14 ปีกรือเซะ 14 ปีไฟใต้...กับชีวิตของแม่ที่นับวันรอลูกชายกลับบ้าน
วันนี้เป็นวันครบรอบ 14 ปีของ "เหตุการณ์กรือเซะ" หรือเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
เหตุการณ์กรือเซะเป็นเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 14 ปีไฟใต้ คือ 109 ราย แน่นอนว่าวันที่ 28 เมษาฯได้กลายเป็น "วันสัญลักษณ์" วันหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรึงกำลังเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย แต่เหตุการณ์กรือเซะก็ยังมีเรื่องราวมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอุทาหรณ์ที่ว่าความรุนแรง ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับใครเลย มีแต่บาดแผล ความเจ็บช้ำ และคราบน้ำตา
"เหตุการณ์กรือเซะ" ที่คนสนใจปัญหาภาคใต้เรียกกันจนติดปากนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี เพียงแห่งเดียว เพียงแต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย แต่ในวันเดียวกันนั้นยังมีความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีก 10 จุด รวมทั้งสิ้น 11 จุด
ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 28 เมษายน เมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจ รวมที่มัสยิดกรือเซะด้วยเป็น 11 จุดใน 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา
หนึ่งในนั้นอยู่ที่จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี มีการยิงต่อสู้กัน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่บุกโจมตี วิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งน่าจะมีประชาชนปฏิบัติศาสนกิจด้านในอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ได้นำกำลังไปล้อมมัสยิดเอาไว้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย ส่วนจุดอื่นๆ ก็มีผู้เสียชีวิตทุกจุด รวมแล้ว 109 คน
ปลายปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จ่ายเงินเยียวยาในอัตราใหม่ให้กับครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะทั้งหมด 109 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 นาย รวมจ่ายเงินเยียวยาทั้งสิ้น 302 ล้านบาท
หลังเหตุการณ์กรือเซะ มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง ผลการไต่สวนสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการในวันนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ แต่ในทางคดีกลับไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งไม่มีการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว แต่มีผู้ต้องหาซึ่งเป็นประชาชนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี 1 คน คือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ
อับดุลรอนิง ถูกจับกุมได้ที่หน้า สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี หนึ่งในจุดที่มีการโจมตี เขาถูกฟ้องคดีต่อศาล และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แม้เขาจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องการโจมตีโรงพักแม่ลานเลยก็ตาม แต่สาเหตุที่ไปอยู่ในเหตุการณ์ เพราะมีคนว่าจ้างให้ขับรถไปส่งลูกจ้างกรีดยางที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทว่าตำรวจ อัยการ และศาล ไม่มีใครเชื่อเขา
14 ปีที่อับดุลรอนิงต่อสู้คดีและใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ บ้านของเขาที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต้องปิดร้าง ครอบครัวที่เคยอบอุ่น มีภรรยาและลูกๆ 3 คนต้องแตกสลาย ลูกคนโตเสียชีวิต ทุกวันนี้เขาเหลือเพียงแม่ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งใกล้ๆ กับบ้านร้างของเขา และแม่คนนี้เองที่คอยดูแล ส่งข้าวส่งน้ำให้อับดุลรอนิงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดสงขลา
แม่ของอับดุลรอนิง คือ แอเสาะ ลาเต๊ะ ปีนี้อายุ 76 ปีแล้ว แต่ยังต้องลากสังขารเดินทางไปเยี่ยมลูกชายทุกวันจันทร์ ทั้งๆ ที่มีฐานะยากจน โดยทุกเช้าวันจันทร์ นางจะขึ้นรถไฟที่สถานีนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ไปลงที่สถานีจะนะ จ.สงขลา เพื่อต่อรถโดยสารไปที่เรือนจำจังหวัดสงขลา ใช้เวลาร่วมครึ่งวันถึงจะได้พบหน้าลูก
"แม่จะไปเยี่ยมเขาแบบนี้ทุกสัปดาห์ ไม่ไปไม่ได้ ลูกจะอด ข้าวที่รัฐแจกก็ได้กิน แต่เขาควรได้กินอย่างอื่นบ้าง แม่ต้องทนเหนื่อย เพราะการเดินทางก็มีค่าใช้จ่าย ก็ต้องทำงาน กรีดยางได้อาทิตย์ละ 100 บาท เลี้ยงเป็ด เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ต้องเก็บเงินไปให้ลูกอาทิตย์ละ 200-300 บาท ถ้าไม่ทำลูกก็จะอด ตัวแม่เองก็ใช่ว่าจะแข็งแรง ก็ไม่ไหวนะ แต่ต้องทำ เพราะไม่ทำลูกจะอด"
แอเสาะ เล่าทั้งน้ำตาว่า ทุกๆ วันได้แต่นั่งมองปฏิทิน เพื่อรอวันที่ลูกจะได้อิสรภาพ เพราะนางกลัวว่าจะเสียชีวิตไปเสียก่อนที่จะได้เห็นลูกชายออกจากคุก เนื่องจากนางแก่มากแล้ว ตอนที่ไปเยี่ยมลูกครั้งก่อนก็ลื่นหกล้มที่สถานีรถไฟจนได้รับบาดเจ็บ ต้องนอนรักษาตัวนานเป็นสัปดาห์ จึงอยากขอวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยทำเรื่องขออภัยโทษให้ลูกชายด้วย
"ล่าสุดที่ไปเยี่ยมเขา ระหว่างขากลับก็เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มที่สถานีรถไฟจะนะ หัวไหล่หัก หัวเข่าปวม ต้องทนนั่งรถไฟกลับมาถึงบ้าน ถึงจะไปหาหมอ เจ็บมาก หายใจไม่ออกตลอดทางโชคดีรอดกลับมาถึงบ้านได้ คิดว่าจะไม่รอดแล้ว จะไม่มีโอกาสได้เห็นลูกได้รับอิสรภาพแล้ว อยากขอให้รัฐช่วยทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้ลูกด้วย ลูกชายอยากออกมาเพราะเขารู้ว่าแม่ลำบากขนาดไหน เขาอยากออกมาดูแลแม่"
แอเสาะ บอกด้วยว่า ตลอด 14 ปีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านมีแต่ความเดือดร้อน ครอบครัวของนางเองก็เดือดร้อน ความปลอดภัยก็ไม่มี พื้นที่ปลอดภัยที่เคยหวังว่าจะมีการเจรจากันได้ระหว่างรัฐบาลกับผู้ก่อเหตุรุนแรงก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที แล้วเมื่อไหร่สถานการณ์ในพื้นที่จะสงบลงได้จริงๆ
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แอเสาะ กำลังก้มดูปฏิทินเพื่อหาวันที่จะเดินทางไปเยี่ยมลูกชายในเรือนจำ
2 มัสยิดกรือเซะในปัจจุบัน
3 แอเสาะ ยกแขนให้ดูอาการบาดเจ็บเพราะหกล้มที่สถานีรถไฟ
อ่านประกอบ :
ย้อนรอยกรือเซะ...ปะทะ11จุด-109ศพ-เยียวยา302ล้าน!
11 ปีกรือเซะ...แผลในใจที่ยังไม่เลือนหาย กับบทเรียนที่รัฐ (ไม่) จดจำ
"กรือเซะ"ผ่าน 10 ปี...วันนี้เริ่มมีรอยยิ้ม
กรือเซะในวันเหงา...เรื่องราวคนเล็กคนน้อยผู้รับผลทางอ้อมจากความรุนแรง
เปิดปาก "พยานปากเอก" ไขปมศพเกลื่อนที่กรือเซะ "ขบวนการหลอกชาวบ้าน แล้วทหารถูกใครหลอก?"