ครั้งแรกในเอเชีย! ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะในผู้ป่วยรายเดียว
รพ.ศิริราช 2 พ.ค.-ศิริราชแถลงความสำเร็จ ปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ-ตับ-ไต ในผู้ป่วยรายเดียว ครั้งแรกในเอเชีย ผู้ป่วยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จนกลับบ้านได้ 83วัน
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ-ตับ-ไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว...ครั้งแรกในเอเชีย” พร้อมด้วย นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ,นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับและหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ,นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจ ,นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต และพญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและปลูกถ่ายหัวใจ ร่วมด้วยนายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และนางโสภา รุ่งสว่าง มารดา
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะตั้งแต่ พ.ศ.2516 ปัจจุบันได้ดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 1,298 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 321 ราย และผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 67 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. 2561) ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในประเทศไทย การปลูกถ่ายอวัยวะนั้นถือเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีชีวิตยืนยาวขึ้น ส่วนใหญ่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ มักทำเพียง 1 อวัยวะ ให้แก่ผู้รับบริจาค1 ราย อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายมีจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะ อาทิ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะตับวาย อาจมีภาวะไตวายร่วมด้วย เป็นต้น การผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะสำหรับผู้ป่วยรายนั้นจึงจำเป็นในการที่จะช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้
สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะให้แก่ผู้ป่วยรายเดียวกันนั้น มีการทำมานานแล้วในต่างประเทศแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก เกือบทั้งหมดเป็นการผ่าตัดปลูกถ่าย 2 อวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายหัวใจร่วมกับตับ หัวใจร่วมกับไต ตับร่วมกับไต และไตร่วมกับตับอ่อน เป็นต้น
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า1 อวัยวะให้แก่ผู้ป่วยรายเดียว โดยเริ่มครั้งแรกในพ.ศ.2548 เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ-ไต ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบันได้ทำการปลูกถ่าย ไต-ตับอ่อน 10 ราย ตับ-ไต 8 ราย หัวใจ-ปอด 5 ราย และหัวใจ-ไต 2 ราย ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
ด้านพญ.ศรีสกุล กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้อายุ 26 ปี เป็นบุตรคนแรกจาก2 คน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากความเจ็บป่วย ผู้ป่วยเริ่มเป็นโรคไตตั้งแต่อายุ 8 ขวบในระยะแรกสามารถรักษาด้วยยาและควบคุมอาการได้ ต่อมาการทำงานของไตแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายในช่วงระดับอุดมศึกษาและได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาตลอด ระยะหลังผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่ายแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย และแน่นท้อง ท้องโต จากการมีน้ำคั่งในช่องท้อง ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังฟอกเลือดและการรักษาด้วยยา จำเป็นต้องได้รับการเจาะระบายน้ำในช่องท้องเป็นระยะๆ ต่อมาตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และภาวะตับแข็งจากภาวะหัวใจล้มเหลว จึงได้รับการส่งตัวมารักษาต่อที่คลินิกหัวใจล้มเหลว รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 เพื่อพิจารณาการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจ-ตับ-ไต โดยผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดตามมาตรฐานจากทีมแพทย์สหสาขา ผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อพิจารณาความพร้อมและข้อห้ามในการผ่าตัด จากนั้นทีมแพทย์ได้ประชุมวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาอย่างละเอียดก่อนลงมือปลูกถ่ายอวัยวะ
ขณะที่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ ตับ และไตจากผู้บริจาครายเดียวเมื่อวันที่3ธ.ค.2560 การผ่าตัดดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือ การประสานงานและความพร้อมของทีมผู้รักษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในขณะผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัด เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงต้องมีการวางแผนขั้นตอนการผ่าตัดล่วงหน้าอย่างรอบคอบ และการประสานงานระหว่างทีมที่ดี การผ่าตัดใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมง 5 นาที โดยเริ่มจากการปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไตเป็นอวัยวะสุดท้าย โดยในระหว่างผ่าตัด ความดันโลหิตและสภาพร่างกายทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทีมวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อในหอผู้ป่วยวิกฤติ เพื่อพักฟื้น พบว่าหลังผ่าตัดวันแรก อวัยวะที่ปลูกถ่ายเริ่มทำงานได้ในระดับที่ดี ไม่พบการต่อต้านของหัวใจใหม่จากการตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ตับ พบว่าตับมีเลือดมาเลี้ยงได้ดี ตับเริ่มมีการทำงานและขจัดของเสียของร่างกายได้ดี จากผลเลือดที่ตรวจเป็นระยะ ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตามในระยะแรกพบว่าไตใหม่ที่ปลูกถ่าย ยังทำงานได้ไม่ดีนัก แต่ในที่สุดก็เริ่มทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆปัสสาวะออกได้เป็นปกติ และผลการตรวจเลือด ค่าการทำงานของไตเป็นปกติ ผู้ป่วยได้รับการรักษาใน รพ.ศิริราช ตั้งแต่วันที่ 3ธ.ค.2560 จนถึงวันที่ 23 ก.พ.2561 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 83 วัน พบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านโดยปลอดภัย และอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายทั้งหมด มีการทำงานเป็นปกติดี
สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะ (หัวใจ-ตับ-ไต) ให้แก่ผู้ป่วยรายเดียว มีรายงานการผ่าตัดจากทั่วโลกน้อยมาก พบว่าตั้งแต่ปี 2532มีรายงานจำนวนการผ่าตัดเพียง 14 รายเท่านั้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับในทวีปเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ-ตับ-ไต มาก่อน ดังนั้นการผ่าตัดครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย
ส่วน นพ.วิศิษฎ์ กล่าวถึงความสำเร็จในการปลูกถ่าย หัวใจ-ตับ-ไต ในผู้ป่วยรายเดียวกันเป็นรายแรกของเอเชีย ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้ เกิดจากการทำงานร่วมมือกันเป็นทีมอย่างชัดเจน ตั้งแต่ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชา พยาบาลทุกหน่วยงาน เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวสรุปว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ รพ.ศิริราช ในการก้าวสู่ความเป็นเลิศ เทียบเท่าระดับนานาชาติ ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะยังคงพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับเป็น “โรงพยาบาลของแผ่นดิน”และที่สำคัญความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดซึ่งผู้บริจาคอวัยวะที่ร่วมทำบุญช่วยต่อชีวิตของผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากในประเทศไทย รวมถึงผู้บริจาคเงินเข้ากองทุนของโรงพยาบาลศิริราชทุกท่าน ที่ช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยสามารถติดต่อบริจาคได้ทุกวันที่ ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทร. 0 2419 7658-60.-สำนักข่าวไทย
ที่มา : http://www.tnamcot.com/view/5ae93d43e3f8e40acfc45e41