'นิด้าโพล'ชี้ปชช.มองเศรษฐกิจ3เดือนแรกแย่ลง ไม่เชื่อมั่นนโยบายรัฐ
นิด้าโพลเผยผลสำรวจประชาชน 45.92% มองเศรษฐกิจไทย3เดือนแรกปีนี้แย่ลง ไม่เชื่อมั่นนโยบาย หวังรัฐบาลหลังเลือกตั้งมีแนวทางบริหารประเทศใหม่ที่ดีกว่า
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง 'เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ใน 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2561 ? ' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 10 เม.ย. 2561โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2561 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธี แบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มีนาคม 2561) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.92 ระบุว่า เศรษฐกิจแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 37.52 ระบุว่า เท่าเดิม ร้อยละ 16.24 ระบุว่า เศรษฐกิจดีขึ้น และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละด้านที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินอยู่ พบว่า ด้านเพิ่มรายได้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.08 ระบุว่า เท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 25.28 ระบุว่า แย่ลง ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านลดค่าครองชีพ (ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.76 ระบุว่า เท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 33.76 ระบุว่า แย่ลง ร้อยละ 18.08 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านลดภาระหนี้สิน พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.32 ระบุว่า เท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 25.92 ระบุว่า แย่ลง ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน (ซื้อง่ายขายคล่อง) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.80 ระบุว่า เท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 39.84 ระบุว่า แย่ลง ร้อยละ 14.72 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (เช่น ที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคม การสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้าและประปา) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.60 ระบุว่า เท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 37.52 ระบุว่า ดีขึ้น ร้อยละ 14.16 ระบุว่า แย่ลง และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับระดับความสุขจากนโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.92 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อก่อน เศรษฐกิจเหมือนเดิม ไม่ได้แย่ลงและก็ไม่ได้ดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า นโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อประชาชน รองลงมา ร้อยละ 21.12 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ สภาวะเศรษฐกิจ แย่ลง ไม่มีอะไรดีขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่เคยได้รับประโยชน์จากนโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เลย และร้อยละ 20.96 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ สภาพทางการเงินดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น การคมนาคมต่าง ๆ ดีขึ้น เศรษฐกิจค่อนข้างดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีความชื่นชอบนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มีนาคม 2561) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.44 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะ นโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ช่วยประชาชน ทุกระดับอย่างแท้จริง เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นโครงการที่ไม่ต่อเนื่อง และเป็นโครงการระยะสั้น รองลงมา ร้อยละ 42.24 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ นโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือ เป็นโครงการที่ดี ทำให้หลาย ๆ อย่างดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า มีผู้นำที่ดีและมีความเข้มแข็ง และร้อยละ 8.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากที่มีการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.96 ระบุว่า คาดว่าจะดีขึ้น เพราะ ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางใหม่ ๆ ในการบริหารประเทศได้ดีกว่านี้ รองลงมา ร้อยละ 16.88 ระบุว่า เหมือนเดิม เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ยาก ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา และต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วยจึงจะดีขึ้นไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ชุดไหนก็เหมือนเดิม ร้อยละ 5.92 ระบุว่า คาดว่าจะแย่ลง เพราะ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และจะไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และร้อยละ 18.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ