หลายชีวิตที่อยู่ข้างหลัง...อีกครั้งที่ความรุนแรงฆ่าคนบริสุทธิ์
เหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มรถของ อส.ฮามัดรอรี เจ๊ะเด็ง เมื่อตี 2 กว่าของวันจันทร์ที่ 16 เม.ย.61 เป็นอีกครั้งที่ผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิต และครั้งนี้คือ 2 ชีวิตในคราวเดียว
หนึ่ง คือ อดีตพลทหาร อับดุลการิม บือซา เพื่อนของ อส.
อีกหนึ่ง คือ สาบูดิง นิเฮง อายุ 32 ปี คนขับรถสองแถวรับจ้างที่เคราะห์ร้ายขับสวนมาพอดีตอนเกิดเหตุการณ์ยิงปะทะกัน และรถของ อส.เสียหลักพุ่งชน สุดท้าย สาบูดิง เสียชีวิตเพราะคมกระสุน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย
"สามีทำงานคนเดียว วันๆ มีรายได้จากการขับรถสองแถวสายโคกโพธิ์-ปัตตานี วันละแค่ 200 บาท" เป็นคำบอกเล่าของ ฮาสุรา อายุซาอุ ภรรยาวัย 27 ปีของสาบูดิง
สภาพครอบครัวที่มีสามีเป็นเสาหลักทำงานคนเดียว มีมากมายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฝ่ายหญิงต้องอยู่บ้านดูแลลูกๆ และครอบครัวของสามี
อย่างสาบูดิงเอง ก็มีลูกอีก 2 คนที่อยู่ในวัยเรียน
"ฉันเป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ ทำอะไรไม่เป็น ได้แฟนทำงานคนเดียว เรามีลูกด้วยกัน 2 คน คนโต ด.ญ.ซาฟิลา นิเฮง อายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.2 ที่โรงเรียนในพื้นที่ ส่วนอีกคน ด.ญ.นิตัสนิม นิเฮง อายุ 2 ขวบ 8 เดือน" เป็นคำบอกเล่าของฮาสุรา ที่ไม่ต้องคาดเดาเลยว่าในวันที่สูญเสียสามีไปแบบนี้ ความลำบากขัดสนต้องมาเคาะประตูบ้านเธอแน่
ครอบครัวของสาบูดิงเอง ยังมีพี่น้องอีก 5 คน ที่น่าเศร้าก็คือแม่ของเขาต้องไปรับจ้างกรีดยางที่มาเลเซีย สะท้อนฐานะที่ยากลำบากของครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด
"พ่อของสามีเสียชีวิตนานแล้ว สามีมีพี่น้อง 5 คน แม่ไปรับจ้างกรีดยางที่มาเลย์ เขายังไม่ทราบเรื่องนี้เลย เรื่องที่ต้องสูญเสียลูกชายไป"
ชีวิตหาเช้ากินค่ำที่เป็นอยู่ก็ลำบากมากอยู่แล้ว แต่นี่ต้องเสียเสาหลักไปอีก ฮาสุราบอกอย่างเศร้าๆ ว่าหลังจากนี้ยังไม่รู้จะใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ ต่อไปอย่างไร
"เรามีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ ลูกๆ ก็ยังเรียนอยู่ เมื่อไม่มีสามีแล้วก็ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำงาน แต่ก็ยังไม่รู้จะทำอะไร ถ้ามีคนช่วยให้ได้ทำงานก็คงดี เพราะยังมีลูกอีก 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู"
ครอบครัวที่ไร้เสาหลักของฮาสุรา เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าซ้ำๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกความรุนแรงครอบงำมานานกว่า 14 ปี เป็นความรุนแรงที่ไม่เลือกข้าง เลือกฝ่าย ไม่จำกัดความสูญเสีย ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด จนเกิดคำถามว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธในดินแดนแห่งนี้ จริงๆ แล้วทำไปเพื่ออะไรกันแน่
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่บ้านควนลาแม ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุยิงถล่ม อส.ฮามัดรอรี มาอย่างยาวนาน มองว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์อีกต่อไป
"มันไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์แล้ว มันเป็นเรื่องของการเมือง ผลประโยชน์ ยาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย แต่มาอ้างศาสนาในการสร้างสถานการณ์ พวกเขาทำอะไรอยู่ สังคมในพื้นที่รู้ดี แต่พูดไม่ได้ เพราะกลัวถูกทำร้าย จึงต้องปิดหู ปิดตา ปิดปาก บอกไม่รู้ไม่เห็นอย่างเดียว"
เป็นคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ที่เกาะติดอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 48 และสามารถอธิบายสภาพจริงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
เขาเห็นว่าเรื่องราวร้ายๆ หลายเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะพลังทางสังคมไม่รวมตัวกันปฏิเสธอย่างจริงจัง
"อยากให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำศาสนา เอาจริงกับเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ชูป้าย แต่ขอให้ทำด้วยใจ แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนปฏิเสธกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น"
การทำงานของ "คนของรัฐ" ทุกหน่วย ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าหน้าที่รายนี้อยากสะท้อนให้ทุกฝ่ายได้เห็น
"สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ คือคนทำงานไม่ได้รับความร่วมมืออย่างแท้จริง คนสั่งมาจากไหนไม่รู้ มาเอาผลงาน ได้ตำแหน่งก็ย้ายออกไป สั่งการแบบผิดๆ ทุกวันนี้หน่วยราชการที่รับผิดชอบเข้าถึงพื้นที่จริงๆ บ้างไหม เข้าถึงสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านบ้างหรือเปล่า เพราะฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเขาอยู่ตรงนี้ เข้าถึงตรงนี้ ถ้าฝ่ายรัฐไม่ดูแลอย่างใกล้ชิดจริงจัง ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข"
ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานมานานกว่า 13 ปี บอกว่าเงื่อนไขสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ คือทัศนคติของเด็กและเยาวชน
"ถ้าเด็กในพื้นที่ถูกสอนไปในทางที่ถูก ปัญหาก็ไม่ถึงขนาดนี้ อยากเรียกร้องขอให้ทุกฝ่าย ผู้นำทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจ เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความสงบให้ได้เสียที"
เขายกตัวอย่างโครงการพื้นๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่แม้หลักการดี แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับถูกบิดเข้าหาผลประโยชน์
"คือรัฐต้องดูแลคนที่มีใจต้องการทำงานจริงๆ เขาจะได้มีเงินเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เขาจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ให้คนทำงานจริงได้ต่อสู้กับกลุ่มขบวนการ แต่ ทุกวันนี้คนที่ต้องการอยากทำงานจริงกลับไม่ได้ทำ รัฐกลับรับคนขี้ยา หรือแนวร่วมที่เข้ามาหาประโยชน์ แล้วให้เขาได้ทำงานแทน ทำให้คนที่อยากทำงานจริงไม่ได้ทำ แถมในระดับสั่งการก็สั่งมั่วๆ ไม่รู้ข้อมูล และอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงด้วย"
เขาตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า จะต้องให้มีคนตายอีกกี่คนถึงจะเพียงพอ ถึงจะทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันออกมาต่อต้านความรุนแรงได้ ถึงจะทำให้องค์กรหลายๆ องค์กรร่วมประณามความรุนแรงอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ประณามแบบเลือกข้าง เลือกฝั่ง เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง
ดูเหมือนคำตอบของคำถามเหล่านี้จะกระซิบแผ่วๆ อยู่ในสายลม...
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวของคนขับรถสองแถว ภรรยา 1 ลูกอีก 2
2 เพื่อนบ้านไปรอร่วมพิธีศพที่หน้าบ้านของสาบูดิง
3 เคลื่อนศพสาบูดิงไปกุโบร์
อ่านประกอบ :
ยิงถล่ม อส.โคกโพธิ์ เพื่อน-คนขับรถสองแถวรับเคราะห์ดับ 2
เปิดตัว "อส.กระดูกเหล็ก" ถูกซุ่มยิง-ลอบบึ้ม 4 ครั้งยังรอดมาได้!