ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก 'ฉัตรไชย-ปกรณ์' เป็นกกต.สายศาล
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561 ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ชั้น 1 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งสิ้น 176 คน เพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สายศาล จำนวน 2 คน
โดยการลงมติครั้งนี้ มีผู้สมัครผู้สมควรได้รับการเเต่งตั้งเป็น กกต.5 คน ประกอบด้วย 1.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2.ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3.เกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4.ทวีป ตันสวัสดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 5.ประพาฬ อนมาน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์
ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติเลือกนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้ได้คัดเลือกเป็น กกต.สายศาลยุติธรรม 2 คน รวมกับผู้ได้รับการสรรหาอีก 5 คน เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบตามขั้นตอนปกติต่อไป
ทั้งนี้ นายฉัตรไชยและนายปกรณ์ เป็น 2 ชื่อเดิม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเคยลงมติเลือกและส่งชื่อไปให้ สนช.แต่ถูก สนช.ลงมติลับไม่เห็นชอบ 7 รายชื่อว่าที่ กกต. ทั้งหมด ซึ่งมีรายงานว่า เหตุที่ สนช. ไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่ กกต.เนื่องจากกังวลเรื่องขั้นตอนการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในขณะนั้นว่าอาจจะไม่ใช่การลงมติโดยเปิดเผยตามกฎหมาย จึงมีการลงมติโหวตไม่เห็นชอบ แต่ตามกฎหมายนั้น ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแม้ถูก สนช.ไม่เห็นชอบ ยังสามารถมายื่นสมัครใหม่ได้ ซึ่งต่างจากผู้ได้รับการสรรหาอีก 5 คน จึงทำให้ทั้งนายฉัตรไชยเเละปกรณ์มายื่นสมัครอีกรอบ จนได้รับการคัดเลือกในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานี้ ได้มีการออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 เพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระเบียบดังกล่าวเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. จากระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เดิม ในข้อ 10 เป็นว่า การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ตามข้อ 11 ให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อตัว และชื่อสกุลผู้ซึ่งตนเลือก จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือกที่จัดไว้ ซึ่งระบุชื่อตัว และชื่อสกุล ลำดับหมายเลขตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา แล้วบัตรเลือกไปมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนน เพื่อดำเนินการนับคะแนนต่อไป โดยระเบียบศาลฎีกาดังกล่าว ยังระบุว่า ให้เลขานุการศาลฎีกา เป็นผู้เก็บรักษาบัตรเลือก ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากไม่มีการโต้แย้งการคัดเลือกเป็น กกต. ก็ให้ดำเนินการทำลายบัตรเลือกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบัญ พ.ศ.2526 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ซึ่งถือว่าระเบียบดังกล่าวเป็นการลงคะเเนนโดยเปิดเผยที่จะรู้ว่าในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใครลงคะเเนนให้ใคร ซึ่งจะทำให้ปราศจากข้อกังวลทางกฎหมายต่อไป