กระทรวงวิทย์ฯ เฟ้นหาตัวแทนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์โครงการ 'FameLab'ชิงเวทีระดับโลก
เข้มข้นกว่าทุกปีกับการเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในโครงการ “FameLab” เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันบนเวทีสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก “Cheltenham Science Festival” ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5 - 9 มิ.ย. 2561 โดยความร่วมมือระหว่าง บริติช เคานซิล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. สวทน. อพวช. เดอะ สแตนดาร์ด และทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในประเทศไทย
FameLab เป็นการแข่งขันนำเสนอเรื่องราวหรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ และเรื่องใกล้ตัว ให้มีความสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย ภายใน 3 นาที ครอบคลุมหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ เนื้อหาชัดเจน (content) ถูกต้อง (clarity) และน่าสนใจ (charisma) ซึ่งจากการแข่งขันรอบแรก มีผู้สมัครจากทั่วประเทศได้ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยคณะกรรมการจนเหลือ 10 คนสุดท้าย และได้เข้าร่วมการอบรมพิเศษ หรือมาสเตอร์คลาส (Masterclass) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร
รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ “FameLab Thailand 2018” ได้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 เม.ย. ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มทรู และ นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมเปิด การแข่งขัน และเป็นหนึ่งคณะกรรมการ พร้อมกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทยอีกสองท่านด้วยกัน คือ ดร.โอ วรวรงค์ รักเรืองเดช ที่ปรึกษารายการ วิทยสัประยุทธ์ และ วิทย์สู้วิทย์ และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย “เฌอปราง อารีย์กุล” หรือ เฌอปราง BNK48 พรีเซ็นเตอร์โครงการ FameLab Thailand 2018 เข้าร่วม
สำหรับผู้ชนะเลิศ FameLab Thailand 2018 ได้แก่ นายอภิวิชญ์ เหมะจันทร นักศึกษา วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ นางสาวศรมน ชัยชาญ นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่วนรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ นางสาวปองกานต์ จักรธรานนท์ นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำหรับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ขวัญใจมหาชนในปีนี้เป็นของ นางสาวธัญญวรรณ กฤษณะวรรณ อาจารย์ โรงเรียนนานาชาตินครพายัพ
นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็คือทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสื่อมวลชนเป็นพลังที่ สำคัญเช่นกัน ในอนาคตก็หวังว่าจะได้การสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม ในการช่วยกันสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นโครงการ FameLab ที่ช่วยสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกไปให้ผู้คนได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และเตรียมพร้อมสู่อนาคต กระทรวงวิทย์ ฯ มีความยินดีที่ได้เห็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไม่เพียงแต่สร้างงานวิจัยดี ๆ แต่ยังสื่อสารงานวิจัยออกไปให้สังคมให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญ กระทรวงวิทย์ ฯ หวังว่าเวที FameLab จะช่วยเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้สื่อสื่อสารงานวิจัยให้สังคมได้รับรู้กันมากขึ้น
ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มทรู กล่าวว่า กลุ่มทรูเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารที่จะสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์หากได้รับข้อมูลที่เข้าใจง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก ทรูจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ FameLab เพื่อช่วยเฟ้นหานักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจ รักในวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยจะนำศักยภาพด้านการสื่อสารครบวงจรของกลุ่มทรู เข้าสนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ อาทิ ช่อง รายการ ของทรูวิชั่นส์ / True4You / TNN 24 / True ปลูกปัญญา รวมถึง Social Media ของกลุ่มทรู นอกจากนี้ ยังทำการถ่ายทอดสดการแข่งขัน FameLab รอบชิงชนะเลิศผ่านช่องทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นช่องรายการยอด นิยมสำหรับเยาวชนและคนในวงการการศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย
นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ ชั้นนำมากมาย แต่เวทีที่จะติดอาวุธด้านการสื่อสารให้กับนักวิทยาศาสตร์ยังมีน้อยอยู่ บริติช เคานซิล เชื่อมั่นว่าเมื่อนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยสามารถสื่อสารสื่อสารให้คนทั่วไปได้อย่างกระชับ สนุก และเข้าใจง่าย เมื่อนั้นวิทยาศาสตร์ก็จะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ และตระหนักรู้ในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อบุคคล สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ และการที่นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยสามารถสื่อสารผลลัพธ์หรือผลกระทอบของงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้งานวิจัยนั้น ๆ ได้รับทุนสนับสนุนมากขึ้นอีกด้วย