กสร. เผย ลูกจ้างอายุ 60 ปี ขอเกษียณอายุได้-มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างอายุ 60 ปี มีสิทธิขอเกษียณอายุได้และได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน หากนายจ้างฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย
วันนี้(3 พ.ค.61)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. เปิดเผยว่า กสร. ได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างและลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน สำหรับกำหนดการเกษียณอายุขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะกำหนด หรือตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้เกษียณอายุเมื่อไร
กรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดไว้เกิน 60 ปี กฎหมายให้ลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาต่อนายจ้างว่าจะเกษียณอายุ และเมื่อแจ้งต่อนายจ้างแล้วก็จะมีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันที่แจ้ง ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างที่ขอเกษียณอายุด้วย โดยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน, ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่หากไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน, ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน, ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีความผิด โดยมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง นายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3
ที่มาข่าว:https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/80662