รัฐบาลเยอรมนีจัดงบ 690 ลบ.ให้ไทย หนุนแผนลดโลกร้อน-จัดการของเสีย
รัฐบาลเยอรมันมอบเงิน 690 ล้านบาทให้ไทย ผลักดันแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เน้นลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในประเด็นพลังงาน การจัดการน้ำ ของเสีย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ที่สถานเอคราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกับรัฐบาลไทยเปิดตัว “แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน” โดยใช้งบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านการดำเนินงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศของ GIZ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย
นายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดตัวแผนงานฯ ว่า ทั้งประเทศไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือทางวิชาการและให้การสนับสนุนด้านการเงินมาเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยมีความร่วมมือหลากหลายด้านและประสบความสำเร็จอย่างดีในแทบทุกโครงการ ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการใช้พลังงานสูงขึ้น จึงส่งผลให้รัฐบาลไทยเร่งสนับสนุนนโยบายที่มีเป้าหมายในการหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นายเพเทอร์ พรือเกล แสดงเจตจำนงในการที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรไทยเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์จากเยอรมนี เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย
ด้านนายสเตฟาน คอนเทียส กรรมาธิการ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ตั้งแต่ปีพ. ศ. 2552 เป็นต้นมา BMU ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการในประเทศไทยมากกว่า 13 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการปกป้องผืนป่าเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
"สำหรับแผนงาน IKI ใหม่ที่เรากำลังเปิดตัว จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีและไทยต่างให้ความสำคัญและพร้อมเร่งดำเนินการตามข้อตกลงปารีสและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 โดยเร็วที่สุด"
ขณะที่ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความรุดหน้าในการนำผลของการเจรจาหารือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลมาปรับใช้เป็นนโยบายระดับชาติ ในส่วนของการจัดทำและจัดส่ง Nationally Determined Contribution (NDC) หรือเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น ประเทศไทยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และวางแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระหว่างปีพ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ณ ปี พ.ศ. 2573 ที่ร้อยละ 20–25 และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน จะเป็นส่วนสำคัญที่กระทรวงฯ จะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย เพื่อขยายความร่วมมือและร่วมดำเนินงานในระยะต่อไป
ส่วนนายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของแผนงานนี้ว่า แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน ยึดหลักการดำเนินงานบนพื้นฐานการมีสัมพันธภาพอันใกล้ชิดและมีมาอย่างยาวนานกับหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินแผนงานฯ ที่มีหลากหลายสาขา อันประกอบด้วยสาขาพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ GIZ ยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกับโครงการอื่นๆ ของไทยอย่างใกล้ชิดในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
นายทิม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของBMU ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 17.9 ล้านยูโร (ประมาณ 690 ล้านบาท) ให้แก่รัฐบาลไทยในการดำเนินแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน เป็นระยะเวลา 4 ปี (ตั้งแต่พ.ศ. 2561- 2564) โดยดึงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางการพัฒนาสภาพภูมิอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานไทยหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำและกรมการข้าว