‘รักแรงงานทุกคน’ นายกฯรับข้อเสนอ มุ่งแก้อย่างจริงจัง
17 องค์กร แสดงพลัง “วันแรงงานแห่งชาติ” เคลื่อนฝ่าสายฝนไปลานคนเมือง ทวงถาม “นายกฯ” 10 ข้อเรียกร้องเดิม “คอรส.-สรส.”แยกบุกทำเนียบฯทวง10ข้อ ’นายกฯ’ยืนยันรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง พร้อมรับข้อเสนอไปแก้ให้ได้มากที่สุด ปากหวานบอก‘รักแรงงานทุกคน’เข้าใจความเดือดร้อน ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561บรรยากาศ บริเวณลานคนเมือง ที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชันก้าวทันเทคโนโลยี”เป็นไปอย่างคึกคัก แม้ช่วงเช้าได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการร่วมกันแสดงพลังโดยเวลา08.00น.ที่ราชตฤณมัยสมาคม(สนามม้านาเลิ้ง)กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและกลุ่มแรงงานนอกระบบ รวม17องค์กร นำโดย นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยได้รวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ
แรงงานรวมพลังกลางสายฝน
เวลา09.00น.ทั้ง17องค์กรได้เคลื่อนขบวนจากสนามม้านางเลิ้ง ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล เคลื่อนไปบน ถนนราชดำเนินนอก ก่อนเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางเพื่อรวมพลังร่วมกันทำกิจกรรมที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.)เพื่อทวง10ข้อเรียกร้องกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งตลอดเส้นทางการเคลื่อนริ้วขบวนได้เกิดฝนตกโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่องแต่กลุ่มฯก็ยังเคลื่อนขบวนต่อไป ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าตำรวจสันติบาลและตำรวจควบคุมฝูงชน ตลอดเส้นทาง ขณะที่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลได้มีการนำแผงรั้วเหล็กมากั้น และห้ามขึ้นมาบนฟุตบาต
ตอกย้ำทวง10ข้อเรียกร้องเดิม
สำหรับ 10 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ในกรณีที่ลูกจ้างอายุครบ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นานจ้างอนุญาต และให้ลาออกโดยได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุทุกประการ 2.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยมีอัตราเริ่มต้นที่500บาท 3.ผู้ประกันตนเมื่อพ้นสภาพการเป็นมาตรา33และรับบำนาญให้มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา39ได้โดยไม่ตัดสิทธิ์การรับบำนาญ 4.ในกรณีที่ลูกจ้างพ้นจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33ให้สปส.ใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญ 5.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นภารบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นและกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดากรเป็นลูกจ้าง
6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายที่สนับสนุนการสร้างระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ให้กลายเป็นองค์กรมหาชนหรืออื่นๆที่เป็นการแบ่งผลกำไรจากรัฐไปให้เอกชน7.ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรได้ 8.ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่87,98 9.ขอให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541มาตรา11/1ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา ในกรณีที่นานจ้างไม่ปฎิบัติตาม 10.ให้รัฐบาลดำเนินการสั่งให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา74อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างและรัฐบาลต้องร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะในระบบแรงงานสัมพันธ์
รวมพลบุกทำเนียบฯทวง10ข้อ
เวลา10.00น.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท.พร้อมมวลชนประมาณ1,000คน หลังนัดรวมพลตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเดินทางมาเพื่อทวงถาม10ข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นเสนอเมื่อปี2560ที่ไม่ได้รับการตอบรับ กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ระหว่างการจัดกิจกรรมได้มีการปราศรัยถึงเรียกร้องเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มโดยเฉพาะประเด็นการถูกละเมิดสิทธิต่างๆเช่นถูกปลดออก ถูกเลิกจ้างไม่ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขึ้นค่าจ้างแรงงานรายวันขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ รวมทั้งรายได้สามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้สามคน ปฏิรูปประกันสังคม การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง แก้ไข พ.รบ.แรงงานสัมพันธ์ และเรียกร้องให้ไทยลงสัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ฉบับที่87ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิการรวมตัวกันและอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
หลังจากนั้น นายสาวิทย์ได้ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันกรรมการสากล เสร็จสิ้นจึงแยกย้ายเดินทางกลับอย่างสงบซึ่งได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
นายกฯรับข้อเสนอ-ยันมุ่งแก้จริงจัง
ต่อมา เวลา14.00น.ที่ลานคนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี2561โดย นายพนัส ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อเดิม ให้นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯได้กล่าวกับผู้ใช้แรงงานว่า รู้สึกดีใจ คิดถึง ต้องการมาพบกับแรงงาน ที่พูดไม่ได้ปากหวาน แต่ออกมาจากใจ ที่เห็นใจคนที่ลำบาก ต้องการให้ร่วมมือกันในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะช่วง 5 ปีของการปฏิรูปที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม โดยรัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาของแรงงานอย่างจริงจัง และจะรับข้อเสนอไปแก้ไขให้ได้มากที่สุด เพราะแรงงานเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ
“ยอมรับว่ารายได้ของแรงงานยังถือว่าน้อยอยู่ จะต้องช่วยกันต่อไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาให้ทุกคนทุกระดับ อย่ามองว่าตัวเอง เป็นคนระดับล่าง ทุกคนมีศักดิ์ศรี ความเป็นคนเหมือนกัน และต้องการให้แรงงานพัฒนาฝีมือ เพราะแรงงานของไทย เป็นที่ยอมรับและได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ และขออย่าฟังเรื่องหลอกลวง เกี่ยวกับเรื่อง4.0ว่าเมื่อรัฐบาลเดินหน้าเรื่อง4.0แล้วจะใช้เทคโนโลยี มาทำให้แรงงานตกงาน ไม่มีงานทำเพราะแรงงาน ยังมีความจำเป็นอยู่ในภาคอุตสาหกรรมแต่การเป็นแรงงานยุคใหม่4.0ต้องหาความรู้ คิดและลงมือทำด้วย”นายกรัฐมนตรี กล่าว
วอนอย่าชุมนุมกระทบท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายกฯกล่าวอีกว่าขณะนี้การเมืองกำลังเข้มข้น ต้องการให้ฟังรัฐบาลบ้าง นักการเมืองทุกคนเป็นคนไทย ตนจะไปโกรธ เกลียดไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เวลานี้ต้องการให้ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อประเทศ ขออย่างประท้วงหรือชุมนุมใหญ่โต แบบยืดเยื้อยาวนาน แต่ถ้าชุมนุมแล้วมายื่นหนังสือ รัฐบาลรับได้ ยินดีที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเพราะรัฐบาลฟังทุกคน แต่อย่าชุมนุมให้เสียบรรยากาศลงทุน และท่องเที่ยว
นายกฯ’บอก‘รักแรงงานทุกคน
ก่อนหน้านี้ ช่วงบ่ายที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึง’วันแรงงานแห่งชาติ’ว่าของขวัญในวันแรงงานนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำไปมากโดยได้แก้ไขปัญหาต่างๆเช่นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แม้ตัวเลขจะน้อยแต่ก็ขึ้นได้อัตรา 5เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าอีกสักระยะทุกอย่างจะดีขึ้น ทุกภาคส่วนจะสามารถหาเงินเข้าระบบได้มากขึ้น รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายแรงงานให้เกษียณอายุ60ปี จาก 55ปีทั้งยังมีเรื่องการให้สิทธิ์ผู้ประกันตนที่คืนสิทธิ์ไปแล้ว กลับมาใช้สิทธิ์ได้อีก โดยมีแรงาน 770,000 คนได้รับประโยชน์ ยังให้บำนาญไว้ใช้จ่าย 5 ปี หลังเกษียณอายุ เรื่องค่าแรง จะต้องหารือกัน3ฝ่ายทั้งรัฐ ผู้ประกอบการ และแรงงาน ขอให้ทุกคนอดทน แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ผมรักทุกคน เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน แต่ทุกอย่างต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพราะเราไม่มีงบมากมาย ที่จะทำทุกอย่างในเวลาเดียว เพราะต้องคำนึงถึงการลงทุน เศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ รัฐบาลต้องหาวิธีคุ้มครองแรงงาน ให้มีหลักประกันสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”นายกรัฐมนตรี ย้ำ
ที่มาของข่าว : http://www.naewna.com/politic/336267