แกะโครงสร้าง 'วินด์เอนเนอร์ยี่ฯ' ก่อนกรณีศึกชิงหุ้นหมื่นล.- ตัวละครหลักอยู่เกาะเวอร์จิน
"...คณะกรรมการบริษัทขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้บริหารจัดการและได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการทุกท่านอย่างครบถ้วนและเพียงพอเพื่อที่จะให้กรรมการแต่ละท่านได้สามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละท่านในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้บริษัทได้ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยได้มีการควบคุมและการจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสูงมาโดยตลอด ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอปฏิเสธการกล่าวอ้างใดๆ ที่ขัดต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ฯ ตามที่ได้เรียนชี้แจงมาแล้วข้างต้น..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลเอกชน 3 ราย คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และ บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายณพ ณรงค์เดช และผู้เกี่ยวข้อง ในคดีซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ภายหลังเกิด ทอล์ก ออฟ ทาวน์ กรณี ครอบครัวณรงค์เดช-กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น ออกแถลงการณ์ ประกาศไม่ขอรับผิดชอบกับการกระทำใดๆของทายาทคนกลาง นายณพ หลังเจอปัญหาถูกฟ้องร้องคดีซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โดยลากคนในตระกูลติดร่างแหไปด้วย จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ที่ระบุการดำเนินการใดๆของ นายณพที่ผ่านมา และต่อจากนี้ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด หากมีการนำชื่อสมาชิกครอบครัวณรงค์เดชไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอม (อ้างอิงข่าวจากhttps://www.thairath.co.th/content/1269669) มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว
โดยพบข้อมูลว่า ทั้ง 3 บริษัท ล้วนแล้วแต่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มี นายวอร์ทเตอร์ คาร์ล กุสตาฟ สตรีสแมน และนายโจนาธาน พอล ริชาร์ดส เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ส่วนมูลเหตุในการฟ้องร้องคดีนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 บริษัทซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ (เอสพีแอล) บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ (เอ็นจีไอ) และ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ (ดีแอลวี) ได้ขายหุ้นประมาณร้อยละ 99 ของหุ้นใน เคพีเอ็น อีที (ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4) ในราคาตามสัญญาทั้งสิ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินเป็นหลายงวด ผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวคือ ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด และ บริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี่โฮลดิ้ง จำกัด หรือ เคพีเอ็น อีเอช แต่มีปัญหาชำระค่าหุ้นไม่ครบถ้วน (อ่านประกอบ : เปิดตัว 3 บ.ฮ่องกง คู่กรณี 'ณพ ณรงค์เดช' ในคดีศึกชิงหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ หมื่นล., เปิดธุรกิจหมื่นล. 3 พี่น้องเคพีเอ็นกรุ๊ป ก่อนขับ‘ณพ’พ้นกงสี ปมหุ้น WEH ขุมข่าย 50 บริษัท)
ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ณ ปัจจุบันก่อนเกิดกรณีศึกชิงหุ้นหมื่นบาท เป็นอย่างไรบ้าง?
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 ทุนปัจจุบัน 1,088,373,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 87 อาคารเอ็ม.ไทย.ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส ชั้น 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม
ปรากฎชื่อ นายณพ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ นายอภิชาติ นารถศิลป์ นายวิชัย ทองแตง นาย อมาน ลาคานี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ เป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 11 เมษายน 2559 บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 59.4625%
หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อบริษัทเอกชน และบุคคลธรรมดา ได้แก่ บริษัท ดีดี มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) นาย กำธร กิตติอิสรานนท์ นางสาว เจนจิรา กิตติอิสรานนท์ นางสาวนันทิดา กิตติอิสรานนท์ ไทย โฟกัส อีควิตี้ฟันด์ ลิมิเต็ด(หมู่เกาะเวอร์จินอังกฤษ) บริษัท ณุศา พาวเวอร์ จำกัด นางสาวจารุวรรณ วงษ์มา นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล นายศรีสันต์ จิตรวรนันท์ นาย สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ บริษัท วินเวสต์เม้นท์ จำกัด บริษัท ชิโน เนเชอรัล ลิมิเต็ด นายสถาพร โพธิ์ทอง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายวัชระ แก้วสว่าง นางจรีพร อนันตประยูร นายสมยศ อนันตประยูร นางสาวทวี ศรีอุทัย นายศราวุธ อนรรฆธรรม นายชาย กุลวานิช นายสมพงษ์ กิตติพิพัฒน์ภูติ นายอานนท์ชัย วีระประวัติ นายสมศักดิ์ กิติพราภรณ์
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2559 แจ้งว่า มีรายได้รวม 453,555,412.00 บาท รวมรายจ่าย 335,950,582.00 บาท กำไรสุทธิ 246,327,346.00 บาท
สำหรับ บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ นั้น จดทะเบียนจัดตั้ง 18 เมษายน 2549 ทุนปัจจุบัน 132,500,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 87 อาคารเอ็ม.ไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส ชั้น 24 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า
ปรากฎชื่อ นายสันติ ปิยะทัต และ นายไพร บัวหลวง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายวรนิต ไชยหาญ รวมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 29 เมษายน 2559 บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 49.9439% ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด ถืออยู่ 49.0000% (ตั้งอยู่หมู่เกาะเวอร์จิน อังกฤษ) นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ถืออยู่ 1.0561%
สำหรับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด นั้น จดทะเบียนจัดตั้ง 19 มิถุนายน 2558 ทุนปัจจุบัน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 719 อาคารเคพีเอ็น ทาวเวอร์ ถนนพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า , กิจการเข้าลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
ปรากฎชื่อ นายณพ ณรงค์เดช, นางพอฤทัย ณรงค์เดช และ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 21 ธันวาคม 2558 นายณพ ณรงค์เดช ถือหุ้นใหญ่สุด 40% นายธันว์ เหรียญสุวรรณ 20% ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด 20% หมู่เกาะเวอร์จิน(อังกฤษ) นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ 20% (สัญชาติอังกฤษ)
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลปรากฎว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ได้กล่าวอ้างว่า เคพีเอ็นอีที ได้โอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของไปยังบุคคลที่สามตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2559 แล้ว โดยในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่จะมีการโอนหุ้น นั้น กรรมการจำนวน 5 คนของ เคพีเอ็น อีที (นายณพ ณรงค์เดช นายธันว์ เหรียญสุวรรณ นาย กฤษณ์ ณรงค์เดช นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนายอมาน ลาคานี) ได้ลาออก และได้ถูกแทนที่โดยกรรมการใหม่จำนวน 3 คนซึ่ง 2 คนมาจากข้าราชการทหารเกษียณอายุ (นายวรนิต ไชยหาญ และนายไพร บัวหลวง) และ ทนายความ (นายสันติ ปิยะทัต)
สำหรับตัวเลขความเสียหาย ที่ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี กล่าวอ้างว่าได้รับจากการผิดนัดชำระค่าหุ้น อยู่ที่ตัวเลขประมาณ 876,522,933.77 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 29,731,658,521.66 บาท
ขณะที่ล่าสุด บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2561 ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัวณรงค์เดชนั้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (“บริษัท”) ขอชี้แจงให้ทราบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคลของกรรมการบริษัทที่ถูกระบุชื่อเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการปกติของบริษัท การสนับสนุนทางด้านการเงิน รวมถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดมา
คณะกรรมการบริษัทขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้บริหารจัดการและได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการทุกท่านอย่างครบถ้วนและเพียงพอเพื่อที่จะให้กรรมการแต่ละท่านได้สามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละท่านในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้บริษัทได้ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยได้มีการควบคุมและการจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสูงมาโดยตลอด ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอปฏิเสธการกล่าวอ้างใดๆ ที่ขัดต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ฯ ตามที่ได้เรียนชี้แจงมาแล้วข้างต้น
บริษัทฯ ขอยืนยันว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญ บริษัทฯ จะได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป (อ่านประกอบ : บ.วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แถลงการณ์ประเด็นศึกชิงหุ้น เรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องบริษัท)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายณพ ณรงค์เดช เคยออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า ตามที่มีผู้ไม่ประสงค์ดี เจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์พาดพิงถึงบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด และผมนั้น ขอชี้แจงความเป็นจริงดังนี้
" Symphony ได้ฟ้อง Fullerton Bay Investment Limited (“Fullerton”) ต่ออนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อเรียกหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท Renewable Energy Corporation (“REC”) (ปัจจุบัน KPNET) คืน และ NGI, DLV ได้ฟ้อง KPN Energy Holding (“KPNEH”) เป็นอีกคดีหนึ่งเพื่อขอให้ชดใช้เงินตามสัญญาซื้อขาย ทั้งหมดนี้ บริษัทวินด์ฯ และผม ไม่ได้เป็นคู่กรณีพิพาททั้งในนามของกิจการและโดยส่วนตัว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์จึงไม่ผูกพันหรือมีผลกระทบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อกิจการหรือธุรกิจของบริษัทวินด์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น อนุญาโตตุลาการได้ออกคำชี้ขาดเบื้องต้นส่วนแรกมาแล้วว่า คดีSymphony ฟ้อง Fullerton นั้น Symphony ไม่สามารถเลิกสัญญาและเรียกหุ้นที่ขายไปแล้วคืนได้ ส่วนคดีที่ฟ้อง KPNEH อนุญาโตตุลาการก็ยกฟ้อง จึงไม่อาจกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทวินด์ได้ อย่างไรก็ตาม อนุญาโตตุลาการได้ให้ Fullerton ชำระเงินงวดแรกตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ Symphony (ไม่ใช่การคืนหุ้น) และให้ KPNEH ชำระดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งได้ทราบว่า Fullerton และ KPNEH พร้อมจะชำระอยู่แล้ว แต่ขอให้Symphony ยุติการให้ข่าวใส่ร้ายบิดเบือนหรือขัดขวางการประกอบกิจการของ Fullerton ดังที่ประพฤติปฏิบัติมาตลอดเวลาที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจนFullerton ต้องฟ้องแย้งและเรียกค่าเสียหายกลับไป ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็รับไว้พิจารณา โดยสั่งให้รวมเป็นคดีเดียวกันและจะนำไปชี้ขาดในคำวินิจฉัยส่วนที่สองที่จะมีมาในเวลาต่อไป ทั้งนี้ โดยหลักแล้ว
หาก Fullerton ชนะคดีฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายได้ ก็ย่อมสามารถนำไปหักกลบลบหนี้กับ Symphony ได้ด้วย แม้กระนั้น Fullerton ก็ยืนยันจะชำระก่อนให้เป็นที่เสร็จเด็ดขาดไป แต่เนื่องจาก Symphony ไม่ยอมรับปากว่าจะยุติการใส่ร้ายก่อกวนFullerton จึงต้องรอไปชำระภายหน้าเมื่อมีคำชี้ขาดส่วนที่สองต่อไป
ข้อเท็จจริงซึ่งตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันได้ไม่ยากคือ Fullerton และ KPNEH ก็ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทวินด์ฯ แต่อย่างใด คดีในอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์จึงไม่เกี่ยวกับบริษัทวินด์ฯ แต่ Symphony ก็พยายามจะลากให้บริษัทวินด์ฯ เข้ามาเชื่อมโยง หรือสร้างกระแส บิดเบือนข่าวให้เห็นว่าบริษัทวินด์ฯ เป็นคู่กรณีหรือได้รับผลกระทบจากการที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดส่วนแรกให้ Symphony ได้รับชำระหนี้บางส่วน โดยนำเฉพาะประเด็นนี้มาขยายข่าวว่า Symphony ชนะคดี ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งหมด ทั้งประเด็นที่ว่าSymphony จะได้รับชำระหนี้บางส่วนนี้ก็เป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ใช่การคืนหุ้นทั้งหมดตามที่เรียกร้อง และ Fullerton เองก็แจ้งว่ายินดีและเต็มใจจะชำระหนี้ส่วนนี้ในขณะนี้ แต่เพราะSymphony ไม่รับปากที่จะยุติการดำเนินการบางอย่างอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การชำระหนี้ส่วนนี้จึงต้องชะลอไปให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาร่วมกับส่วนที่สองต่อไป
ดังนั้น บริษัทวินด์ฯ โดยผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจาก Symphony และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจะดำเนินคดีอาญาด้วย
จึงขอเรียนชี้แจงต่อผู้ถือหุ้น ผู้ทำธุรกิจกับบริษัทวินด์ฯ และสื่อมวลชนทุกท่านเพื่อกรุณาทราบ และโปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงและข่าวสารให้ครบถ้วนก่อนการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จากhttps://positioningmag.com/1146102)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง คือ จุดเริ่มต้นที่ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และ บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด ที่เข้ามาถือหุ้น เคพีเอ็น อีที ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 ก่อนขายต่อ มีเส้นทางเป็นอย่างไร?