เจ้าของร้านเพชร ร้องยธ.ขอให้รับเป็นคดีพิเศษ ถูกบก.ป.อายัดเพชร11 ล้านแต่ยังไม่คืน
เจ้าของธุรกิจค้าเพชร ร้องกระทรวงยุติธรรม ขอความเป็นธรรม ติดตามเพชรคืน จาก ตำรวจ บก.ป.มูลค่า 11 ล้าน หลังถูกอายัดแต่ยังไม่รับเพชรคืน ร้องขอให้รับเป็นคดีพิเศษ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2561 ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) น.ส.จีระพันธ์ จุลพันธ์ อายุ 57 ปี เจ้าของธุรกิจค้าขายเพชร เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เดินทางยื่นเรื่องต่อ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรม ให้ตรวจสอบและดำเนินการกรณีพนักงานสอบสวนไม่คืนของกลางเพชรตามคำสั่งพนักงานอัยการ
น.ส.จีระพันธ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2556 ตนเองถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ 21/2557 ของกองบังคับการปราบปราม ซึ่ง น.ส.ผาติรัตน์ ใจเย็น เป็นผู้กล่าวหาว่าตน ในข้อหายักยอกเพชร มูลค่าประมาณ 11 ล้านบาท โดยมี ร.ต.ท.สมโชค ปานพิมพ์ พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เป็นพนักงานสอบสวนคนแรก ต่อมา มีการแต่งตั้ง พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
น.ส.จีระพันธ์ กล่าวอีกว่า ตนได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ผ่านศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และ ต่อสู้คดีจนพ้นข้อกล่าวหาโดย คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนมีความเห็นทางคดีเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ตนเอง กับ นายวรดิษฐ์ จุลพันธ์ ซึ่งเป็นลูกชาย และ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 7 มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องตามหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 7 ที่ อส 0013.7/0435 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2561
พร้อมทั้งมีคำสั่งให้คืนของกลาง ตนเองจึงได้ไปติดตามของกลางที่กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 13 และ 26 กพ.61 แต่ไม่ได้รับคืนของกลางแต่อย่างใด ขณะที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 นาย ได้ต่อสู้คดีโดยคดีอยู่ชั้นศาลฎีกา ซึ่งขณะนี้ตนเองถูกคุกคามข่มขู่ ดังนั้น จึงต้องการให้กระทรวงยุติธรรมช่วยคุ้มครองความปลอดภัยและส่งเรื่องให้รับไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
นายธวัชชัย เปิดเผยว่า เบื้องต้น ระเบียบการตำรวจ เรื่องของกลาง ต้องมีการบันทึกในการเก็บรักษาของกลาง โดยมีตำรวจระดับสารวัตรหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแล แต่หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความประมาทเลินเล่อหรือเอาไปใช้เองก็อาจต้องถูกดำเนินการทางวินัยและต้องชดใช้ทรัพย์สินคืน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงประมาณ 37 วัน ซึ่งเตรียมส่งเรื่องให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการภายในสัปดาห์นี้ทันที ส่วนการรับเป็นคดีพิเศษต้องเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่จะรายงานให้ อธิบดีดีเอสไอ รับทราบก่อน นอกจากนี้ หากผู้เสียหายถูกคุกคามต้องมายื่นเรื่องร้องเรียนการคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป