ผลิตอาชีวะ-บัณฑิตพันธุ์ใหม่ กับข้อเสนอกลไกร่วมจ่ายของภาคเอกชน
การผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ควรพิจารณาสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและออกค่าใช้จ่ายในระยะต่อไป เพื่อสร้างความร่วมมือกัน รวมทั้งขยายขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการในอนาคต
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (อาชีวะพันธุ์ใหม่ปี 2561-2565 และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ปี 2561-2569) งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบดำเนินการ 1.2 หมื่นล้าน และงบลงทุน 1.6 พันล้านบาท รวมระยะเวลา 9 ปี เพื่อตอบโจทย์ 3 ประการ คือ
1) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และ Thailand 4.0
2) แก้ปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง รวมถึงวิศวกรด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะช่างอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค
3) เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมว่าภาครัฐผลิตบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และต้องฝึกงานเพิ่มเติมจึงจะสามารถปฏิบัติงานได้จริง
โครงการนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ
- โครงการระดับอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะพันธุ์ใหม่ ที่เป็นช่างเทคนิค/นักเทคโนโลยีที่มีความชำนาญขั้นสูงตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยในการดำเนินการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนในสถานที่ทำงาน (Work Integrated Learning) อย่างเข้มข้น มีความร่วมมือกับสถานประกอบการในประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือตรงกับความต้องการ และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศในการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากล มีการติดตาม ควบคุมคุณภาพการสอนตามแนวทาง Work Integrated Learning โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นอกจากนี้ จะมีการอบรมครูของสถาบันอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนและประเมินผลนักศึกษาได้ อันจะเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนที่มีคุณภาพสูงในอาชีวศึกษา
ขณะนี้ มีสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก โดยสามารถผลิตกำลังคนได้ประมาณ 8,500 คน ภายใน 5 ปี
- โครงการระดับอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การปรับเปลี่ยน/เพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์เฉพาะของสถานประกอบการและการพัฒนาส่วนบุคคลตามอัธยาศัย โดยมีการให้ใบรับรอง (Certificate) ที่เน้นรับผู้เข้าศึกษาเป็นบุคคลที่ทำงานแล้ว การบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้หลักในศาสตร์สาขาวิชาชีพ โดยการพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป และการบูรณาการการเรียนการสอนข้ามศาสตร์สาขาวิชาชีพให้แก่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการจำนวน 20 แห่ง มีหลักสูตรทั้งสิ้น 235 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตร Non-Degree หมายถึงเป็นการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือน-1 ปี จะได้ประกาศนียบัตรจำนวน 119 หลักสูตร โดยจะนำคนที่ทำงานอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะการทำงาน ประมาณการว่าใน 3 ปีแรกจะสร้างกำลังคนได้ 51,999 คน ซึ่งรัฐบาลมอบเงินรายหัวให้ หัวละ 60,000 บาท ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม Degree หมายถึงกลุ่มที่ได้รับปริญญา จำนวน 116 หลักสูตร เมื่อจบโครงการจะทำให้เกิดบัณฑิตพันธุ์ใหม่จำนวน 56,078 คน เฉลี่ยเงินสนับสนุน 120,000-150,000 บาทต่อคนต่อปี
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลที่กระทรวงกระทรวงศึกษาธิการเสนอจำนวนคนของระบบอาชีวศึกษา "น้อยกว่า" ในระบบมหาวิทยาลัยว่า เพราะได้ตั้งมาตรฐานของอาชีวะพันธุ์ใหม่ไว้สูงมาก และหลักสูตรต้องเป็นมาตรฐานสากล
"หากเสร็จโครงการภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถผลิตกำลังคนจำนวน 115,626 คน โครงการนี้เป็นการลงทุนเรื่องความรู้ความสามารถของคนไทย ต้องดำเนินการให้ทันกับการเปิดภาคเรียนแรก ปีการศึกษา 2561 ในเดือนพฤษภาคม หรือสิงหาคม 2561 ในการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงโดยเร็วที่สุด" นพ.อุดม ระบุ
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้ให้ข้อสังเกตุเอาไว้ถึงโครงการนี้ว่า เป้าหมายผลิตกำลังคนระดับปริญญามากกว่า การผลิตกำลังคนระดับอาชีวะศึกษา อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการกำลังแรงงานในระดับอาชีวศึกษามากกว่าระดับอุดมศึกษา จึงควรพิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
" โครงการนี้มีลักษณะเป็นการต่อยอดภารกิจของสถาบันการศึกษาที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ควรมีการทบทวนการดำเนินการในปัจจุบัน หากกิจกรรมหรืองานใดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ควรมีการยกเลิกไป หรืออาจปรับแแนวทางดำเนินการแบบใหม่ โดยต้องให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด เครื่องมืออุปกรณ์หรือบุคลากรอาจารย์ที่มีอยู่ อาจไม่จำเป็นต้องจัดหาใหม่ทั้งหมด ควรจัดหาเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะทำให้ลดงบประมาณรายได้ลงได้บางส่วน รวมทั้งอาจพิจารณานำแนวคิดการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษามาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม"
ส่วนสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ดร.ประสาร เสนอว่า ควรจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน และมีการลงทุนจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อใช้ในการเรียนการสอนร่วมกัน จัดหลักสูตรให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนไปเรียนในสถาบันที่มีเครื่องมืออปุกรณ์นั้นๆ
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นถึงโครงการนี้ที่จะเริ่มภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ดังนี้
1.โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ฯ ควรพิจารณาจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการที่ชัดเจน อาทิ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาในแต่ละสาขา ผลการเรียน ทัศนคติ เป้าหมายในชีวิต บุคลิกภาพและอุปนิสัย และจัดทำแผนรองรับการทำงานของผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจและจูงใจผู้มีศักยภาพสูงเข้าร่วมโครงการ พร้อมเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจของสังคมให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนในสายอาชีวศึกษาที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว
2.โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ควรจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานรายกิจกรรม ตั้งแต่ก่อนรับสมัคร นักศึกษาจนถึงจบหลักสูตร ทั้งส่วนของการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง การกำหนดค่าใช้จ่ายของการเรียนการสอนในแต่ละรูปแบบและลักษณะอุตสาหกรรม การจัดหาอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน การทำข้อตกลงกับสถานประกอบการ การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ การติดตามประเมินผล เพื่อให้โครงการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ รวมถึงพิจารณาการออกแบบกลไกร่วมจ่ายของภาคเอกชนและตัวแรงงาน เป็นต้น
ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะเห็นชอบกับโครงการดังกล่าว แต่ก็มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้วยว่า ควรพิจารณาสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและออกค่าใช้จ่ายในโครงการระยะต่อไป เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งขยายขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการในอนาคต
สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ควรให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปี 2561 รวมถึงพิจารณาการนำเงินนอกงบประมาณของหน่วยงาน และ/หรือรายได้จากภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาสมทบในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้จัดทำรายละเอียดพร้อมแผนการปฏิบัติงงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และมีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับลดงบประมาณในแผน/โครงการ ที่ได้ดำเนินการอยู่เดิมมาใช้ในการดำเนิโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนปฏิรูปอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เป็นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ทั้งการปรับการเรียนการสอน ปรับหลักสูตรให้ไปร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เด็กที่จบมาตอบโจทย์ความต้องการ ทำงานได้จริงนั้น คงต้องลุ้นและเอาใจช่วยการขับเคลื่อนต่อจากนี้จะมีความเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด