"วิลาศ" จี้ เลิกเว้นภาษี 40% รถ 11 ที่นั่ง ชี้เป็นช่องเลี่ยงภาษี นิ่งเฉยยื่นฟ้องศาลทุจริต
อดีตส.ส.ปชป. เสนอ เลิกประกาศกรมศุลกากรที่72/2550 เว้นภาษี 40 % รถ 11 ที่นั่ง หลังเป็นช่องทางเลี่ยงภาษี-จนท.แสวงประโยชน์ เล็งหาช่องยื่นฟ้องศาลทุจริต หากยังไม่อุดช่องโหว่ สงสัย ดีเอสไอ โอนคดีจากสำนักคดีภาษีอากรไปอยู่สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ล็อคตัวเจ้าของสำนวนหรือไม่
วันนี้ (6พ.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงความคืบหน้ากรณีรถหรู แต่ภาษีนำเข้า 0 % โดยระบุว่า หลังจากไปยื่นเรื่องต่อ ปปช.ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลกากร ดีเอสไอ และอัยการ ในวันพุธที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว มีผู้ประกอบการและข้าราชการ นัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ ป.ป.ช.ต่อไป โดยตนเชื่อว่า การนำรถเข้ามา 190 ใบขน จำนวน 554 คัน มีการหลีกเลี่ยงภาษีจากช่องว่างของระเบียบใช้วิธีการ สำแดงว่าเป็นรถ 11 ที่นั่งแต่มีการดัดแปลงประกอบเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง ในพื้นที่เขตปลอดอากร เพื่อใช้สิทธิ์ไม่เสียภาษีอากร นำเข้า 40% เนื่องจากตามประกาศกรมศุลกากรที่ 72/2550 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 ได้ระบุไว้ว่า รถยนต์ที่ประกอบหรือดัดแปลงจากวัสดุภายในประเทศเกิน 40% ไม่ต้องเสียภาษีอากรนำเข้า ทำให้รัฐเสียรายได้กว่า 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังกระทบภาษีป้ายด้วย เพราะกฎหมายเขียนว่ารถ 11 ที่นั่งป้ายทะเบียนจะเป็นพื้นขาวตัวหนังสือสีฟ้า เสียภาษีป้าย 1,900 บาท รถ 7 ที่นั่งพื้นสีขาวตัวหนังสือสีดำ เสียภาษีป้ายตามซีซี ปรากฏว่ารถหรูที่ดัดแปลงที่นั่งก็จะเสียภาษีน้อยลง เนื่องจากใช้ป้ายแบบรถ 11 ที่นั่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นรถ 7 ที่นั่งทำให้รัฐเสียหายจำนวนมาก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องการให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวเพราะกลายเป็นช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษีและยังเป็นช่องทางที่เจ้าหน้าที่นำไปแสวงหาประโยชน์ด้วย แต่ถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุม ไม่ใช่ตรวจสอบแต่เอกสารโดยไม่พิสูจน์ข้อเท็จจริงเหมือนที่กรมศุลกากรทำอยู่ในขณะนี้ โดยอยากให้ ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบในเรื่องนี้เพราะมีการทุจริตอย่างมโหฬาร แต่ถ้าป.ป.ช.ชักช้า ก็กำลังพิจารณาว่าจะไปถึงนายกฯดีหรือไม่ และจะหาช่องทางว่าจะฟ้องศาลทุจริตเพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ควรจบลงแบบไหน
อดีตสส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คดีนี้ดีเอสไอสอบสวนมาเกือบ 8 ปี โดยเริ่มต้นคดีอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดีภาษีอากร แต่ในวันที่ 17 มิ.ย.59 โอนคดีจากสำนักคดีภาษีอากรไปอยู่สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ก่อนจะมีการสั่งไม่ฟ้อง จึงสงสัยว่ามีการล็อคตัวเจ้าของสำนวนหรือไม่
ที่มาข่าว:https://mgronline.com/politics/detail/9610000044537