ไขรหัสปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาส สูตรสำเร็จแบบใหม่ ละครไทย
ถอดบทเรียนความสำเร็จของบุพเพสันนิวาส จากละครโทรทัศน์สู่กระแสออเจ้าที่ถูกพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง ผ่านหลากมุมมอง
จากกระแสละครบุพเพสันนิวาสที่โด่งดังไปทั่วประเทศจนทำให้เกิดปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ ทั้งการกลับมานิยมแต่งกายชุดไทย การใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ออเจ้า การท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องอาหารที่พูดถึงในละคร เช่น มะม่วงน้ำปลาหวาน หมูสร่ง หมูกระทะ
เมื่อเร็วๆนี้ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
"ศัลยา สุขะนิวัตติ์" นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส และอีกหลายๆ เรื่อง อาทิ คู่กรรม นางทาส สายโลหิต ยอมรับว่า ในละครบุพเพสันนิวาสเธอมีบทบาทน้อยกว่าทุกเรื่องที่เขียนมา เพราะในหนังสือค่อนข้างครบครัน จึงต่อยอดนิดหน่อย เขียนเหมือนละครที่เคยเขียนมาหลายๆเรื่องในชีวิต ไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากเรื่องที่เคยทำ
อาจารย์ศัลยา เผยว่า บทประพันธ์เรื่องนี้เป็นบทประพันธ์ที่ไม่เหมือนบทประพันธ์อื่นๆในเรื่องของการทะลุมิติเข้าไปสู่อีกมิติหนึ่ง ละครที่เกิดขึ้นทำนองนี้ คนที่ทะลุมิติเข้าไปมักหวังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่อยู่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจารย์เรียกพล็อตแบบนี้ว่า สูตรสำเร็จ แต่สำหรับบุพเพสันนิวาสไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบละครอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่นตัวละครที่ชื่อเกศสุรางค์ที่ข้ามภพไปสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะรู้เรื่องต่างๆทั้งหมดในยุคนั้น แต่เกศสุรางค์เพียงแต่ไปทดสอบว่า เรื่องราวเป็นจริงอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้อยากไปเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น
ในฐานะคนเขียนบทละครโทรทัศน์ เธอมองว่า สิ่งหนึ่งที่ทำเสมอทุกครั้งที่เขียนบท คือ จะเห็นภาพ ภาพทุกอย่างในหนังสือจะเข้ามาอยู่ในสมอง จะต้องนึกให้ออกว่า ภาพแต่ละภาพเขาทำอะไรกันบ้าง เขาพูดอะไรในฉากนั้น พอเขียนเสร็จก็เล่นในตัวเอง ในฉากสำคัญหรือฉากที่ต้องการความกระจ่าง
“สิ่งที่จะได้จากการเล่นคือความลื่นของบทสนทนาว่าเข้าปากหรือไม่ โดยเฉพาะบทที่มีภาษาโบราณ จากนั้นจะนำเหตุการณ์ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาลำดับช่วงเวลาว่า เหตุการณ์ไหนเกิดก่อนหลังแล้วค่อยสร้างสถานการณ์ว่า ฉากไหนควรขยายเป็นเรื่องราว”
ส่วนฉากประวัติศาสตร์ อาจารย์ศัลยา บอกว่า จะเลือกมาแค่บางฉากจากนิยายเท่านั้น แต่ฉากที่มีความรุนแรงเธอเลือกที่จะไม่นำเสนอ เพราะไม่อยากให้เห็น เช่น ฉากที่คอนสแตนติน ฟอลคอนถูกประหารชีวิต หรือพระปีย์ถูกผลักลงจากหน้าต่าง โดยจะบอกเพียงว่า ใครเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับการเขียนบทให้ถูกต้อง เธอบอกว่า ขึ้นอยู่กับตัวของคนเขียนว่า ถูกต้องหรือเปล่า เวลาเขียนละครธรรมดาทั่วๆไปจะมีความถูกต้องที่เกิดขึ้นกับการตัดสินใจของคนดู เราจะไม่ค่อยเป็นกังวลเท่าไหร่ แต่ประวัติศาสตร์ต้องถูกต้อง มีข้อมูลจริง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเราไม่รู้ว่าข้อมูลจริงๆนั้นคืออะไรและอยู่ที่ไหน เราก็ต้องค้นคว้า
“ กว่าครึ่งในละครบุพเพสันนิวาสเป็นการถอดมาจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จริงๆ ส่วนที่เหลือเป็นสิ่งที่ค้นคว้าแล้วยังไม่เจอ ซึ่งเป็นความไม่ครบถ้วนของเราเอง เพราะรู้ได้ไม่หมด บางส่วนก็เป็นการค้นคว้าเพื่อชำระข้อมูลเดิมที่ถูกดัดแปลง บิดเบือน จึงอย่าเชื่อประวัติศาสตร์ที่อยู่ในละคร” อาจารย์ศัลยา ระบุ และเห็นว่า ถ้าอยากรู้ความจริง ดูละครแล้วหาข้อมูลเอง ถ้าหาแล้วสอดคล้อง เชื่อได้ว่าเป็นข้อมูลที่เท่าที่เขาเขียนไว้ให้รู้ ส่วนข้อมูลที่จริงมากๆ ไม่มีวันที่จะรู้
ด้าน “ภวัต พนังคศิริ” ผู้กำกับละครบุพเพสันนิวาส ถ่ายทอดถึงวิธีการทำงานในละครมีความแตกต่างกันตามประเภทของละคร เริ่มจากการอ่านบทประพันธ์ โดยจะทำตัวเหมือนคนอ่านนิยายทั่วไป คือรู้สึกสนุกไปกับบทประพันธ์ หลังจากนั้นจะอ่านบทละคร โดยตีความให้ได้สองอย่าง คือ อ่านให้สนุกเหมือนที่อ่านในบทประพันธ์และคิดว่า เราทำได้หรือเปล่า ในสิ่งที่ตนเองฝันเอาไว้ในฉากนั้นๆ
จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ (Pre – Production) คือการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากบทละครโทรทัศน์ที่เขียนไว้ เช่น การอ่านหนังสือ คุยกับทีมงาน คุยกับนักประวัติศาสตร์ คุยกันให้เห็นภาพเดียวแล้วจึงเริ่มขั้นตอนถ่ายทำ (Production)
“ทำตัวหนังสือทั้งหมดให้กลายเป็นภาพและทำในงบประมาณที่พี่หน่อง (อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการผู้จัดการบริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น) ได้อนุมัติ เมื่อเข้าสู่การถ่ายทำจะเป็นบทบาทของนักแสดงคือนำบทละครมาให้นักแสดงตีความ คุยให้นักแสดงเข้าใจ ต่อมาคือขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post – Production) ต้องถอยกลับมาเป็นคนดู อย่าทำตัวเป็นผู้กำกับ ต้องตัดต่อแล้วได้อารมณ์”
ทั้งนี้ เขาใช้วิธีการแนะนำตัวละครที่ชัดเจน มีปมขัดแย้งที่ชัดเจน มีจุดไคลแมกซ์ มีช่วงคลายปม ในช่วงแรกที่เป็นการแนะนำตัวละครเพื่อทำให้คนดูรู้จักตัวละครให้มากที่สุด แม้กระทั่งบ่าวในเรือนก็ตาม การทำให้คนดูรู้สึกจะรักหรือจะเกลียดเลยในครั้งแรกที่เห็น คือ สิ่งที่เขาตั้งเป้าไว้ว่า ต้องทำให้ได้
“ต่อมาคือการพัฒนาตัวละครทุกตัว เช่น นางเอกที่ต้องสู้กับปัญหามากมายเพื่อเอาชนะใจทุกคนที่อยู่ในอดีต จึงกลายเป็นความร่วมสมัย คาแรกเตอร์ของเกศสุรางค์เป็นความร่วมสมัยของคนยุคปัจจุบัน คนยุคปัจจุบันจึงสัมผัสได้ง่าย เข้าใจง่าย โดนใจคนดู นอกจากนี้ต้องรู้ด้วยว่า จุดไคลแมกซ์ของฉากนั้นอยู่ตรงไหน”
การวางแผนด้านการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ละครบุพเพสันนิวาสประสบความสำเร็จ “ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” หัวหน้าคณะทำงานสายกิจการองค์กร สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ระบุว่า การวางกลยุทธ์ด้านการตลาดดิจิตอลไปยังกลุ่มผู้ชมมีทั้งหมด 3 กลยุทธ์คือ Owned Media Earned Media และ Paid Media
Owned Media คือช่องทางการสื่อสารที่แบรนด์ได้สร้างขึ้นมา หรือสามารถควบคุมได้ เช่น Website / Moblie site , Social Media Channels , Apps
Earned Media คือการที่คนพูดถึงสินค้า บริการและแบรนด์ ไม่ว่าจากการกดไลก์ แชร์ รีทวีต ตอบกระทู้ หรือแสดงความเห็นในวิดีโอ บทความ หรือสื่อต่างๆ รวมถึงการบอกต่อแบบปากต่อปาก
Paid Media เป็นการใช้สื่อโดยเสียเงินเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมายัง Owned Media และเพื่อทำ Earned Media ต่อไป เช่น ป้ายโฆษณา โฆษณาทางโทรทัศน์
“ Earned Media ของเราไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เกิดจากตัวของละครมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนดู ทำให้ละครพูดถึงเยอะมาก คนในโซเชียลมีนิสัยชอบจับผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ทุกคนระมัดระวัง การจับผิดแล้วเจอเรื่องผิดจะเป็นเรื่องดังในทางไม่ดี แต่ถ้าจับผิดแล้วเจอเรื่องถูกจึงเป็นการส่งเสริมให้มีคนพูดต่อ”
ชาคริต มองว่า ใน Owned Media เช่น ในรายการข่าวก็ใส่ชุดไทย อย่างน้อยจะมีฉากหนึ่งที่ต้องพูดว่าใส่เพราะบุพเพสันนิวาส ซึ่งไม่ใช่การโปรโมต แต่คือกระแสที่คนอยู่ในช่องก็อยากพูดถึง พอพูดถึงก็สามารถสร้างกระแสได้ แต่จะมีข้อจำกัดที่ว่า เราพูดถึงคนที่เป็นแฟนคลับอยู่แล้วแต่อาจจะไม่ได้ได้พูดถึงให้คนอื่นๆสามารถที่จะเข้ามาดูเราได้ ในขณะที่ Earned Media ทำหน้าที่แทนเราในการคุยกับคนดู
ส่วน Paid Media คือ สื่อนอกบ้าน (Out of Home) โฆษณาที่อยู่ที่ต่างๆมีผล แม้จะมีข้อจำกัดที่ว่าใส่ข้อมูลได้ไม่เยอะ แต่ก็มีเสน่ห์และมีหน้าที่ของมัน อีกส่วนหนึ่งคือออนไลน์ การใช้ Pop-up หรือการทำงานกับ LINE TV Youtube แม้ไม่ได้บอกให้ดูทางทีวีแต่จะบอกว่า ถ้าพลาดสามารถดูย้อนหลังได้
ในแง่มุมทางด้านวิชาการ รศ.ดร.นฤมล ปิ่นโต อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ละครบุพเพสันนิวาสเข้ากับหลักการสื่อสาร เริ่มแรกต้องนึกถึงผู้ชม (audience) ก่อน ทางผู้จัดได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมโหวตว่า ถ้าท่านจะเลือกบทประพันธ์มาเป็นละครโทรทัศน์จะเลือกเรื่องอะไร แม้ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้จะการันตีด้วยยอดพิมพ์หลายครั้ง แต่ผู้ชมทางบ้านก็สรุปว่าเลือกเรื่องนี้ นั่นคือ Target Audience
“ด้วยความที่คนดูเป็นคนร่วมสมัย มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 มี generation ที่หลากหลาย ตั้งแต่ Baby Boomer Gen X Gen Y เราต้องดูว่า คนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรามีพฤติกรรมการรับสารอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือ คน Gen X เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี เรากล้าที่จะนอกกรอบมากขึ้น จึงมองว่า กลุ่มเป้าหมายไม่ได้เข้มงวดกับจารีตเหมือนคนยุคก่อนๆ ยิ่งถ้าเป็น Gen Y จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น มีความท้าทายจารีตเสียด้วยซ้ำไป แต่ทางผู้จัดก็ยังคงทำให้เนื้อหาให้มีความสมดุล
อย่าง Baby Boomer เป็นคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีความอนุรักษ์นิยม จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงได้ตลก น่ารัก และพอดีไม่มาจนเกินไป อีกทั้งคนที่ดูยังมีประสบการณ์ร่วมกัน ตามหลักการสื่อสารบอกไว้ว่า ถ้าหากเรามีประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร จะเกิดประสิทธิภาพ เช่นทุกคนเคยเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ตอนประถมด้วยกัน ทุกคนจำได้ นั่นคือประสบการณ์ร่วมที่น่าสนใจมากๆ เราจึงมีภาพของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในใจทุกคน เราอยากเห็นภาพความเรืองรอง ถ้ามีคนทำฉากนี้ให้ดูจะเป็นอย่างไร”
รศ.ดร.นฤมล ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ถ้านำทฤษฎีการสื่อสารมาจับกับเรื่องนี้จะอธิบายได้ว่า คนทุกวันนี้อยากหลบหนีออกจากโลกความเป็นจริงไปอยู่โลกของจินตนาการชั่วคราว เรื่องบุพเพสันนิวาส คือ การหนีไปผจญภัยกับโลกของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความเป็นแฟนตาซี มีโรแมนติกและคอมเมดี้เข้ามาด้วย ทีมงานไม่ได้หลีกหนีความเป็นจริงมาสู่ยุคอดีตที่หม่นหมองหดหู่ แต่สร้างในสิ่งที่คนอยากเห็นคือความสวยงามรื่นรมย์ของยุคนั้น
ขณะที่ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส นับเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และส่งผลในด้านบวกกับวงการละครโทรทัศน์ไทย จากเดิมที่สังคมทั่วไปมองว่า สื่อละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่มักมุ่งตอบสนองเพียงความบันเทิง อีกทั้งยังแฝงเนื้อหาเรื่องเพศ ความรุนแรง และไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แต่ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เปรียบเสมือน "ละครน้ำดี" ที่สามารถเป็นต้นแบบในการนำเสนอเนื้อหาที่มีความสร้างสรรค์ มีทั้งความสนุกสนานบันเทิง และมีสาระที่เป็นประโยชน์แก่สังคม”