กฟผ.ชงสร้างโรงไฟฟ้าใต้ ห่วงปี63ไม่พอใช้
กฟผ.เตรียมเสนอสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 700-1,000 เมกะวัตต์ รับมือวิกฤตไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอใช้ในปี 2563 หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินยังไม่เกิดและแผนขยายสายส่ง 500 เควีล่าช้า ศึกษาความเหมาะสมที่ จ.สุราษฎร์ฯ และขนอม แทนแผนขยายสายส่งเส้นขนอม-สุราษฎร์ฯ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 6,000 ล้านบาท
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ.ศึกษาความเป็นไปได้ขยายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 เควี จาก อ.ขนอม จ.สงขลา ไป จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสายส่งไฟฟ้าในภาคใต้ พบว่า ต้องใช้งบลงทุนสูงกว่า 6,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างนานคาดว่าจะเสร็จในปี 2570-2571 แต่หากใช้อำนาจตามมาตรา 44 อาจก่อสร้างเสร็จในปี 2566-2567 ซึ่งไม่ทันรองรับบริหารความเสี่ยงความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้
กฟผ. ประเมินว่าปี 2563 ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงจากปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ เพราะแผนการขยายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 เควี เพื่อดึงกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ราว 700 เมกะวัตต์ จาก จ.ราชบุรีไป จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา จะสร้างเสร็จปี 2563 และกว่าไฟฟ้าจะเข้าระบบได้ในปี2564 ก็ล่าช้าจากเดิมที่จะเสร็จสิ้นในปี 2562
ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3.4% ทุกปี หรือปีละ 150 เมกะวัตต์ โดยปี 2560 ความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีค) ของภาคใต้อยู่ที่ 2,642 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าหลัก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอน มีกำลังผลิตจริงที่ 2,024 เมกะวัตต์ และมีไฟส่งจากภาคกลางมาเสริม 460 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นไฟจากเขื่อน ชีวมวลและลม 140 เมกะวัตต์ และล่าสุดปีนี้จังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะภูเก็ตมีพีคไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนในเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ สูงขึ้น 7-10% จากปีก่อน และพีคไฟฟ้าในภาคใต้เกิดมากสุดช่วงกลางคืน ซึ่งหากเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบก็ยังมีความเสี่ยง
ดังนั้นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ โดย กฟผ.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 แห่ง กำลังผลิต 700-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งดูความเหมาะสมว่าจะตั้งโรงไฟฟ้าใน จ.สุราษฎร์ธานี หรือขยายกำลังการผลิตที่โรงไฟฟ้าขนอม จะใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยโรงไฟฟ้าก๊าซแห่งนี้ ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2558-2579 (พีดีพี 2015) จึงต้องนำเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาเห็นชอบบรรจุในแผนพีดีพีฉบับใหม่ หรือขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษเพราะน่าจะก่อสร้างได้เร็วกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเพื่อให้ทันรับมือกับวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 และช่วงปี 2565-2566 ซึ่งหากไม่มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นสิ่งที่ทำได้คือ การใช้มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมประหยัดไฟฟ้าเท่านั้น
“เดิมกระทรวงพลังงาน ต้องการให้แก้ไขปัญหาคอขวดสายส่งไฟฟ้าในภาคใต้ เพื่อให้โรงไฟฟ้าจะนะจ่ายไฟฟ้าได้เต็มกำลังผลิตที่ 1,476 เมกะวัตต์ จากที่ผลิต 1,106 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.จะขยายสายส่งเส้นจากคลองแงะขึ้นไปจ.สุราษฎร์ธานีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขยายเส้นอื่นเพิ่ม และถึงแม้ว่า โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม จะผลิตได้เต็มกำลังผลิตติดตั้งรวมกันที่ 2,406 เมกะวัตต์ ในทางเทคนิคบริหารความเสี่ยงควรมีกำลังผลิตรวมถึง 3,500 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่เกิดขึ้นอีก 700-1,000 เมกะวัตต์ เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้”
นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า ตามแผนพีดีพีฉบับปัจจุบันกำหนดให้ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา รวม 2,800 เมกะวัตต์ เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า ไม่ใช้แค่เรื่องค่าเชื้อเพลิงที่ถูก แต่ที่สำคัญคือเป็นกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มากเกินไป ซึ่งหากโรงไฟฟ้าในภาคใต้ใช้เชื้อเพลิงก๊าซทั้งหมดในอนาคตก๊าซจากอ่าวไทยหมดลงก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้า ที่เสี่ยงต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต อีกทั้งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่ต้องขนส่งทางเรือ หากเกิดปัญหาความไม่แน่นอนในต่างประเทศ จะมีสำรองแอลเอ็นจีอยู่ได้เพียง 3 วัน
ส่วนแผนการสร้างสายส่งไฟฟ้าเส้นจ.ราชบุรี-จงสุราษฎ์ธานี ที่เดิมมี 3 ชุด แต่ชุดที่ 3 มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นที่เดิมวางแผนเพื่อจะนำไฟฟ้าจากภาคใต้ตอนล่างขึ้นไปป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในตอนบน แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ไฟฟ้าในภาคกลางเพียงพอถึงปี 2572 จึงไม่จำเป็นต้องสร้างสายส่งชุดที่ 3 แต่ชุดที่ 1และ2 ยังดำเนินการตามแผน ดังนั้น กฟผ.จึงเสนอกระทรวงพลังงานยกเลิกแผนก่อสร้างสายส่งชุดที่ 3 ลง แต่ไม่ใช่การล้มโครงการ
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรของ กฟผ.นั้น คณะกรรมการบริหาร กฟผ.จะหารืออีกรอบในวันที่ 23เม.ย.นี้ โดยหลักการเบื้องต้นจะลดความซ้ำซ้อน จัดกลุ่มบริหารใหม่ เช่น ระดับรองผู้ว่าการ กฟผ.จากเดิมมี 12 คน จะเหลือ 7-8 คน รวมถึงมีเป้าหมายระยะยาวมีพนักงานเหลือไม่เกิน 15,000 คน ซึ่งจะลดการรับพนักงานใหม่ ในขณะที่ปีนี้จะมีผู้เกษียณอายุ 1,300 คน