บอร์ด สวทน. หารือแนวทางใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดันประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ครั้งที่ 3/2561 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน.
โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุม
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การประชุมคณะผู้บริหาร สวทน. ครั้งนี้ ได้มีการหารือในหลายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบการวิจัยและพัฒนาที่เหมาะสมกับประเทศ และการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 อีกทั้งยังเป็นการหารือเกี่ยวกับโครงการที่ขานรับนโยบายใหม่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการทำให้กระทรวงวิทย์ฯ ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนภาคสังคม อย่างประชาชน ชุมชน ภาคการศึกษา รวมถึงภาคเศรษฐกิจ อย่างอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เป็นต้น
“สวทน. ได้รายงานที่ประชุมถึงความก้าวหน้าและแผนดำเนินงานที่เน้นการสร้างระบบการวิจัยและพัฒนาที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งในส่วนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจนวัตกรรมได้โดยง่าย (Ease of Doing Innovation Business) และการจัดทำนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. (STI Policy) ซึ่งในเรื่องของการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจนวัตกรรมได้โดยง่าย นั้น สวทน. ได้นำเสนอประเด็นการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (Thai Bayh-Dole Act) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในด้านเกิดการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูง เกิดรายได้จากธุรกิจนวัตกรรม และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อรัฐบาลในการเป็นประเทศ Knowledge Based Economy และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยี เป็นต้น โดยในการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการสื่อสาร และการสร้างความเข้าใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจในหลักการ สาระสำคัญ และประโยชน์ของกฎหมายเป็นหลัก โดยได้สั่งการให้ สวทน. จัดทำเนื้อหาในการสื่อสาร พ.ร.บ. ดังกล่าวให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และได้มอบหมายให้นำแนวทางการดำเนินงานผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายใหม่ของท่านรัฐมนตรี ในด้านกระทรวงวิทย์ฯ ใกล้ชิดผู้ประกอบการ สวทน. ได้ดำเนินโครงการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 5,000 ราย ซึ่ง สวทน. ได้รวบรวมและจำแนกสัดส่วนของผู้ประกอบการตามขนาด และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนได้นำเสนอมาตรการและแรงจูงใจผู้ประกอบการ SME ให้ไปสู่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมแลกเปลี่ยนกับที่ประชุม และเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อประเทศได้อย่างแท้จริง สวทน. จะจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการจำแนกผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 5,000 รายดังกล่าว ตามรายอุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของแต่ละ S-Curve เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนและขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับการจัดทำนโยบายด้าน วทน. (STI Policy) โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคต หรือ Technology Foresight ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีแนวทางในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ สวทน. อยู่ระหว่างการจัดทำประเด็นที่จะนำเสนอในสมุดปกขาว โดยใช้กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบในการศึกษา ซึ่งการจัดทำสมุดปกขาวดังกล่าวจะช่วยส่งผลให้ประเทศไทยมีนโยบายด้านเทคโนโลยีเป้าหมายที่ชัดเจน (Policy Direction) ตลอดจนส่งผลให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย