เอสซีจี เปิดโครงการ “The Challenge - Packaging Design Contest 2018”
เอสซีจี เปิดตัวโครงการ “The Challenge - Packaging Design Contest 2018” เวทีสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมประกวดผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามโจทย์ตอบใจลูกค้า ภายใต้แนวคิด “Design Plus Marketing” Where Packaging steps up its game ผ่านโจทย์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ 4 โจทย์ ที่มีความท้าทายแตกต่างกัน ให้ผู้เข้าแข่งขันได้เลือกตามความถนัด ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 450,000 บาท
โครงการประกวดนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อมุ่งสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ความคิดสร้างสรรค์ ให้มีเวทีในการแสดงศักยภาพทางด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มความน่าสนใจให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยอันจะนำไปสู่การพัฒนาให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยผลงานการออกแบบสามารถนำมาต่อยอดในด้านการตลาดและการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งความพิเศษในปีนี้มาพร้อมกับการประกวดในโจทย์ “Design Plus Marketing” Where Packaging steps up its game เน้นเพิ่มความรู้และติดอาวุธเพิ่มเติมให้กับนักออกแบบให้สามารถออกแบบตรงใจความต้องการของลูกค้าและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภค โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกทั้ง 24 ผลงาน จะได้ร่วมเวิร์คช็อปใน Marketing Camp ภายใต้แนวคิด “Customer Centricity” และได้ปรึกษา ปรับแบบกับนักออกแบบจาก ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ของเอสซีจี อย่างใกล้ชิด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 พร้อมรับประกาศนียบัตรการอบรม จากคณะอาจารย์ด้านการตลาดของสถาบันชั้นนำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจลูกค้าและตลาดที่มีผลต่อการเลือกบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้นักศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้เปิดรับสมัครแล้วและชี้แจงโจทย์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานคณะกรรมการแบรนด์ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ของเอสซีจี ให้เกียรติเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ ซึ่งนอกเหนือจากการประกวด เอสซีจี ยังได้ให้ความรู้กับบุคคลากรในแวดวงบรรจุภัณฑ์ให้ก้าวทันกับตลาดในปัจจุบัน โดยได้จัดเสวนาพิเศษในงาน ส่งต่อแนวคิดด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการตลาด ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแท้จริง ในวันเปิดโครงการด้วย
การออกแบบ และการตลาด ต้องไปด้วยกัน
เริ่มต้นด้วยกิจกรรมไฮไลท์แรกกับการให้ความรู้ในหัวข้อ “Design Plus Marketing” โดย ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด (ภาษาอังกฤษ) Chulalongkorn Business School เจ้าของเพจ “อัจฉริยะการตลาด” บนเฟซบุ๊ก
ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเอง ดร.เอกก์ พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปส่องเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของละคร “บุพเพสันนิวาส” หรือกลุ่มศิลปินวัยรุ่นอย่าง “BNK48” ถึงสาเหตุที่โด่งดังได้เพราะอะไร คำตอบหนึ่งคือ เรื่องของ “อารมณ์” ซึ่งแนวคิดที่ว่าการตัดสินใจอะไรบางอย่างของลูกค้าเกิดขึ้นด้วยอารมณ์เหนือเหตุผลนั้นเป็นเรื่องจริง อย่างที่ Richard H.Thaler นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุดใช้เวลากว่าสามทศวรรษพิสูจน์เรื่องนี้
ดร.เอกก์ ชี้ว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ ต้องรู้ปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริง คนที่เข้าใจลูกค้ามากกว่าคือผู้ชนะ ดังนั้นการออกแบบที่เน้นการใช้งานหรือความสวยงาม แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พร้อมยกตัวอย่างของเครื่องซักผ้ายี่ห้อหนึ่งที่ทำฝาเปิดขนาดเล็กไว้ให้ผู้ใช้สามารถเติมผ้าที่เหลือค้างในตะกร้า หรือการออกแบบเครื่องซักผ้าเพิ่มเติมให้มีที่แช่ผ้าก่อนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแม่บ้านเอเชีย
ดร.เอกก์ ยังแนะนำถึงวิธีการหาความต้องการลูกค้าที่แท้จริงด้วยการไล่ถามแบบ 5-WHY เพราะลูกค้าจะไม่รู้ความต้องการของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในฐานะนักออกแบบและนักการตลาด ควรฟังเสียงบ่นและตีความออกมาให้ได้
บางโจทย์ลูกค้ามีหลายกลุ่ม เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงพนักงานหน้าร้าน และการขนส่งด้วย ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว รวมถึงให้เทคนิค “การจบให้สวย” เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าติดตรึงใจไปในระยะยาว
คนในวงการ ต่างบอก “จงฟังเสียงลูกค้า”
กิจกรรมถัดไป เป็นกิจกรรมเสวนาจับเข่าคุยกับบุคลากรจากสายงานหลากหลายรอบด้าน ได้แก่ คุณสมชนะ กังวารจิตต์ นายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย และนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับโลก คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ประธานที่ปรึกษา กาแฟดอยช้าง และคุณรัตนา โชคสุวัฒนสกุล Account Executive ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ของเอสซีจี ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการออกแบบที่ต้องควบคู่ไปกับการตลาด ทั้งฝั่งเจ้าของธุรกิจอย่างคุณพิษณุชัย ต้องทำงานกับนักออกแบบอย่างคุณสมชนะ โดยในองค์กรจริงจะมี AE อย่างคุณรัตนาคอยประสานงาน ภาพที่ทุกคนเห็นตรงกันคือต้องฟังเสียงลูกค้า เจ้าของธุรกิจต้องมีวางตำแหน่งสินค้าและมีกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน นักออกแบบต้องหมั่นฟังและสังเกตให้มาก ฝึกฝนตัวเองเป็นประจำเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ และ AE ในฐานะผู้ประสานงานควรทำการบ้าน ดูบุคลิกลูกค้าว่าเป็นอย่างไร หา reference ให้มากเพื่อเตรียมข้อมูลไปนำเสนอได้ถูกใจ
เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน - สี่โจทย์ ให้เลือกตามความถนัด
ในการแข่งขัน The Challenge - Packaging Design Contest 2018 รับสมัครนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า อายุไม่เกิน 25 ปี จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จะมาแบบเดี่ยวหรือเป็นทีมไม่เกินสองคนก็ได้ โดยจะแบ่งโจทย์การแข่งขันออกเป็นสี่โจทย์ รายละเอียดแตกต่างกันไป ผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งได้หลายผลงาน โดยจะมีการพิจารณาแยกไปตามโจทย์ ดังนี้
1. Merchandising Display for Beauty Product - ให้ออกแบบชั้นแสดงสินค้าทำจากกระดาษสำหรับวางขายสินค้าแบบตั้งพื้น ประเภทเครื่องสำอาง บนพื้นที่ไม่เกิน 1x1 เมตร ไม่จำกัดความสูง ผู้เข้าแข่งขันสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายของสินค้าได้อย่างอิสระ ภายใต้จุดขายบรรจุภัณฑ์ “ชั้นนี่แหละ ขายง่าย ขายได้ ขายดี”
2. Merchandising Display for Juice Product - ให้ออกแบบชั้นแสดงสินค้า ทำจากกระดาษสำหรับวางขายสินค้าแบบตั้งพื้น บนพื้นที่ไม่เกิน 1x1 เมตร ไม่จำกัดความสูง โดยสินค้าจะเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้สกัดในรูปแบบกล่องหรือขวดที่วางขายอยู่แล้วในตลาด ภายใต้จุดขายบรรจุภัณฑ์ “ชั้นนี่แหละ ขายง่าย ขายได้ ขายดี”
3. Food Packaging for Delivery - ให้ออกแบบบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารโดยตรงแบบชิ้นเดี่ยวและเซ็ท เพื่อการรับประทานและการจัดส่ง พร้อมซ้อนเรียงได้หลายชั้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเมืองที่ต้องการความรวดเร็ว ภายใต้จุดขายบรรจุภัณฑ์ “ไม่หก ไม่เยิ้ม จัดส่งและรับประทานได้สะดวก”
4. Eat Anywhere Packaging - ให้ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีที่ทำจากปลา เช่น ปูอัด ลูกชิ้น สำหรับขายในร้านสะดวกซื้อ เน้นความสะดวก รับประทานได้ทุกที่ กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงานตอนต้น ภายใต้จุดขายบรรจุภัณฑ์ “กินสะดวก กินง่าย กินได้ทุกที่”
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดในแต่ละโจทย์เพิ่มเติม พร้อมกรอกใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ thechallenge.scgpackaging.com หมดเขตส่งผลงานภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 และประกาศผล 24 ผลงานที่เข้ารอบในเว็บไซต์เดียวกัน ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561
เรียกได้ว่า The Challenge 2018 - Packaging Design Contest เป็นอีกหนึ่งประตูแห่งโอกาสสำหรับน้องๆ นิสิตนักศึกษา ที่เอสซีจี ได้เปิดทางให้น้อง ๆ เข้ามาร่วมประชันฝีมือกัน ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ แต่สิ่งที่จะได้รับกลับไปอย่างแน่นอน คือประสบการณ์และคำติชมจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจริงซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน นับเป็นการช่วยติดอาวุธก่อนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคตได้ดีทีเดียว