พม.โกงเงินคนจน!ไล่ออก"ผอ.ศูนย์ฯขอนแก่น-หน.ฝ่ายสวัสดิการสังคม"
พม.โกงเงินคนจน!ไล่ออก"ผอ.ศูนย์ฯขอนแก่น-หน.ฝ่ายสวัสดิการสังคม" ผอ.ศูนย์ไร้ที่พึ่งสมุทรปราการหอบหลักฐานจี้"บิ๊กตู่"ฟันอดีตปลัดพม.
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2561 นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวถึงความคืบหน้าในการทุจริตการจ่างเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ณ ห้องประชุมชั้น 6 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่า มีการดำเนินการทางวินัยกรณีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด 2 แห่ง คือ 1.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงได้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 เมษายน และเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาโทษไล่ออกจากราชการกับผู้อำนวยการศูนย์และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม รวม 2 คน และ 2. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้เริ่มกระบวนการสอบสวนแล้ว คาดว่าจะสรุปรายงานสอบสวนเสนอพิจารณาโทษได้ภายในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ป.ป.ท. ได้ส่งข้อมูลบุคคลซึ่งถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ พส. 2 ครั้ง จำนวน 35 แห่ง มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 156 คน โดยในจำนวนผู้ถูกกล่าวหา 156 คน
มีบุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย จำนวน 20 คน ส่วนบุคคลที่เหลือ จำนวน 136 คน จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ได้ย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานในปีงบประมาณ 2560 ออกจากพื้นที่ตามข้อมูลที่ ป.ป.ท. จัดส่งให้ครั้งที่ 1 จำนวน 19 คน และสั่งตรวจสอบข้อมูลที่ ป.ป.ท. จัดส่งให้เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสั่งย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานในปีงบประมาณ 2560 ออกจากพื้นที่เพิ่มเติม
ผอ.ศูนย์ไร้ที่พึ่งสมุทรปราการหอบหลักฐานจี้"บิ๊กตู่"ฟันอดีตปลัดพม.
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งก.พ.) นางฐณิฎฐา จันทนฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง
นางฐณิฎฐา กล่าวว่า ประเด็นที่ตนมายื่นหนังสือ เนื่องจากลักษณะการกระทำผิดของอดีตปลัด พม.ไม่ใช่เชิงข้าราชการทุจริตแบบทั่วไป แต่เป็นรูปแบบกระบวนการแก๊งมิจฉาชีพ เช่น กรณีหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่มีประชาชนอยู่เพียง 2,500 คน แต่มีการโอนเงินไปหลาย 10 ล้านบาท และเมื่อมีการโอนเงินไป และมีการเบิกจ่ายเงินแล้ว จากนั้นข้าราชการลาออกทันที ตรงนี้ตนรู้สึกว่าเป็นคดีอาญา เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ มีการโอนเงินไปให้กลุ่มเครือญาติซึ่งเป็นผู้อำนวยการใช่หรือไม่ โดยในศูนย์ดังกล่าวมีประชากรประมาณ 3 แสนคน แต่เบิกจ่ายเงิน 60 กว่าล้านบาท
นางฐณิฎฐา กล่าวอีกว่า หลักฐานที่ตนนำมายื่นจะมีการสรุปข้อมูลงบประมาณที่มีการโอนลงไปในแต่ละพื้นที่ และเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ต้องได้รับบริการ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)นั้นเริ่มจากปลายทาง จึงอยากให้เริ่มจากต้นทาง เพราะการกระทำลักษณะนี้เป็นลักษณะอาชญากรมีการยักยอกเงินแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ จ.สมุทรปราการที่ถูกป.ป.ท.ตรวจสอบอยู่นั้น ที่จ.สมุทรปราการมีประชาชน 1.2 ล้านคน ต้องได้งบประมาณเฉลี่ย 7-8 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 7 แสนบาท รวมถึงมีบางประเด็นที่พบว่าผู้ใหญ่บ้านบางคนรับเงินนั้น เนื่องจากมีการแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่เมื่อไปตรวจสอบแล้ว พบว่าบ้านมีฐานะ แต่ได้มีการจ่ายเงินให้คนพิการในพื้นที่จริง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นการบกพร่องทางเอกสาร ยืนยันว่าตนไม่อยากแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ท. และการตรวจสอบต่างๆได้รายงานผู้ว่าฯจ.สมุทรปราการแล้วว่าเป็นอย่างไร ยินดีให้ ป.ป.ท.เข้ามาตรวจสอบ
“มีกระบวนการไปกล่าวว่าเขาโกงกันทั้งประเทศ ทำไมจึงไม่โกง เป็นกระบวนการที่เราฟังแล้วเราไม่อยากจะเปิดเผย คิดว่าการแก้ปัญหาต่างๆต้องระเบิดจากข้างใน ที่ดิฉันกล้าออกมาพูดในวันนี้ เพื่อเรียกร้องว่าข้าราชการของดิฉันมีหลายคนที่ดี และปฏิเสธการทำงานแบบนี้ และยอมรับว่าคนที่ปฏิเสธจะได้งบประมาณที่น้อยผิดปกติจนไม่สามารถทำงานได้ ถ้าสิ่งที่ดิฉันพูดเป็นเท็จขอให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงบ้าง” นางฐณิฎฐา กล่าว