จ่อคุมที่ผลิตป้องสวมเลขอย.-ใช้พรบ.คอมพ์ฟันรีวิวโซเชียลฯ
สธ.ปิดห้องเงียบ คอนเฟอร์เร้นส์ สั่ง สสจ. เข้มตรวจคุณภาพสินค้าสุขภาพ เผย มิ.ย.ออกกฎกระทรวงคุมสถานที่ผลิต ป้องกันการสวมเลข อย.ถกดีอีใช้พรบ.คอมพ์ฟันโฆษณาทางโซเชียลฯ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นส์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อกำชับเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟังการหารือดังกล่าวโดยระบุว่าในการประชุมดังกล่าวจะมีการสะท้อนสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อาจจะมีการพาดพิงถึงผลิตภัณฑ์ และสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเต็มที่จึงของดให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ นพ.วันชัย กล่าวว่า การประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ในวันนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภูมิภาค ในการสะท้อนว่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางทันหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียน 1-2 หมื่นราย พื้นที่ที่เป็นห่วง ณ ปัจจุบัน คือปริมณฑล อย่างนครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตหลายแห่ง และมีจำนวนมาก จึงต้องให้ตรวจตราละเอียด ทั้งนี้ ภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะมีกฎกระทรวงกำหนดให้สถานที่ผลิตเครื่องสำอางต่อไปต้องแสดงสถานที่ผลิต และผ่านการตรวจสอบจากอย. ซึ่งจะเป็นช่องทางการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น จากเดิม ที่จะไม่ต้องระบุสถานที่ผลิต จากนั้นในกระบวนการ ทางอย. จะลงบันทึกสถานที่ ควบคู่กับเลขอย. ที่ขออนุญาตไว้เพื่อใช้ในการตรวจสอบ หากพบไม่ตรงหรือพบการกระทำสามมารถสืบหาต้นทางของกระบวนการได้ทันที
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่จะซ้ำรอยสวมทะเบียนโรงงานอีก นพ.วันชัย กล่าวว่า ขั้นตอนจดแจ้ง ต้องระบุสถานที่ผลิต หากมีการสวมจริง ก็จะทราบ เพราะเราจะมีจนท.ตรวจสอบซ้ำอยู่แล้ว สำหรับในส่วนของโฆษณาทางโซเชียลมีเดียนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สามารถจัดการผู้กระทำความผิดได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขจะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการผู้กระทำความผิดที่โฆษณาบนโซเชียลฯ ด้วย ว่าจะสามารถนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิจารณาความผิดได้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การจัดการกับโฆษณาทางโซเชียลฯ ค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.มีฐานโฆษณาในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ และ 2. กลุ่มโฆษณาที่มีฐานดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่งอาจจัดการได้ยากซึ่งมีข้อมูลอยู่.
ที่มาข่าว:https://www.dailynews.co.th/politics/641510