โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย
วันที่ 24 เม.ย. 61 เวลา 10.20 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (อาชีวะพันธุ์ใหม่ปี 2561 – 2565 และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ปี 2561 – 2569) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ทั้งนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. ศธ. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจะต้องผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการในจำนวนที่เพียงพอ โดยให้ภาคอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการมาร่วมจัดการเรียนการสอนและร่วมประเมินผลสำเร็จทางการศึกษาของนักศึกษา เพื่อให้ตรงตามความต้องการและสามารถรับเข้าทำงานได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะอาชีพกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ New Growth Engine เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นการประกันคุณภาพหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
2. ศธ. ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเสนอนโยบายด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษาผลิตช่างเทคนิคสาขาวิชาต่าง ๆ ให้กับประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูงให้กับประเทศ ร่วมกันจัดทำโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อส่งเสริมให้วิทยาลัย/สถานศึกษาในสังกัด สอศ. และสถาบันอุดมศึกษาผลิตบุคลากร โดยมีขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับอุปสงค์ของตลาดแรงงาน ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมโดยการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษาที่ใช้สถานการณ์จริงจากสถานประกอบการและชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะฝีมือควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้มีสมรรถนะที่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน เร่งรัดการพัฒนาอาจารย์ เพื่อผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจัดทำเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ดังนี้
1. โครงการระดับอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่เป็นช่างเทคนิค/นักเทคโนโลยีที่มีความชำนาญขั้นสูงตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยในการดำเนินการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนในสถานที่ทำงาน (Work Integrated Learning) อย่างเข้มข้น มีความร่วมมือกับสถานประกอบการในประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือตรงกับความต้องการ และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศในการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากล มีการติดตาม ควบคุมคุณภาพการสอนตามแนวทาง Work Integrated Learning โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ จะมีการอบรมครูของมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนและประเมินผลนักศึกษาได้ อันจะเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนที่มีคุณภาพสูงในอาชีวศึกษา
2. โครงการระดับอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การปรับเปลี่ยนและ/หรือเพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์เฉพาะของสถานประกอบการและการพัฒนาส่วนบุคคลตามอัธยาศัย โดยมีการให้ใบรับรอง (Certificate) ที่เน้นรับผู้เข้าศึกษาเป็นบุคคลที่ทำงานแล้ว การบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้หลักในศาสตร์สาขาวิชาชีพ โดยการพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป และการบูรณาการการเรียนการสอนข้ามศาสตร์สาชาวิชาชีพให้แก่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา