คำถามที่ยังไร้คำตอบ! กรณีอบจ.เชียงใหม่ฟันวินัยอดีตผอ.สำนักการช่าง กับอำนาจกม.ป.ป.ช.
"...คำถามที่น่าสนใจ ต่อกรณีนี้ คือ ก่อนหน้าที่ อบจ.เชียงใหม่ จะตัดสินลงโทษวินัยนายสมศักดิ์ โดยการหักเงินเดือน 15% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้รับทราบผลการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. แล้วหรือไม่? คำสั่งลงโทษอบจ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่ได้รับทราบมติป.ป.ช.หรือไม่ ? ถ้ามีการสั่งลงโทษไปก่อน ที่มติชี้มูล ป.ป.ช. จะออกมา อบจ.เชียงใหม่ จะสั่งเพิกถอนมติเดิม แล้วพิจารณาออกคำสั่งลงโทษใหม่ ตามผลการชี้มูลความผิดที่ได้รับแจ้งจากป.ป.ช.หรืิอไม่?..."
ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน!
กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ มีคำสั่งลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร อดีตผู้อำนวยการสำนักการช่าง โดยหักเงินเดือน 15% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ช่วงที่รับราชการอยู่ที่เทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งตามหลักกฎหมาย ป.ป.ช. หน่วยงานต้นสังกัดนายสมศักดิ์ ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงมติชี้มูลความผิดป.ป.ช.ได้
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ไล่เรียงข้อมูลข้อสังเกตที่ตรวจสอบพบมานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
จุดเริ่มต้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค.2560 แจ้งถึง นายก อบจ. เชียงใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาลงโทษทางวินัย นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร ผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ระยะที่ 3 พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝังตะวันตก ตามสัญญาจ้างเลขที่ 16/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2546 ของเทศบาลนครพิษณุโลก หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และแจ้งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ตามสำเนาหนังสือ ป.ป.ช. ลงวันที่ 10 ต.ค. 2560
ต่อมา นายสมศักดิ์ ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับคดีที่ตนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงนั้น เป็นผลมาจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชี้มูลความผิดเพราะเข้าใจผิดเรื่องราคากลางในการดำเนินงานว่ามีปัญหา แต่ก่อนหน้า ที่ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องแจ้งผลการชี้มูลความผิดไปที่เทศบาลนครพิษณุโลก ตนได้ย้ายไปทำงานอยู่ที่ เทศบาลนครปากเกร็ดแล้ว โดยในส่วนการดำเนินงานของเทศบาลนครปากเกร็ด นั้น ได้มีการตั้งกรรมการลงโทษตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2558 และตนได้เข้าไปชี้แจง ซึ่งกรรมการก็เห็นว่า ไม่ได้มีความผิดร้ายแรง ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามมติ ครม. และเมื่อตนย้ายไปที่ อบจ.เชียงใหม่ เทศบาลนครปากเกร็ดจึงส่งมติลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงไปที่ อบจ.เชียงใหม่ และกรรมการ อบจ.เชียงใหม่ ก็เรียกเข้าชี้แจง และมีมติยืนการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงตามเทศบาลนครปากเกร็ด หักเงินเดือน 15% เพราะไม่ทำตามติ ครม.
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ในช่วงปี 2560 เรื่องจะหมดอายุความ ได้มีโอกาสได้ชี้แจงกับทาง ป.ป.ช. ส่วนกลางแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. ก็รับทราบ เรื่องก็จบไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ อบจ.เชียงใหม่ ว่า นายสมศักดิ์ เกษียณอายุราชการไป เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2560 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ คือ ผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ และ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา อบจ.เชียงใหม่ ได้ออกประกาศว่าจ้าง นายสมศักดิ์ ให้ทำงานต่อในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านวิศวกรรมโยธา
@ผู้ว่าฯ สตง.ข้องใจอดีตผอ.สำนักการช่าง อ้างสตง.เข้าใจผิดชี้มูลราคากลาง
ขณะที่ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ได้เห็นคำให้สัมภาษณ์ ของ นายสมศักดิ์ แล้ว และจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานผลการตรวจสอบโครงการงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ระยะที่ 3 พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝังตะวันตก ตามสัญญาจ้างเลขที่ 16/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2546 ของเทศบาลนครพิษณุโลก ว่า มีรายละเอียดเป็นอย่างไร การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่มีการเข้าใจผิดเรื่องราคากลางตามที่นายสมศักดิ์กล่าวอ้างหรือไม่
"เรื่องนี้มีความสำคัญมาก และต้องรีบทำความจริงให้ปรากฏ เพราะการที่นายสมศักดิ์ พูดแบบนี้ กระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานตรวจสอบของ สตง. อย่างมาก ที่บอกว่าเราเข้าใจผิด และเป็นผลทำให้เขาถูกชี้มูลความผิด จะรีบสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน"นายประจักษ์กล่าว
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ตามหลักกฎหมาย ป.ป.ช. นั้น เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา และส่งเรื่องไปให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาโทษ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องพิจารณาลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ตามมติ ป.ป.ช. ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนซ้ำ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงมติชี้มูลของ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งเรื่องนี้ควรไปสอบถามความเห็นจาก ป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรง
หากพิจารณาข้อมูลตามที่ตรวจสอบพบ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ว่า ในหนังสือ ป.ป.ช. ที่แจ้งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบให้ผู้บังคับบัญชา ลงโทษ นายสมศักดิ์ ในฐานะเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ถูกส่งไปยังเทศบาลนครพิษณุโลก ลงวันที่ 10 ต.ค. 2560
จากนั้นผ่านไป 17 วัน นายบุญทรง ลงนามในหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค. 2560 ถึงนายกอบจ.เชียงใหม่ ให้ลงโทษทางวินัยกับ นายสมศักดิ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรง เนื่องจากนายสมศักดิ์ ได้ย้ายงานจากเทศบาลนครพิษณุโลก ไปอยู่ที่ อบจ.เชียงใหม่นานแล้ว จึงต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของนายสมศักดิ์โดยตรงพิจารณาดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 91, 92 และ 93 ที่บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดทางวินัย ให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการ บริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี และเมื่อรับเรื่องแล้วให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง หากนับร่วมระยะเวลาทั้งหมดจะอยู่ที่ 45 วัน ซึ่งปัจจุบันเวลาล่วงเลยมานานแล้ว
แต่จากข้อมูลที่ได้รับ ชี้ให้เห็นว่า อบจ.เชียงใหม่ มิได้ปฏิบัติตามมติการชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ตามสำเนาหนังสือ ป.ป.ช. ลงวันที่ 10 ต.ค. 2560 แต่อย่างใด
เพราะมีการยืนยันข้อเท็จจริง อบจ.เชียงใหม่ ได้ตั้งกรรมการสอบวินัยและออกคำสั่งลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง นายสมศักดิ์ โดยการหักเงินเดือน 15% เป็นระยะเวลา 3 เดือน และเป็นการลงโทษตามคำวินิจฉัยของ เทศบาลนครปากเกร็ดด้วย
คำถามที่น่าสนใจ ต่อกรณีนี้ คือ ก่อนหน้าที่ อบจ.เชียงใหม่ จะตัดสินลงโทษวินัยนายสมศักดิ์ โดยการหักเงินเดือน 15% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้รับทราบผลการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. แล้วหรือไม่? คำสั่งลงโทษอบจ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่ได้รับทราบมติป.ป.ช.หรือไม่ ? ถ้ามีการสั่งลงโทษไปก่อน ที่มติชี้มูล ป.ป.ช. จะออกมา อบจ.เชียงใหม่ จะสั่งเพิกถอนมติเดิม แล้วพิจารณาออกคำสั่งลงโทษใหม่ ตามผลการชี้มูลความผิดที่ได้รับแจ้งจากป.ป.ช.หรืิอไม่? (กรณีนี้ รวมไปถึงคำสั่งลงโทษของเทศบาลนครปากเกร็ดด้วย)
ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา ต้องการรับทราบคำตอบจากผู้บริหาร อบจ.เชียงใหม่ และได้พยายามติดต่อ นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่ ในฐานะรักษานายกอบจ.เชียงใหม่ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่เคยได้รับการชี้แจง หรือติดต่อกับมาชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อหน่วยงานต้นสังกัด ไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริงถึงความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ณ วินาทีนี้ คงเป็นหน้าที่ โดยตรงของ ป.ป.ช. ที่จะให้คำตอบที่ชัดเจนกับสาธารณชน
ว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ มีอะไรลึกลับซับซ้อน ซ่อนอยู่ในก่อไผ่มากกว่าข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่?
อ่านประกอบ :
พบ อบจ.เชียงใหม่ จ้างอดีตผอ.สำนักการช่างทำงานต่อ ทั้งที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง
โชว์หลักฐานอบจ.เชียงใหม่จ้างอดีตผอ.สำนักการช่างทำงานต่อ-เมินป.ป.ช.ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง?
ปากเกร็ดแก้มติลดโทษป.ป.ช.ให้! อดีตผอ.สำนักการช่าง แจงอบจ.เชียงใหม่ สั่งหักเงินด.15%แล้ว
ผู้ว่าฯประจักษ์ ข้องใจอดีตผอ.สำนักการช่าง อ้างสตง.เข้าใจผิดชี้มูลราคากลาง-สั่งจนท.สอบด่วน