เหตุผลทำไม 70% คนงานในสหรัฐฯ ถึงไม่กลัวหุ่นยนต์แย่งงาน-เข้ามาแทนที่
70% จากการสำรจคนในงานสหรัฐฯ เชื่อหุ่นยนต์ไม่สามารถเขามาแทนที่งานได้ ทั้งยังมองว่า เทคโนโลยีที่พัฒนา ระบบอัจฉริยะต่างๆ ช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เชื่อได้ว่า เราคงได้ยินนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญออกมาเป็นห่วงว่า ต่อไปในอนาคตหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจจะเข้ามาแทนที่งานหลายๆ อย่าง อาชีพนักข่าวก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในสหรัฐอเมริกา บริษัท Kyron ได้ทำการสำรวจคนงานสหรัฐฯ 1,000 คนถึงความเห็นเรื่องการเข้ามาแทนที่ของหุ่นยนต์ในอนาคต โดยพบว่า ส่วนใหญ่ หรือมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้กังวลกับเรื่องดังกล่าวเลย ทั้งยังเชื่อมั่นในศักยภาพโดยเฉพาะเรื่องของความสามารถทางความคิดของมนุษย์ที่ยังคงสำคัญมากกว่า
นอกจากนี้ 75% ของคนที่ตอบคำถาม ยังเชื่อว่า หุ่นยนต์ไม่ได้มีความสามารถหรือฉลาดกว่ามนุษย์ อีก 60% ระบุว่า พวกเขาเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation: RPA) ไม่สามารถทำงานอื่นๆ ได้ทั้งหมด
RPA ที่ว่านี้คือ ระบบซอฟท์แวร์อัตโนมัติที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลจำนวนมาก และงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ ซึ่งระบบ RPA ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดทำและเปลี่ยนแปลงข้อมูลขั้นพื้นฐาน เช่น เอกสาร พวกใบวางบิล ใบกำกับสินค้า รวมไปถึงกระบวนการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า และการตรวจสอบการบันทึกต่างๆ เป็นต้น
Harel Tayeb ซีอีโอของ Kyron มองว่า ที่คนงานส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานพวกเขานั้น เป็นเพราะว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาไปในทุกวันนี้ช่วยทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง มากไปกว่านั้นคนงานในสหรัฐฯ ยังมองว่าหุ่นยนต์พวกนี้ช่วยให้ทำให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป
ผู้คนยังรู้สึกดีด้วยซ้ำที่มีเครื่องมือ และเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยในการทำงาน นอกจากนี้ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างแอพพลิเคชั่นในการเรียกรถแท็กซี่ ระบบการจ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด การใช้สัญญานบูลทูธในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านโดยไม่จำเป็นต้องต่อสายให้ยุ่งยากอีกต่อไป ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างจากอีกหลายๆ ความสะดวกสบายที่ทำให้คนรู้สึกว่า การมี AI การมีซอฟท์แวร์ฉลาดๆ ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเก่า ซ้ำยังช่วยให้มีเวลาทำอย่างอื่น หรือไปโฟกัสในงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
ซีอีโอของ Kyron ยังมองด้วยว่า ผลของการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานนั้นส่งผลให้คนงานมีความอดทนน้อยลงโดยเฉพาะในการต้องทำงานอะไรที่ซ้ำๆ พบว่า กว่า 40% ของผู้ทำแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาเริ่มเบื่อหน่ายที่ต้องทำงานพวกนี้มากขึ้นทุกวัน โดย 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้ พบว่า ยังคงต้องทำงานที่เป็นรูทีนหรืองานประจำทำซ้ำ ที่ต้องทำมากถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน
มากไปกว่านั้น Tayeb ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของคนในกลุ่มคนที่ทำงานแบบรูทีน ซ้ำๆ ทุกวัน พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองช่างไม่มีค่า (underutilized) หมายถึงว่า งานที่ทำนั้นไม่ได้ถูกดึงศักยภาพที่ตัวเองมีออกมา อย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ แม้ไอเดียที่ว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่งานต่างๆ นั้น แต่ก็มีส่วนดีที่ช่วยทำได้คนเราพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทั้งด้านครีเอทีฟ ความสร้างสรรค์ และงานที่สนุกมากขึ้น อย่างไรก็ดียังมีลูกจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคง "ติดกับดัก" จากการพัฒนาที่ตัวเองไม่สามารถพัฒนาได้ทันตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ในการสำรวจของ Kyron ยังพบอีกว่า 70% ของผู้ที่แบบสอบถามยังคงไม่มีความรู้ หรือแม้แต่รู้สึกว่า ยังรู้ไม่ลึกพอในเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร
แน่นอนว่า ระบบการศึกษา การให้ความรู้มีส่วนสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ควรพัฒนาไปในทางใด เพื่อรับมือกับทิศทางโลกที่เปลี่ยนไป ไม่อย่างนั้นต่อให้เทคโนโลยีจะช่วยให้เราสบายมากขึ้นก็จริง แต่คุณอาจโดนหุ่นยนต์แย่งงานไปได้ ถ้าศักยภาพตัวคุณไม่ได้เก่งกว่าสิ่งที่หุ่นยนต์ทำได้
ท้ายที่สุดสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ธุรกิจต่างๆ นั้นต่างมุ่งเน้นในการผลิตเพื่อรับกับความต้องการในตลาด และการที่ธุรกิจนั้นต้องสร้างเงิน สร้างกำไรให้ธุรกิจ วันนี้จึงเป็นคำถามว่าตัวเราเองจะพัฒนาตัวเรา ไปอยู่ในจุดไหนของโลกเทคโนโลยี
อ่านประกอบ:
การศึกษาแนวเสรีช่วยฝึกระบบคิด-สร้างสรรค์ ทักษะแห่งโลกอนาคตที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ https://www.isranews.org/isranews-scoop/63206-future-education.html