ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ เส้นขนานที่ 38 - หนามยอกอก ของสภาวิชาชีพ ?
มาตรา 17 มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 ได้แบ่งแยก "สภาวิชาชีพ" กับการศึกษาออกจากกันโดยสมบูรณ์ ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ร่างขึ้นมาทำอะไร ปฏิรูปการศึกษาตรงไหน ส่งผลเสียต่ออนาคตเด็ก และประเทศชาติมโหฬาร
11 สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด ถือเป็นองค์กรทางวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติโดยเฉพาะบัณฑิตที่จบการศึกษาที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพต่างๆ ที่ผ่านมาเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาพ.ศ. .... และออกมาแสดงความคิดเห็นถึงข้อบกพร่องของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติได้ในอนาคต
ล่าสุด สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ผลกระทบต่อวิชาชีพและประชาชน” ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทรารา แกนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
รูรั่วที่เด่นชัดของร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ชี้ไปที่มาตรา 17 มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 ซึ่งได้แบ่งแยก "สภาวิชาชีพ" กับการศึกษาออกจากกันโดยสมบูรณ์ ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ....บังคับสภาวิชาชีพให้ยอมรับในเรื่องนี้ ก็แปลว่า ภาคการศึกษา เหลือครึ่งเดียวจากโลกความเป็นจริง ถามว่า ภาคการศึกษาจะรับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้อย่างไร หากไม่มี “สภาวิชาชีพ” ช่วย
"ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ดูแล้วไม่น่าดีเท่าไหร่ ร่างขึ้นมาทำอะไร ปฏิรูปการศึกษาตรงไหน ส่งผลเสียต่ออนาคตเด็ก และประเทศชาติมโหฬาร โดยเฉพาะการร่างมาตรา 64 ออกมาไม่ให้สภาวิชาชีพมีอำนาจ "รับรอง" หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็น "รูรั่ว" ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งน่าหวั่นเกรงว่า เด็กที่ไปเรียนต่างประเทศ กลับมาสอบใบประกอบวิชาชีพในไทยจะผ่านหรือไม่ หรือไม่เด็กก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยที่สอนแบบเข้มข้น หากไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่จัดการเรียนการสอนอ่อนกว่าบ้านเรา กลับมาจะสอบไม่ผ่าน
ขณะที่นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา แสดงความกังวลร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... มาตรา 65 ที่ระบุว่า สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้
นพ.เกรียง ยกตัวอย่าง หมอ ก. สอบใบประกอบวิชาชีพได้ แต่พื้นฐานมีไม่พอ เหตุเพราะสภาวิชาชีพไม่ได้เข้าไปดูหลักสูตร เมื่อออกมารักษาคนไข้ และหากเกิดผลกระทบคนไข้เสียชีวิต คนที่เสียชื่อนอกจาก หมอก. แล้ว แพทยสภา ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพก็เสียภาพพจน์ ทันที
สอดคล้องกับผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา มองว่า ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... มาตราที่เป็นปัญหา คือ มาตรา 64,65,66 เมื่ออ่านร่างกฎหมายนี้จบ พบว่า หายนะกำลังมา เนื่องจากมีการร่างขึ้นมาด้วยอคติ และความไม่รู้ โดยเฉพาะในนิยาม องค์กรวิชาชีพ เขียนแบบมองสภาวิชาชีพเป็นผู้ร้าย
“ผมคิดว่า ไม่ใช่ ทำไมให้นิยามองค์กรวิชาชีพ ลักษณะแบบนั้น เราอยู่ในวิชาชีพก็อยากเห็นวิชาชีพของเรางอกงาม ไม่ได้ตกต่ำ วันนี้กลับร่างกฎหมายแบบนี้ออกมา วิชาชีพจะตกต่ำ เฉพาะวิชาชีพทันตแพทย์ นักเรียนของผมหากทำฟัน หรือให้การรักษาไม่ได้ ผมปล่อยออกมาไม่ได้ ฉะนั้น ก่อนผลิตคนขึ้นมาเราต้องมาคิดฝันก่อนว่า เราอยากได้คนแบบไหน ความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณแค่ไหน ก่อนเขียนออกมาเป็นข้อๆ และกฎหมายสภาวิชาชีพจะมีการปรับปรุงตลอดเวลา คนที่เข้ามาสู่วิชาชีพได้ จำเป็นต้องวัดความรู้ การมาวัดตอนจบแล้ว ทำไม่ได้ ดังนั้นสภาวิชาชีพจำเป็นต้องเข้าไปดูตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่กระบวนการการจัดหลักสูตร ให้ได้ตามมาตรฐาน วันนี้มาบอกเราก้าวก่ายการจัดการศึกษา แทนที่จะมองมุมกลับ เราช่วยกันทำให้ได้คนมีคุณภาพ ออกไปรับใช้ประชาชนมีมาตรฐาน ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของสังคม”
ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล ยืนยันว่า กฎหมายของสภาวิชาชีพทุกวิชาชีพมีขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชน โดยเฉพาะคุ้มครองลูกหลานประชาชนที่เข้ามาเรียนในวิชาชีพ หากเราไม่ดู หรือคุ้มครองนักเรียน ยกตัวอย่าง ทันตแพทย์ใช้เวลาเรียน 6 ปี ถามว่า เมื่อจบออกมาสอบอะไรไม่ได้เลย เพราะหลักสูตรที่เรียนมาไม่ได้มาตรฐาน เด็กไม่ผ่านการทดสอบ อันนี้คือการสูญเสียทั้งระยะเวลาและเงินทอง
“หลักสูตรทันตแพทย์แพงที่สุดในประเทศไทยเรียน 6 ปี เกือบ 10 ล้านบาท จบออกมาแล้วสอบใบประกอบวิชาชีพ บอกได้ไม่ได้เรื่องของคุณ นี่คือความไม่รับผิดชอบ”
ด้านรศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ให้ความเห็นว่า วิชาชีพเกี่ยวกับสุขภาพนั้น เมื่อจบการศึกษาออกมาแล้วต้องสอบวัดความรู้เพื่อรับใบอนุญาตก่อนให้บริการประชาชน ลองคิดดู รัฐบาลลงทุนอุดหนุนการศึกษาวิชาชีพทางสุขภาพ ทั้งผลิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ด้วยงบประมาณที่สูง หากผลิตบุคลากรแล้วไม่ดูแลตั้งแต่หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน จบออกมาแล้วไปสอบวัดความรู้ไม่ผ่าน จบการศึกษามา 100% สอบวัดความรู้ผ่านแค่ 20% คิดว่าสังคมนี้มีปัญหาแล้ว เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
“การไปกำหนดในร่างกฎหมายให้สภาวิชาชีพดูแลเฉพาะจรรยาบรรณ ไม่ต้องดูหลักสูตร จึงเป็นความคิดที่คับแคบ ซึ่งต้องมีการแก้ไข นิยามอำนาจหน้าที่ของ "องค์กรวิชาชีพ"ในกฎหมายฉบับนี้"
อีกวิชาชีพแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพประชาชนโดยตรง แต่ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม นายชัยยุทธ อังศุวิทยา ผู้ช่วยเลขาธิการวิชาชีพบัญชี เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือว่า รู้รอบทุกสาขาวิชา ทั้งๆ ที่กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพของแต่ละแห่ง ก็ออกมาต่างกรรมต่างวาระ มีอำนาจหน้าที่ไม่เหมือนกัน หลักใหญ่คือการผดุงคุณธรรม ความรู้ คุณภาพบุคลากรที่จะเข้ามาอยู่ในวิชาชีพ
“ที่ได้รับฟังมา มีหลายมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรแล้วมาของให้สภาวิชาชีพรับรองนั้น ที่หลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นเรื่องความบกพร่องความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ และจำนวนอาจารย์ผู้สอน ฉะนั้นการกลั่นกรองหลักสูตร ร่วมกันระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันการศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญ”
ผู้ช่วยเลขาธิการวิชาชีพบัญชี ยังตั้งคำถามถึงการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่ ด้วยหวั่นอนาคตคนจบการศึกษา หากที่สุดสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้ จะเสียทั้งเวลาและงบประมาณ ถึงตอนไหนจะแก้ไขอย่างไรกัน และที่สภาวิชาชีพเสนอความเห็นเพื่อก่อประโยชน์ต่อสาธารณชนและคนรุ่นหลัง ไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจแต่อย่างใด
ศ.น.สพ.ดร.จตุพร กระจายศรี กรรมการสัตวแพทยสภา ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่คนรับประทานเข้าไปนั้น หากเป็นโรค สัตว์ตาย น้อยรายจะฝังหรือทำลาย ส่วนใหญ่นำมาปรุงเป็นอาหาร ตรงนี้หากไม่ให้สัตวแพทย์ดู ใครจะดู
"สัตวแพทยสภา มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ เมื่อปี 2545 ภารกิจหลัก คือ ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ และดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีวิชาชีพสัตวแพทย์ และให้การรับรองหลักสูตร เรื่องจำนวนอาจารย์ที่เหมาะสม และรับรองสถาบัน ฉะนั้นต้นทางของการเรียนการสอน ใครจะมาดูหากสภาวิชาชีพไม่ช่วยเข้ามาดู ฉะนั้นผู้ที่ผ่านการเรียนจากสถาบันการศึกษา หากบอกว่า จบออกมา ไปสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน ไม่เป็นไร ถามว่า แล้วเด็กทำงานได้หรือไม่ นี่คือความสูญเสีย เป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัวมาก"
สุดท้ายรศ.สมชาย วิริยะยุทธกร กรรมการสภาเทคนิกการแพทย์ เห็นพ้องว่า หลายมาตราใน ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... จะกลายเป็นจุดเริ่มของหายนะในระยะยาว สภาวิชาชีพคือแหล่งรวมของผู้มีประสบการณ์ทางวิชาชีพนั้นๆ ขณะที่สกอ.ยังไม่มีอะไร ไม่มีทรัพยากรตรงนี้อยู่เลย ต้องอาศัยสภาวิชาชีพไปช่วย จึงเสนอให้ตัดมาตราที่เป็นปัญหาออกให้หมด มิเช่นนั้นกระทบ 11 วิชาชีพอย่างแน่นอน