้องมืดที่ขาดแสง ขาดอากาศ ในที่สุดก็เฉาตาย ไม่มีใครชนะหากต้องทำสงครามการค้า”