มาช้ายังดีกว่าไม่มา? เมื่อ"ยิ่งลักษณ์"ล่องใต้ กับเสียงจากชาวบ้านเปิดใจถึงนายกฯหญิง
"ได้ฝากท่านนายกฯไปหลายข้อ โดยเฉพาะเรื่องหัวคิวเยียวยากับเรื่องยาเสพติด เพราะเจ้าหน้าที่ตั้งด่านจับยาได้เยอะก็จริง แต่ยาเสพติดในหมู่บ้านไม่ได้ลดลง ซึ่งท่านนายกฯก็รับปากจะดูแลทุกเรี่อง ก็รู้สึกดีใจที่ท่านมา แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ยังดีที่มา" เป็นเสียงจาก คอลีเยาะ หะหลี แกนนำทายาทผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรือเซะ ที่มีโอกาสได้จับเข่าคุยกับนายกฯยิ่งลักษณ์ อย่างใกล้ชิด ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา
นางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค.4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 29 เม.ย.โดยมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเดินทางมาร่วมงาน "ดินเนอร์ ทอล์ค" พูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจชายแดนใต้ จัดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 28 เม.ย.รอต้อนรับ พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ นำโดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบ.ศชต.) และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด
กล่าวเฉพาะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของเธอนับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว
กลุ่มมวลชนมอบดอกไม้-เร่งรัฐบาลเพื่อไทยแก้ของแพง
อย่างไรก็ดี ตลอดการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกไปพบปะพี่น้องประชาชนนอกค่ายสิรินธร แต่ได้มีการจัดกลุ่มพลังมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชนในโครงการพัฒนาของรัฐ ประกอบด้วย กลุ่มมวลชนคนเสื้อเขียว (มวลชนของแม่ทัพภาคที่ 4) สมาชิกกลุ่มแม่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มสตรี เยาวชนโครงการมัสยิดและวัดสานใจสู่สันติ เยาวชนในโครงการญาลันนันบารู นักศึกษาพยาบาลโครงการรักบ้านเกิด กองทุนแม่ของแผ่นดิน และเครือข่ายป้องกันภัยแผ่นดิน จำนวนกว่า 500 คน เข้าพบนายกรัฐมนตรี พร้อมมอบช่อดอกไม้และกระเช้าของขวัญเพื่อเป็นกำลังใจให้นายกฯ
บรรยากาศการพบปะเป็นไปอย่างชื่นมื่น เต็มไปด้วยรอยยิ้ม โดยปัญหาที่กลุ่มพลังมวลชนฝากให้นายกฯเร่งแก้ไข คือ ปัญหายาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ปัญหาการก่อเหตุร้ายรายวัน และข้าวของแพง
จากนั้น นายกฯ ได้กล่าวกับกลุ่มประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกๆ ด้าน โดยยึดยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่สะท้อนจากคนในพื้นที่จริงๆ รัฐบาลอยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี และจะเร่งผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เปิดทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และกระจายตลาดเพื่อรองรับการผลิตสินค้าในพื้นที่ด้วย
สั่งบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบปะกับผู้นำศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม ตลอดจนตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก่อนเข้าร่วมประชุมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย เพื่อรับฟังสภาพปัญหา และแนวโน้มสถานการณ์ล่าสุด
ภายหลังการประชุม นางสาวยิ่งลักษณ์ แถลงว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาก็เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรับฟังปัญหา เพราะรัฐบาลเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำกลุ่มต่างๆ
ในส่วนของงานด้านความมั่นคง รัฐบาลได้บูรณาการทุกส่วนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน แต่ที่สำคัญคณะกรรมการในการขับเคลื่อนตามแนวยุทธศาสตร์ที่ได้หารือไว้นั้นต้องถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกัน เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการในการขับเคลื่อนนโยบาย และทำหน้าที่ติดตามการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างสอดคล้องตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์มากขึ้น ที่สำคัญต้องมีการปรับการทำงานร่วมกัน รวมถึงโครงสร้าง และการทำเวิร์คชอป (ประชุมเชิงปฏิบัติการ) เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และคณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าและรับฟังปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ตั้ง "สถานีตำรวจส่วนหน้า" หวังเข้าถึงชาวบ้าน
"การทำงานของเจ้าหน้าที่เราจะใช้หลักการบูรณาการระหว่าง ศอ.บต.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งในส่วนของการติดตามคดีต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการดูแลป้องกันซึ่งเป็นงานด้านความมั่นคง การเพิ่มจุดตรวจเป็นจุดตรวจหลักถาวรบริเวณทางเข้า-ออกต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการป้องกันและการปราบปรามมากขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีการตั้งศูนย์ตำรวจส่วนหน้าในสถานีตำรวจทุกแห่ง เพื่อช่วยทำหน้าที่เสริมในการเข้าไปดูแลในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งได้มีการสั่งการและมอบนโยบายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว" นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี แถลงด้วยว่า ในด้านนโยบายการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนนั้น จะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่ดีทำกินของพี่น้องประชาชน รัฐบาลได้น้อมนำกระแสพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาดูแลแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีที่ดินในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย รวมถึงการติดตามเรื่องการสร้างอาชีพ การหางาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การส่งเสริมกีฬา การดูแลด้านสถานศึกษา ทั้งการศึกษาสายสามัญและศาสนา ตลอดจนการเสริมสายอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นั้น ต้องมีการหารือกันก่อนว่าจะทำงานอย่างไรให้สอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ที่สำคัญทุกคนต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและยึดแนวสันติวิธีเป็นหลัก สำหรับปัญหาในเรื่องอื่นๆ ที่มีการเสนอความต้องการเพิ่มเติม รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนการทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
เปิดบทสนทนานายกฯ-ทายาทผู้สูญเสีย...บ่นไม่มีผู้แทนในพื้นที่
ตลอดการปฏิบัติภารกิจของนายกฯ มีบางช่วงได้เปิดให้ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เข้าพบปะหารือเป็นกรณีพิเศษด้วย และหนึ่งในผู้ที่ได้รับโอกาสนี้ คือ คอลีเยาะ หะหลี ทายาทผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ
คอลีเยาะ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ดีใจมากที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี และไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เข้าพบนายกฯอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ แม้ระหว่างที่เข้าพบจะมีรัฐมนตรีหลายท่านอยู่ในห้องรับรองด้วย แต่เธอก็ได้พูดคุยกับนายกฯโดยตรงหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
"คอลีเยาะกระโดดกอดนายกฯเลย ดีใจมากที่ได้เจอ และดีใจที่นายกฯลงพื้นที่ แม้จะลงมาช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร คอลีเยาะได้คุยกับนายกฯหลายเรื่อง ก็ได้ฝากให้ท่านช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเงินเยียวยาที่รัฐบาลจะให้ ต้องเท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน และไม่สร้างปัญหาตามมา รวมทั้งให้ท่านดูแลเรื่องการเรียกหัวคิวจากคนบางกลุ่มด้วย ซึ่งท่านนายกฯก็รับปากว่าจะจัดการขั้นเด็ดขาด"
"นอกจากนั้น คอลีเยาะยังเล่าให้นายกฯฟังถึงปัญหายาเสพติด แม้ตำรวจ ทหารจะตั้งด่านและจับกุมได้ทุกวัน แต่ยาเสพติดในหมู่บ้านไม่ได้ลดลง ยังคงเยอะมากเหมือนเดิม ก็ฝากให้นายกฯช่วยแก้ไข รวมทั้งเรื่องราคายางพารา ซึ่งเรื่องนี้ ท่านณัฐวุฒิ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ที่นั่งอยู่ด้วย ก็รับปากว่าจะเร่งผลักดัน"
การพูดคุยระหว่าง คอลีเยาะ ในฐานะทายาทผู้สูญเสีย กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองในพื้นที่ด้วย
"ท่านนายกฯกับรัฐมนตรีบางคนเปรยว่า ในพื้นที่ไม่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทยอยู่เลย จะทำอย่างไร คอลีเยาะก็บอกตรงๆ ว่าไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเหมือนกัน แล้วก็บอกว่าท่านต้องทำราคายางให้สูงกว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ถึงจะสู้เขาได้ พูดถึงตรงนี้ท่านณัฐวุฒิก็รีบบอกเลยว่าจะทำราคายางให้สูงกว่าสมัยประชาธิปัตย์แน่นอน ขณะที่ท่านนายกฯก็ให้สัญญาว่า รัฐบาลจะทำในสิ่งที่ชาวบ้านชอบ สิ่งไหนที่ชาวบ้านไม่ชอบก็จะไม่ทำ"
คอลีเยาะ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไม่ชอบนายกรัฐมนตรีเลย ซึ่งก็ได้บอกนายกฯไปตรงๆ ตอนที่ได้พบกันด้วย
"คอลีเยาะพูดตรงๆ เลยว่า ก่อนหน้านี้ไม่ชอบนายกฯ แต่ตอนนี้เริ่มชอบแล้ว และจะชอบมากขึ้นเรื่อยๆ" ทายาทเหยื่อกรือเซะกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อผู้นำประเทศ
ป่านนี้เพิ่งลงใต้...สายไปหรือเปล่า?
ด้านความรู้สึกและความเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้มีโอกาสเข้าพบหรือไปต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่ค่ายสิรินธร น.ส.รอยฮา ดอเลาะ อายุ 33 ปี ครูจาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ กับเรื่องที่นายกฯลงใต้ เพราะเดินทางมาตอนที่ช้าเกินไปแล้ว
"ฉันคิดว่าเหมือนมาหาเสียงมากกว่า รู้สึกไม่ปกติ ถ้าเป็นไปได้อยากให้นายกฯไปผลักดันนโยบายที่วางไว้ก่อนหน้านี้ให้สำเร็จดีกว่า และที่มาบอกจะแก้ปัญหาภาคใต้ ก็อยากให้นายกฯมองปัญหาจากข้างล่างขึ้นข้างบน โดยการรับฟังปัญหาจากคนข้างล่างจริงๆ ไม่ใช่ไปฟังพวกที่เกณฑ์มา มิฉะนั้นจะได้อะไรไม่ต่างจากที่อ่านรายงานของข้าราชการ"
น.ส.รอยฮา ยังบอกด้วยว่า วันที่นายกฯลงพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคงต้องจัดกำลังดูแลแบบเต็มพิกัด มีด่านตรวจเยอะมาก ทำให้ประชาชนเดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก และรู้สึกหวาดกลัว เพราะมีแต่เจ้าหน้าที่ ถ้ามาแล้วต้องทำอย่างนี้ไม่ต้องมาดีกว่า
ขณะที่ น.ส.มารีนา หะยีตาเฮ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรียะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่นายกฯลงมา เหมือนเพิ่งให้ความสนใจกับปัญหาบ้านเรา แต่ก็ดีใจที่ยังลงมา ช้าไปหน่อยแต่ก็ยังดี
"อยากบอกให้นายกฯกำจัดคนร้ายที่ก่อเหตุในพื้นที่ คนที่นี่ไม่ต้องการระเบิด ยิง หรือฆ่ากันตาย อยากให้พื้นที่ตรงนี้สงบ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง อยากให้แก้ปัญหาราคาข้าวของแพง แก้ปัญหาให้ตรงจุดกว่านี้ และเปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ได้เปิดโลกทัศน์มากกว่าเดิม เพราะเด็กๆ มักถูกหลอกจากคนไม่ดี อย่างที่โรงเรียนก็มีเด็กโดนหลอกเรื่องยาเสพติดเยอะ และอยากจะขอให้นายกฯให้ความดูแลเด็กพิการในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะเด็กพิการที่เกิดจากสถานการณ์ความรุนแรง"
นางยูไนดะห์ เจะกาลอ ประธานกลุ่มสตรีในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ ที่นายกฯลงมา เพราะลงมาก็ไม่ได้ทำอะไร เชื่อว่านายกฯลงมากับไม่ลงมา ปัญหาที่นี่ก็เหมือนเดิม มาพูดว่าจะแก้ไข สุดท้ายก็ไม่ได้แก้อะไร ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นก็มี
"นโยบายของรัฐบาลบางเรื่องกำลังสร้างปัญหา โดยเฉพาะกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (จังหวัดละ 100 ล้านบาท) ที่จะมีการปรับโครงสร้างกลุ่มสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ อันที่จริงใช้โครงสร้างเดิมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างใหม่ที่ต้องมีการคัดเลือกประธานสตรีแต่ละตำบล โดยการคัดเลือกจะมีช่วงกลางเดือนนี้ ทั้งๆ ที่เรามีของเดิมอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทุกคนทำงานด้วยจิตอาสา ไม่ได้รับเงินเดือน แต่พอนโยบายใหม่มาปรับอย่างนี้ ก็ต้องมีเงิน มีค่าใช้จ่ายของกลุ่มสตรี คนไม่กี่กลุ่มที่จะเข้ามาเป็นประธาน โดยเฉพาะบรรดาภรรยากำนันผู้ใหญ่บ้านที่จะมาเป็นหัวหน้าของแต่ละตำบล และแน่นอนว่าบรรดาผู้นำและภรรยาผู้นำที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น ก็ไม่ได้เข้าพื้นที่เพื่อพูดคุยกับรากหญ้า" ยูไนดะห์ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพชุดกิจกรรมของนายกรัฐมนตรีช่วงเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 เม.ย.2555 (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)