แอมแนสตี้ออกแถลงการณ์ 4 ปีการหายตัวไปของบิลลี่ ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรม
แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว ชี้ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี การหายตัวไปของพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ที่หายตัวไปจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่า พวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก “การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” แต่ได้ปล่อยตัวไปในวันนั้น อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แอมเนสตี้จึงเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยทำการสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่อย่างเป็นอิสระ เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยต้องกำหนดให้มีกรอบและสถาบันทางกฏหมาย เพื่อป้องกันและส่งเสริมการเยียวยากรณีการสูญหายโดยไม่สมัครใจและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยอมรับสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การสูญหายของบุคคลเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องและเป็นสาเหตุของความทุกข์อย่างยิ่ง
ที่ผ่านมาแอมเนสตี้พบว่าครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อหาตัวบิลลี่ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทางการยังแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนั้นขึ้น
แอมเนสตี้จึงเรียกร้องทางการไทยเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://prachatai.com/journal/2017/04/71078