พลิกข้อกม.-คำวินิจฉัยกฤษฎีกา อบจ.เชียงใหม่ (กล้า)แก้มติป.ป.ช.ลดโทษอดีตขรก.จริงหรือ?
"...ฝ่ายนิติกร ของอบจ.เชียงใหม่ เคยมีการทักท้วงฝ่ายบริหารอบจ.ไปแล้วว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะต้องยืนยันตามมติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง คือ การไล่ออกและคืนเงินรายได้ทั้งหมด แต่คณะผู้บริหารไม่ฟังคำทักท้วง ทางฝ่ายนิติกร เกรงว่าจะมีปัญหาในภายหลัง จึงได้มีการทำหนังสือโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันตัวเองไว้ด้วย ..."
"ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาคดีต่างๆ ของป.ป.ช. ตามรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ที่ส่งไปให้นั้น โดยหลัก ป.ป.ช. จะไม่ได้เชื่อข้อมูลของสตง.ทั้งหมดอยู่แล้ว จะมีการตรวจสอบไต่สวนข้อมูลของป.ป.ช.เอง จนกระทั่งมีผลการชี้มูลออกมา อย่างไรก็ตาม ตามหลักกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา และส่งเรื่องไปให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาโทษ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องพิจารณาลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ตามมติป.ป.ช. ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนซ้ำ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงมติชี้มูลของ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งเรื่องนี้ควรไปสอบถามความเห็นจาก ป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรง"
คือ คำยืนยันของ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณี สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค.2560 แจ้งถึง นายกองค์การบริหารสวนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาลงโทษทางวินัย นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร ผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ระยะที่ 3 พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝังตะวันตก ตามสัญญาจ้างเลขที่ 16/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546 ของเทศบาลนครพิษณุโลก หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และแจ้งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ตามสำเนาหนังสือ ป.ป.ช.ลงวันที่ 10 ต.ค.2560
ขณะที่ในปัจจุบัน นายสมศักดิ์ เกษียณอายุราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ คือ ผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา อบจ.เชียงใหม่ ได้ออกประกาศว่าจ้าง นายสมศักดิ์ ให้ทำงานต่อในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านวิศวกรรมโยธา และเข้ามาทำงานที่อบจ.เชียงใหม่ตามปกติ แต่ไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า นายก อบจ.เชียงใหม่ ได้พิจารณาสั่งโทษทางวินัยนายสมศักดิ์ ตามผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วหรือไม่ (อ่านประกอบ : พบ อบจ.เชียงใหม่ จ้างอดีตผอ.สำนักการช่างทำงานต่อ ทั้งที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง, โชว์หลักฐานอบจ.เชียงใหม่จ้างอดีตผอ.สำนักการช่างทำงานต่อ-เมินป.ป.ช.ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง?)
โดยเบื้องต้น นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร อดีตผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศราทางโทรศัพท์ ว่า เกี่ยวกับคดีที่ตนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงนั้น เป็นผลมาจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชี้มูลความผิดเพราะเข้าใจผิดเรื่องราคากลางในการดำเนินงานว่ามีปัญหา แต่ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องแจ้งผลการชี้มูลความผิดมานั้น ตนได้ย้ายออกมาจากเทศบาลนครพิษณุโลก ไปอยู่เทศบาลนครปากเกร็ด และย้ายต่อมาอยู่ที่อบจ.เชียงใหม่ จึงไม่มีโอกาสไปชี้แจงกับทาง ป.ป.ช. โดยในส่วนการดำเนินงานของเทศบาลนครปากเกร็ด นั้น ได้มีการตั้งกรรมการลงโทษตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2558 และตนได้เข้าไปชี้แจง ซึ่งกรรมการก็เห็นว่า ไม่ได้มีความผิดร้ายแรง ตามที่เห็นว่าผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามมติ ครม. และเมื่อตนย้ายไปที่ อบจ.เชียงใหม่ เทศบาลนครปากเกร็ดจึงส่งมติลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงไปที่ อบจ.เชียงใหม่ และกรรมการ อบจ.เชียงใหม่ ก็เรียกตนเข้าชี้แจง และมีมติยืนการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงตามเทศบาลนครปากเกร็ด หักเงินเดือน 15% เพราะไม่ทำตามติ ครม. (อ่านประกอบ : ปากเกร็ดแก้มติลดโทษป.ป.ช.ให้! อดีตผอ.สำนักการช่าง แจงอบจ.เชียงใหม่ สั่งหักเงินด.15%แล้ว)
ทั้งนี้ หากพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของ ผู้ว่าฯ สตง. จะพบว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 91, 92 และ 93 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดทางวินัย ให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการ บริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี และเมื่อรับเรื่องแล้วให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง (รวมระยะเวลาทั้งหมด 45 วัน)
ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีคำวินิจฉัยข้อกฎหมายชี้ชัดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดวินัยผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกกล่าวหา ไม่สามารถที่จะตั้งกรรมการสอบใหม่ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้วไม่ได้ แม้ในภายหลังที่คดีถูกส่งเข้าไปพิจารณาในชั้นศาลจะมีการยกฟ้องก็ตาม เนื่องจากกฏหมาย ป.ป.ช.ถือเป็นกรณีเฉพาะ
โดยการพิจารณาความเห็นชี้ขาดข้อกฎหมายของกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้วินิจฉัย กรณีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงโทษไล่ออกนายประพัน ไพรอังกูร อดีต ผอ.กองกลาง กรมพลศึกษา ออกจากราชการ ตามผลการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลองหก) ได้พิจารณางด และลดค่าปรับให้กับผู้รับจ้างโดยมิชอบ ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริต และผิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องคดีอาญากับนายประพัน โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายประพันปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่มีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลแต่อย่างใด นายประพันจึงร้องขอความเป็นธรรมให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่ อ.ก.พ.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเห็นว่า นายประพันไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ไปยัง ก.พ. ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ทราบคำสั่งลงโทษ และไม่ได้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ฉะนั้นกระบวนการลงโทษทางวินัยจึงได้เสร็จสิ้นแล้ว และการลงโทษทางอาญากับการสอบสวนทางวินัยมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้แตกต่างกัน โดยการดำเนินการทางวินัยไม่จำเป็นต้องถือตามผลของคดีอาญาเสมอไป จึงมีมติไม่รับคำร้องของนายประพันไว้พิจารณา อย่างไรก็ดีนายประพันได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมพลศึกษาร้องขอความเป็นธรรมให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ รวมถึงเรียกร้องสิทธิทุกอย่างคืนตามกฎหมายอีกครั้ง
กรมพลศึกษาจึงขอหารือว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการตามที่นายประพันร้องขอได้หรือไม่ เพียงใด หรือมีแนวทางอื่นใดที่สามารถแก้ไขปัญหาให้ความเป็นธรรมกับนายประพันในกรณีดังกล่าวได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมพลศึกษา โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (ก.พ.) และผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงแก่นายประพัน จึงต้องถือว่าการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นที่ยุติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก และให้ถือรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกรมพลศึกษาได้ลงโทษไล่ออกนายประพัน ออกจากราชการ และนายประพันไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกแก่ ก.พ. ภายใน 30 วัน จึงเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอุทธรณ์
ส่วนกรณีนายประพันมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมพลศึกษานั้น แม้เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจรับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา แต่โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งตามกฏหมายนี้หรือกฏหมายอื่นมาแล้วหรือไม่
อย่างไรก็ดีการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยเป็นที่ยุติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางแนวทางวินิจฉัยกรณีนี้ไว้แล้ว สรุปได้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) เป็นกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ต่างจากกฎหมายทั่วไป การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. บัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วร้ายแรง จึงต้องฟังเป็นที่ยุติ องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจก้าวล่วงไปพิจารณาในข้อเท็จจริงและฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไว้แล้ว คงทำได้เพียงพิจารณาการใช้ดุลยพินิจเปลี่ยนแปลงโทษที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้คำสั่งลงโทษไปแล้วตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเท่านั้น กรมพลศึกษาจึงอาจรับคำร้องดังกล่าวในฐานะคำร้องเรียนเพื่อใช้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
หากเทียบเคียงในกรณีของ อบจ.เชียงใหม่ นั้นหมายความว่า ภายหลังจากที่ นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค.2560 แจ้งถึง นายกองค์การบริหารสวนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาลงโทษทางวินัย นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร ผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ระยะที่ 3 พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝังตะวันตก ตามสัญญาจ้างเลขที่ 16/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546 ของเทศบาลนครพิษณุโลก หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และแจ้งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ตามสำเนาหนังสือ ป.ป.ช.ลงวันที่ 10 ต.ค.2560
สิ่งที่ อบจ.เชียงใหม่ ต้องดำเนินการคือ พิจารณาลงโทษชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร ตามมติ ป.ป.ช. ภายในกรอบระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นทางการ
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในอบจ.เชียงใหม่ ว่า เกี่ยวกับเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวน นายสมศักดิ์ ลาภอดิศร อดีตผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ ที่ผลออกมาว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง จากเดิมที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และให้พิจารณาลงโทษแค่การปรับลดเงินเดือน 15% เป็นเวลา 3 เดือน นั้น ฝ่ายนิติกร ของอบจ.เชียงใหม่ เคยมีการทักท้วงฝ่ายบริหารอบจ.ไปแล้วว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะต้องยืนยันตามมติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง คือ การไล่ออกและคืนเงินรายได้ทั้งหมด แต่คณะผู้บริหารไม่ฟังคำทักท้วง ทางฝ่ายนิติกร เกรงว่าจะมีปัญหาในภายหลัง จึงได้มีการทำหนังสือโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันตัวเองไว้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายก อบจ.เชียงใหม่ รักษาราชการแทนนายกอบจ.เชียงใหม่ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งโทรศัพท์ไปที่สำนักงานอบจ.เชียงใหม่ และเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว หมายเลข 063-79666XX แต่ไม่สามารถติดต่อได้