สถิติ 5 วันสงกรานต์เสียชีวิต 323 ราย จังหวัดตายเป็นศูนย์เหลือ 7 จังหวัด
เปิดสถิติสงกรานต์ 5 วัน เกิดอุบัติเหตุ 3,001 ครั้ง ดับ 323 ราย เจ็บ 3,140 คน จังหวัดตายเป็นศูนย์ลดลงเหลือ 7 จังหวัด โคราชยังรั้งแชมป์ตายสูงสุด เชียงใหม่เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บสูงสุด ศปถ. กำชับอำนวยการเดินทางสายหลักรองรับคนกลับ กทม.
วันนี้ (16 เม.ย.) นายดำรง ลิมาภิรักษ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ห้าของช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ พบเกิดอุบัติเหตุ 552 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 69 ราย บาดเจ็บ 589 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ 42.03% ขับรถเร็ว 25.72% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จักรยานยนต์ 78.53% ส่วนใหญ่เกิดในทางตรง 65.04% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01 - 20.00 น.
นายดำรง กล่าวว่า จากการตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,354 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 886,202 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 178,191 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 51,488 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,049 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 34 ครั้ง จังหวัดที่เสียชีวิตสูงสุด คือ ชลบุรี จำนวน 6 ราย บาดเจ็บสูงสุดคือ เชียงใหม่ จำนวน 27 คน
นายดำรง กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,001 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสม 323 ราย บาดเจ็บสะสม 3,140 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ มี 7 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย หนองบัวลำภู และ อ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือ เชียงใหม่ จำนวน 119 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 19 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 136 คน
“วันที่ 16 เม.ย. เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ และมุ่งสู่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถมาก ศปถ. จึงได้ประสานให้จังหวัดเพิ่มจุดตรวจและจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลัก เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรและเปิดช่องทางพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรแออัด นอกจากนี้ ให้จังหวัดร่วมกับขนส่งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมบริการรถโดยสารประจำทางให้เพียงพอ ไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง เข้มงวดการตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และพนักงานขับรถ รวมถึงกวดขันไม่ให้มีรถเสริมที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด” นายดำรง กล่าว