ฉบับเต็ม! หนังสือ สกอ. โนติส มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบ 5 ผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรปถลุงงบ 6 ล.
"...เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยรับตรวจย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสั่งการและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นข้อความละเอียดในหนังสือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ส่งถึง นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มรภ.เชียงใหม่) เพื่อแจ้งให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กรณีการชี้มูลความผิดตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) การจัดโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ในช่วงวันที่ 17-29 มี.ค. 2557 กำหนดเดินทางไปดูงานที่ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส 4 ประเทศ รวมระยะเวลา 13 วัน ใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 6,040,487.13 บาท โดย สตง.ตรวจสอบพบว่า การศึกษาดูงานในส่วนของจีน จำนวน 4 วัน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวนครึ่งวัน ส่วนการศึกษาดูงานอีก 3 ประเทศ ที่เหลือรวม 9 วัน เป็นการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในโครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้แต่อย่างใด ขณะที่อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการและรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้ขออนุมัติโครงการและร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งสองคน จึงมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและต้องรับผิดทางละเมิดคืนเงินแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย
หลังจากที่ มรภ.เชียงใหม่ ได้รายงานการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยต่อเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่า การเบิกค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ กล่าวคือ ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะของคณะผู้ร่วมเดินทาง มีความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เกินสิทธิที่พึงได้รับ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนั้น การดำเนินการเบิกจ่ายเงินไปราชการโดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งสวนทางกับผลการชี้มูลความผิดของ สตง.
---------------
เรียน นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ตามที่ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รายงานการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยต่อเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรณีโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธ์สาธรณรัฐเยอรมัน สมาพันธ์รัฐสวิส และสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยรายงานว่า สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว
โดยวันที่ 12 มกราคม 2561 ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อนายกสภามหาวิทยาลัย โดยสรุปว่า การเบิกค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ กล่าวคือ ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะของคณะผู้ร่วมเดินทาง มีความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เกินสิทธิที่พึงได้รับ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนั้น การดำเนินการเบิกจ่ายเงินไปราชการโดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
โดยที่ ข้อเท็จจริงดังกล่าว รับฟังเป็นยุติ ตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้เดินทางไปต่างประเทศตามโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวน และได้เดินทางไปสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สมาพันธรัฐสวิส และสาธารณรัฐฝรั่งเศส แต่ไม่มีการศึกษาดูงานด้านการบริหารการจัดการศึกษา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศนั้น ๆ ตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการไว้
และในการเดินทางไปต่างประเทศนั้น มหาวิทยาลัยมีการจ้างผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวให้ดำเนินการ แต่ไม่มีการจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับทั้งในการเดินทางดังกล่าวได้มีการยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งพบว่า มีการนำเงินยืมฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของหุ้นส่วนผู้จัดการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยตรง
โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้พิจารณาการอนุมัติให้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว เห็นว่าขั้นตอนของการอนุมัติยืมเงินในโครงการทั้งสี่ครั้งนั้น การยืมเงินครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 มีลักษณะหมุนเวียน กล่าวคือ การส่งใช้คืนเงินตามสัญญาครั้งแรกมีการยืมเงินครั้งที่ 2 มาแล้วออกเช็คให้ผู้ยืมครั้งที่ 2 มาส่งใช้เงินยืมครั้งแรก หมุนเวียนกันไปแบบนี้ทั้ง 4 ครั้ง ซึ่งเป็นการอนุมัติให้ยืมเงินที่ไม่ถูกต้อง ตามระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการเบิกจ่ายเงินรายได้ พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 66 และข้อ 70
ประกอบกับระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 ข้อ 60 พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีมติให้ดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ราย ดังนี้ 1) อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะผู้อนุมัติเงินยืม 2) รองอธิการบดี ในฐานะผู้อนุมัติเงินยืมและผู้ยืม 3) นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ในฐานะผู้ยืม 4) นักวิชาการเงินและบัญชี ในฐานะผู้ตรวจสอบการยืมเงิน และ 5) ผู้อำนวยการกองคลัง (ในขณะนั้น) (ขอสงวนชื่อผู้ถูกกล่าวหา)
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้ว่าสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จะได้มีคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา โดยรายงานว่ากรณีดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินไปราชการไปโดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและพิจารณายุติเรื่องแล้ว อันเป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา 18(14) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตาม มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุด และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันกำหนดไว้ว่า การวินิจฉัยลงโทษทางวินัยทางงบประมาณและการคลังไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษทางวินัยในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารของหน่วยรับตรวจที่จะพิจารณาลงโทษทางวินัยเพราะเหตุเดียวกันนี้อีก
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยรับตรวจย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว
โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสั่งการและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า
ทั้งนี้ตามความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 และข้อ 5 ประกอบข้อ 41 แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560
ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยแก่อธิการบดี ตามความในข้อ 41 วรรคสาม แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ความว่า ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริหารวิชาการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้โดยอนุโลม
ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการ
อนึ่ง การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง
อ่านประกอบ :
สกอ.ไฟเขียวตั้งกก.สอบมรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบทัวร์ยุโรป6ล.-สตง.ปัดถูกวิ่งเต้นดองเรื่อง
คตง. เชือด 'อธิการฯ-รอง' มรภ.เชียงใหม่ พาผู้บริหารทัวร์ตปท.ปี57 ไม่ชอบด้วยกม.
โชว์กำหนดการทัวร์ตปท. มรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบ 6ล. ชนวนเหตุคตง.เชือด'อธิการฯ-รอง'
โชว์ภาพชุดตะลอนยุโรป มรภ.เชียงใหม่! ปูด รรก.อธิการฯ ผู้ติดต่อหาบ.ทัวร์
เปิดตัวหจก.ฯนำมรภ.เชียงใหม่ตะลอนยุโรป ยันทำธุรกิจปกติ-เคยพาทัวร์อียิปต์ปี53
เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ ทัวร์ถลุงงบ6ล.(1)อธิการฯ รับไม่มีดูงาน ม.ยุโรป
เลี่ยงจัดจ้าง-ใช้วิธียืมเงินม.โอนเข้าบัญชีบ.ทัวร์!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่(2)
อธิการฯรู้ใช้วิธียืมเงิน-เซ็นอนุมัติให้!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ทัวร์ยุโรป(3)