เปิดตัว 3 บ.ฮ่องกง คู่กรณี 'ณพ ณรงค์เดช' ในคดีศึกชิงหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ หมื่นล.
"...สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นเอกชน 3 ราย คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และ บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด ทั้ง 3 บริษัท ล้วนแล้วแต่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มี นายวอร์ทเตอร์ คาร์ล กุสตาฟ สตรีสแมน และนายโจนาธาน พอล ริชาร์ดส เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลทางธุรกิจ นายณพ ณรงค์เดช และครอบครัว หลังเกิด ทอล์ก ออฟ ทาวน์ กรณี ครอบครัวณรงค์เดช-กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น ออกแถลงการณ์ ประกาศไม่ขอรับผิดชอบกับการกระทำใดๆของทายาทคนกลาง นายณพ หลังเจอปัญหาถูกฟ้องร้องคดีซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โดยลากคนในตระกูลติดร่างแหไปด้วย จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ที่ระบุการดำเนินการใดๆของ นายณพที่ผ่านมา และต่อจากนี้ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด หากมีการนำชื่อสมาชิกครอบครัวณรงค์เดชไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอม (อ้างอิงข่าวจากhttps://www.thairath.co.th/content/1269669) มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว ( อ่านประกอบ : เปิดธุรกิจหมื่นล. 3 พี่น้องเคพีเอ็นกรุ๊ป ก่อนขับ‘ณพ’พ้นกงสี ปมหุ้น WEH ขุมข่าย 50 บริษัท)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการฟ้องร้องคดีซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) นั้น สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบว่า โจทก์ที่ยื่นฟ้องคดี นายณพ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นใครมาจากไหน?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นเอกชน 3 ราย คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และ บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด
ทั้ง 3 บริษัท ล้วนแล้วแต่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มี นายวอร์ทเตอร์ คาร์ล กุสตาฟ สตรีสแมน และนายโจนาธาน พอล ริชาร์ดส เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด แจ้งที่อยู่เลขที่ 1901 ชั้น 19 อาคารการ์เด้นวัน 33 ไฟซันอเวนิว คอสเวย์เบย์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
บริษัท บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด แจ้งที่อยู่ชั้น 55 อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า 18 ถนนฮาร์เบอร์ วันไช เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด แจ้งที่อยู่ชั้น 55 อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า 18 ถนนฮาร์เบอร์ วันไช เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ส่วนมูลเหตุในการฟ้องร้องคดีนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 บริษัทซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ (เอสพีแอล) บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ (เอ็นจีไอ) และ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ (ดีแอลวี) ได้ขายหุ้นประมาณร้อยละ 99 ของหุ้นใน เคพีเอ็น อีที (ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4) ในราคาตามสัญญาทั้งสิ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินเป็นหลายงวด ผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวคือ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช
โดยเบื้องต้น ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ได้ชำระค่าหุ้นงวดแรกเป็นเงินเพียงประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดเงินงวดแรกที่ต้องชำระตามสัญญาจำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากเงินยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังมีเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 525 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะต้องชำระเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้รับอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเมื่อมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ข้อกำหนดในเรื่องนี้ระบุไว้ในสัญญาขายหุ้นสองฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบถ้วน
เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี จึงได้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี ให้พิจารณาเรื่องนี้ โดยเอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี ได้เรียกร้องให้มีคำชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(1) ให้ยกเลิกการขายหุ้นระหว่างเอสพีแอลกับฟูลเลอร์ตัน หรือ (2) ให้มีการชำระเงินที่ต้องชำระเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย
โดยในช่วงเดือนกันยายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้สั่งให้เคพีเอ็น อีเอชและฟูลเลอร์ตันชำระเงินจำนวนประมาณ 113 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือของราคาตามสัญญาและดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าว และได้สั่งมีคำสั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของ จนกว่าจะได้มีการชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วน
ต่อมา เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ได้มีคำขอเป็นหนังสือให้ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็นอีเอชชำระเงินตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธที่จะชำระเงินตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
นอกจากนี้ หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้มีคำสั่งในเดือนกันยายน 2560 ห้ามโอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่แล้ว ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ได้ถูกสั่งหลายครั้งให้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเคพีเอ็น อีทียังเป็นเจ้าของหุ้นของ วินด์ เอนเนอร์ยี่อยู่หรือไม่
จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2560 ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ได้เปิดเผยข้อมูลว่า เคพีเอ็นอีทีได้โอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของไปยังบุคคลที่สามตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2559 ซึ่งฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อผู้รับโอน
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้
- ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช มีเงินทุนชำระแล้วในจำนวนที่จำกัดมาก (50,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับทุนเรือนหุ้นของฟูลเลอร์ตัน และ 2.5 ล้านบาทของเคพีเอ็น อีเอช)
- ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช ไม่มีทรัพย์สินสำคัญอื่นใดนอกจากหุ้น เคพีเอ็น อีที ในส่วนของของเคพีเอ็น อีทีนั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินรายการเดียวของตนซึ่งได้แก่หุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 อีกต่อไป ดังนั้นทั้งสามบริษัทได้แก่ ฟูลเลอร์ตัน เคพีเอ็น อีเอช และเคพีเอ็น อีทีจึงเป็นบริษัทที่ไม่มีมูลค่า แต่ขณะเดียวกัน ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช เป็นจำเลยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี เกี่ยวกับยอดเงินส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ชำระตามสัญญา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (และดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าว)
ทำให้ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีได้เริ่มต้นดำเนินคดีอาญาใน ศาลแขวงพระนครใต้ คดีหมายเลขดำเลขที่ อ.157/2561 โดยการไต่สวนมูลฟ้องจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสื่อและสาธารณชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด และ ณพ ณรงค์เดช เคยออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้
บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ชี้แจงว่า ตามที่ได้มีบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีปล่อยข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริงดังที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ให้เป็นที่เสียหายต่อ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด(“บริษัทวินด์”) บริษัทวินด์ขอชี้แจงความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกท่านดังนี้
เรื่องข้อพิพาทในคดีอนุญาโตตุลาการนั้น บริษัทวินด์ไม่ใช่คู่ความ และไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด เนื่องจากข้อพิพาทเป็นคดีระหว่าง บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และ บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ จำกัด กับ ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช แต่บริษัทวินด์ไม่ใช่คู่พิพาทในคดีแต่อย่างใด ดังนั้น คำสั่งหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมไม่มีผลผูกพันกับบริษัทวินด์ และไม่มีผลเกี่ยวกับการประกอบการของบริษัทวินด์ แต่อย่างใดด้วย
นอกจากนี้ กรณีคดีอนุญาโต ฯ เป็นข้อพิพาทที่ทำกันในต่างประเทศ คำสั่งหรือคำชี้ขาดหรือคำสั่งของอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีผลหรือสภาพบังคับต่อบริษัทวินด์ที่เป็นบริษัทไทยและไม่ใช่คู่ความในคดีได้เลย
ประการสำคัญข้อมูลตามข่าวยังคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอย่างยิ่ง คือ ทั้งฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของ บริษัทวินด์ แต่อย่างใด
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าผลคดีอนุญาโต ฯ จะออกมาอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบใดต่อบริษัทวินด์ หรือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทวินด์เลย จึงขอให้ผู้ถือหุ้น หรือผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทวินด์ ได้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง และ ไม่มีอะไรที่ต้องวิตกจากข่าวที่ปล่อยออกมาดังกล่าว อีกทั้ง กรณีที่เกิดขึ้น ไม่อาจเป็นความผิดอาญาในฐานใดดังที่กล่าวอ้างในข่าวได้เลย
ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทวินด์ จึงขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าการที่มีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามปล่อยข่าวว่า บริษัทวินด์ จะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เพราะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นความจริง หากมีการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นความจริงออกไป ย่อมเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ทั้งในทางแพ่ง และทางอาญา ทำให้บริษัทวินด์เสียหาย บริษัทวินด์ จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด
ส่วนนายณพ ณรงค์เดช ชี้แจงว่า ตามที่มีผู้ไม่ประสงค์ดี เจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์พาดพิงถึงบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด และผมนั้น ขอชี้แจงความเป็นจริงดังนี้
" Symphony ได้ฟ้อง Fullerton Bay Investment Limited (“Fullerton”) ต่ออนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อเรียกหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท Renewable Energy Corporation (“REC”) (ปัจจุบัน KPNET) คืน และ NGI, DLV ได้ฟ้อง KPN Energy Holding (“KPNEH”) เป็นอีกคดีหนึ่งเพื่อขอให้ชดใช้เงินตามสัญญาซื้อขาย ทั้งหมดนี้ บริษัทวินด์ฯ และผม ไม่ได้เป็นคู่กรณีพิพาททั้งในนามของกิจการและโดยส่วนตัว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์จึงไม่ผูกพันหรือมีผลกระทบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อกิจการหรือธุรกิจของบริษัทวินด์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น อนุญาโตตุลาการได้ออกคำชี้ขาดเบื้องต้นส่วนแรกมาแล้วว่า คดีSymphony ฟ้อง Fullerton นั้น Symphony ไม่สามารถเลิกสัญญาและเรียกหุ้นที่ขายไปแล้วคืนได้ ส่วนคดีที่ฟ้อง KPNEH อนุญาโตตุลาการก็ยกฟ้อง จึงไม่อาจกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทวินด์ได้ อย่างไรก็ตาม อนุญาโตตุลาการได้ให้ Fullerton ชำระเงินงวดแรกตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ Symphony (ไม่ใช่การคืนหุ้น) และให้ KPNEH ชำระดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งได้ทราบว่า Fullerton และ KPNEH พร้อมจะชำระอยู่แล้ว แต่ขอให้Symphony ยุติการให้ข่าวใส่ร้ายบิดเบือนหรือขัดขวางการประกอบกิจการของ Fullerton ดังที่ประพฤติปฏิบัติมาตลอดเวลาที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจนFullerton ต้องฟ้องแย้งและเรียกค่าเสียหายกลับไป ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็รับไว้พิจารณา โดยสั่งให้รวมเป็นคดีเดียวกันและจะนำไปชี้ขาดในคำวินิจฉัยส่วนที่สองที่จะมีมาในเวลาต่อไป ทั้งนี้ โดยหลักแล้ว
หาก Fullerton ชนะคดีฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายได้ ก็ย่อมสามารถนำไปหักกลบลบหนี้กับ Symphony ได้ด้วย แม้กระนั้น Fullerton ก็ยืนยันจะชำระก่อนให้เป็นที่เสร็จเด็ดขาดไป แต่เนื่องจาก Symphony ไม่ยอมรับปากว่าจะยุติการใส่ร้ายก่อกวนFullerton จึงต้องรอไปชำระภายหน้าเมื่อมีคำชี้ขาดส่วนที่สองต่อไป
ข้อเท็จจริงซึ่งตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันได้ไม่ยากคือ Fullerton และ KPNEH ก็ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทวินด์ฯ แต่อย่างใด คดีในอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์จึงไม่เกี่ยวกับบริษัทวินด์ฯ แต่ Symphony ก็พยายามจะลากให้บริษัทวินด์ฯ เข้ามาเชื่อมโยง หรือสร้างกระแส บิดเบือนข่าวให้เห็นว่าบริษัทวินด์ฯ เป็นคู่กรณีหรือได้รับผลกระทบจากการที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดส่วนแรกให้ Symphony ได้รับชำระหนี้บางส่วน โดยนำเฉพาะประเด็นนี้มาขยายข่าวว่า Symphony ชนะคดี ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งหมด ทั้งประเด็นที่ว่าSymphony จะได้รับชำระหนี้บางส่วนนี้ก็เป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ใช่การคืนหุ้นทั้งหมดตามที่เรียกร้อง และ Fullerton เองก็แจ้งว่ายินดีและเต็มใจจะชำระหนี้ส่วนนี้ในขณะนี้ แต่เพราะSymphony ไม่รับปากที่จะยุติการดำเนินการบางอย่างอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การชำระหนี้ส่วนนี้จึงต้องชะลอไปให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาร่วมกับส่วนที่สองต่อไป
ดังนั้น บริษัทวินด์ฯ โดยผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจาก Symphony และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจะดำเนินคดีอาญาด้วย
จึงขอเรียนชี้แจงต่อผู้ถือหุ้น ผู้ทำธุรกิจกับบริษัทวินด์ฯ และสื่อมวลชนทุกท่านเพื่อกรุณาทราบ และโปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงและข่าวสารให้ครบถ้วนก่อนการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จากhttps://positioningmag.com/1146102)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับ 3 บริษัทเอกชนต่างชาติ คู่กรณี นายณพ ณรงค์เดช กับผู้เกี่ยวข้องในคดีศึกชิงหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ มูลค่านับหมื่นล้าน ขณะนี้
ส่วนผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด