เลิกเถียงกับกระเป๋ารถเมล์! ขสมก.ยึดธรรมเนียม เด็กแรกเกิด-ป.6 ขึ้นฟรี มีสิทธินั่งเบาะ
ขสมก.ไขข้อสงสัย เด็กขึ้นรถเมล์ฟรีหรือต้องจ่าย เผยยังไม่มีหลักเกณฑ์ยกเว้นค่าโดยสาร-รับสิทธิลดหย่อน ที่ผ่านมาใช้ประเพณีปฎิบัติ เด็กแรกเกิดถึง ป. 6 ไม่ต้องเสียเงิน เหตุยังไม่มีรายได้
คุณเคยทะเลาะกับ ‘กระเป๋ารถเมล์’ เรื่องการเก็บเงินค่าโดยสาร ‘เด็ก’ ทั้งที่อายุเพียง 5-6 ปี หรือบางคนเพิ่งเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น จนหัวเสียหรือไม่
ในความเข้าใจของหลายคนมองว่า เด็กในวัยดังกล่าวไม่ต้องเสียค่าโดยสารหรือมีสิทธิได้รับลดหย่อนค่าโดยสารครึ่งราคา แต่ปรากฎว่า กระเป๋ารถเมล์ โดยเฉพาะรถร่วมฯ กลับเก็บเต็มราคา หากไม่จ่ายก็ต้องให้เด็กนั่งตัก ไม่มีสิทธิที่จะนั่งบนเบาะพนักนุ่ม ๆ
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายครั้งมีการร้องเรียนไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดังเช่นเมื่อปี 2560 มีผู้โดยสารรายหนึ่งสอบถามว่า “ปกติรถเมล์เก็บค่าโดยสารของเด็กหรือไม่ เพราะบางสายเก็บ บางสายไม่เก็บ”
ข้อมูลจาก ขสมก. ระบุว่า ผู้ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร ได้แก่ ผู้ตรวจการขนส่ง, พระภิกษุ สามเณร, แม่ชี (ที่ถือหนังสือรับรองการบวชจากสำนักปฏิบัติธรรมพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน), บุรุษไปรษณีย์ในเครื่องแบบ (ขณะปฏิบัติหน้าที่), ผู้ถือบัตรประจำตัวของพนักงาน ขสมก และผู้ถือบัตรหรือเหรียญตราของทางราชการที่ระบุไว้ว่ามีสิทธิยกเว้นค่าโดยสารประจำทาง
ส่วนผู้ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารครึ่งราคา (รถเมล์ธรรมดา) ได้แก่ คนตาบอด ที่มีหนังสือรับรองจากสมาคมตาบอด, ทหาร ตำรวจ ในเครื่องแบบ, ผู้ถือบัตรหรือเหรียญตราของทางราชการ, ผู้สูงอายุ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และผู้พิการทุกประเภท
จะเห็นได้ว่า ทั้งผู้ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร และผู้ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารครึ่งราคา ไม่มี ‘เด็ก’ อยู่ในกลุ่มนั้น
เมื่อไม่มีระบุชัดไว้ในหลักเกณฑ์ สรุปว่า ‘เด็ก’ ต้องเสียค่าโดยสารหรือรับการลดหย่อนหรือไม่
นายสมควร นาสนม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1 ขสมก.
เพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงสอบถามไปยัง ขสมก. โดยได้พูดคุยกับ ‘นายสมควร นาสนม’ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1
นายสมควร กล่าวยืนยันว่า การเก็บค่าโดยสารรถเมล์สำหรับเด็กไม่มีระบุไว้ในหลักเกณฑ์ แต่ ขสมก. จะมีวิธีปฏิบัติโดยเทียบเคียงหลักเกณฑ์มาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ต้องเสียค่าโดยสาร ส่วนเด็กที่สูงเกิน 100 ซม. แต่ไม่เกิน 150 ซม. จะได้รับสิทธิลดค่าโดยสารครึ่งราคา แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นำมาบังคับใช้เข้มงวดมากนัก
อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายปฏิบัติในปัจจุบัน ขสมก.ได้ยึดถือว่า เด็กแรกเกิดจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นรถเมล์ธรรมดาฟรี เพราะเด็กช่วงอายุนี้ยังไม่มีรายได้ ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา จะมีตั๋วรายเดือนจำหน่ายในราคาพิเศษกับนักเรียน นิสิตนักศึกษา
“ประเพณีนิยมหรือประเพณีที่ปฏิบัติมา เด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาลงไปจะไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งรถร่วมฯ ต้องยึดถือปฏิบัติด้วย แต่บางครั้งรถเมล์ของเอกชนมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงใช้วิธีอนุมานว่า ถ้าให้เด็กนั่งตักจะไม่เก็บค่าโดยสาร แต่หากนั่งเบาะและเห็นว่า โตหน่อยจะเก็บเงิน”
แล้วจะมีโอกาสที่ ขสมก. จะออกหลักเกณฑ์การเก็บค่าโดยสารสำหรับเด็ก เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน นายสมควร กล่าวว่า หากมีการออกหลักเกณฑ์เหมือนการรถไฟฯ ผู้ที่เสียเปรียบ คือ เด็ก จากเดิมที่เด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาลงมาทุกคนจะได้นั่งรถเมล์ฟรี ต่อไปสูงเกิน 100 ซม. จะต้องเสียค่าโดยสารแทน
ด้วยเหตุนี้ ขสมก. จึงเลือกที่จะใช้ประเพณีปฏิบัติกันมาแทน ทั้งนี้ ยืนยัน แม้ว่าเด็กจะไม่เสียค่าโดยสาร แต่มีสิทธิที่จะนั่งบนเบาะทุกคน ไม่จำเป็นต้องนั่งตัก แต่อาจต้องดูความเหมาะสมว่า ช่วงเวลานั้นมีผู้โดยสารจำนวนมากหรือไม่
“เราในฐานะผู้ให้บริการ เห็นว่า นั่งได้ ไม่เป็นไร เพราะ ขสมก. ให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ ในการให้บริการ และเชื่อว่า สังคมก็ให้เด็กนั่งบนเบาะ เพราะไม่ได้แย่งที่นั่งอะไรหนักหนา ส่วนรถร่วมฯ ที่ไม่ยอมให้นั่ง คิดว่า มีไม่กี่คัน แต่จะมองผิดซะเลย ก็ไม่ถือขนาดนั้น เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ไม่ควร เพราะเราเป็นผู้ให้บริการ” นายสมควร กล่าวทิ้งท้าย .