นี่หรือประเทศไทย...เสียงจากผู้เห็นต่างร่วมพัฒนาชาติไทยที่บ้านสันติสุข
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเปิดทางให้ "ผู้หลงผิด" กลับใจเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย พัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ ด้วยเงื่อนไขพิเศษสุดจากไอเดียของแม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน นั่นก็คือการปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเกือบ 100%
นั่นจึงส่งผลให้ชาวไทยที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ และหลบหนีไปพำนักอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับติดตัว ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อกลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวเป็นจำนวนมาก
แต่สภาพทั่วไปของคนไทยเหล่านั้น พวกเขาหลบหนีจากแผ่นดินเกิดไปนานกว่า 10 ปี แถมยังมีลูกหลานพ่วงมาอีก ซ้ำยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานทางราชการที่บ่งบอกว่าเป็น "คนไทย" และ "ถือสัญชาติไทย" จึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ต้องหาทางแก้ไข
จุดเปลี่ยนของปัญหานี้ คือการตั้ง "คณะทำงานและศูนย์พิสูจน์สัญชาติ" ขึ้นมา เพื่อคัดแยกบุคคลตามคุณสมบัติที่ตั้งไว้ โดยดำเนินการกันอย่างรอบคอบ รัดกุม รวมถึงตรวจสอบเรื่องคดีความที่เคยก่อเอาไว้ ก่อนจะให้การรับรองและนำไปสู่การออกบัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นจึงประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับตัวไปดำเนินการต่อเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการศึกษาและอาชีพ
ที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี พื้นที่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอใช้เป็นพื้นที่สำหรับฝึกอบรม "คนกลับบ้าน" โดยเรียกชื่อใหม่ว่า "บ้านสันติสุข"
"ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ที่จะเดินเข้าสู่ "บ้านสันติสุข" ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อรับการอบรมความรู้สาขาต่างๆ จากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ทหารพรานจะมาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วน ศอ.บต.สนับสนุนงบช่วยเหลือให้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้คนในบ้านสันติสุขไปบริหารจัดการกันเอง
ด้วยความที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน วัยรุ่น และเด็กเล็ก การฝึกอบรมจึงมีความหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือการศึกษา ซึ่งภาครัฐอยากให้พวกเขารู้และเข้าใจภาษาไทย อย่างน้อยก็เขียนชื่อสกุลของตัวเองได้ก็ยังดี
คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ที่นี่นานหลายสัปดาห์แล้ว ทำให้เริ่มจะปรับตัวได้ สิ่งใดที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ก็จะให้ความสนใจ อย่างเช่น การสอนทำน้ำหมัก หรือ EM ของวิทยากรจากทหารพราน เพื่อนำไปรดแปลงเกษตรให้พืชผลงอกงาม และป้องกันศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ นอกจากสอนแล้ว ยังให้ลงมือทำจริงๆ ด้วย ระหว่างการเรียนการสอนและการอบรม ภาษาที่ใช้สื่อสารจะมีทั้งภาษาไทยและภาษยาวีปะปนกัน
นอกจากนี้ ยังมีการสอนปลูกผักสวนครัว และพืชระยะสั้นที่ให้ผลเร็ว โดยเน้นที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ ใครสนใจแบบไหน ก็สามารถขอเมล็ดพันธุ์จากเจ้าหน้าที่ไปปลูกรอบๆ บ้านพักได้ เมื่อผลผลิตโตขึ้น เจ้าหน้าที่จะหาตลาดให้ขาย มีรายได้เพิ่มเข้ามา
เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในบ้านสันติสุขบ เล่าให้ฟังว่า นอกจากเรื่องการเกษตรแล้ว เด็กวัยรุ่นมักสนใจอาชีพช่างเพื่อไปต่อยอดในอนาคต ส่วนบางคนก็สนใจการค้าขาย ก็ต้องสอนเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย
เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่พำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านกับครอบครัว ไม่เคยแม้แต่จะก้าวเท้าเข้ามาสัมผัสแผ่นดินไทย แต่วันนี้ติดสอยห้อยตามพ่อที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" และมาอาศัยอยู่ที่ "บ้านสันติสุข" เขาเผยถึงความตั้งใจว่า อยากรู้เรื่องการลงทุนและการค้าขาย
"ถ้ามาอยู่ที่นี่ คิดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ ก็อยากจะค้าขาย เมื่อตั้งใจจะค้าขายก็เลยอยากรู้เรื่องตัวเลข รายรับรายจ่าย"
ส่วนความรู้สึกที่มีต่อแผ่นดินไทย เขาบอกว่า..."นี่หรือประเทศไทยที่พ่อบอกว่าคือบ้านของผม ต้อนรับดี ช่วยทุกทางเลย นี่คือสิ่งที่อยากมาตลอด วันนี้พอได้มาอยู่ก็ภูมิใจว่าคนไทยและพี่น้องชาวไทยยังยินดีต้อนรับพวกผมที่เป็นคนไทย ผมซึ้งตรงน้ำใจ แม้ไม่เคยเจอหน้ามาก่อน ก็อ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ"
นี่คือความรู้สึกของเด็กหนุ่มวัยฉกรรจ์ ส่วนกิจกรรมของผู้หญิง ส่วนใหญ่จะรวมตัวกันไปคัดแยกปลากะตัก ซึ่งมีคนจากนอกบ้านสันติสุขมาจ้างให้แกะหัวและฉีกตัวปลาแบ่งครึ่ง โดยให้ราคา 10 กิโลกรัม 40 บาท แรกๆ อาจทำได้ไม่มาก เพราะไม่คุ้นชิน แต่พอทำไปเรื่อยๆ ปริมาณก็เพิ่มขึ้น รายได้ก็เพิ่มตาม นอกจากนี้ หลายคนยังสนใจการทำสหกรณ์ร้านค้า ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้รับเงินปันผลได้อีกทาง
ขณะที่เด็กๆ จะเน้นเรียนหนังสือ ออกกำลังกาย โดยทุกเช้าจะมีเจ้าหน้าที่พาไปส่งที่โรงเรียนบ้านท่าสู ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน เรียนประมาณครึ่งวันก็กลับมาทบทวนต่อที่บ้านสันติสุข โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานรับหน้าที่สอนทบทวน หรือบางครั้งคุณครูก็จะตามมาสอนเพิ่มเติมให้ หลายคนเริ่มผสมสระอ่านออกเป็นคำได้แล้ว แต่อนาคตจะได้เข้าเรียนเหมือนเด็กทั่วไปหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ
ครูยา วามะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าสู ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี อธิบายปัญหาว่า การจะไปเรียนโรงเรียนทั่วไปในสายสามัญได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างน้อยเด็กต้องมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขณะที่โรงเรียนแต่ละแห่งก็มีขั้นตอนการรับเด็กของตนเอง ต้องมีบันทึกเวลาเรียนด้วย ฉะนั้นถ้ามาเรียนแค่ 2-3 เดือน จะให้ส่งต่อก็ลำบาก เพราะเดี๋ยวนี้ต้องบันทึก ต้องรายงานระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย
"ถ้าเรียน 2-3 เดือน แล้วส่งไปเรียนกับโรงเรียนรัฐบาลเลยคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีหลักฐาน เลข 13 หลัก ฉะนั้นต้องให้เด็กเรียนไปอีกสักพักหนึ่ง ดูความรู้สัก 6 เดือน เราก็สามารถที่จะเทียบได้ เรื่องเลข 13 หลัก็มีปัญหา เท่าที่ทราบตอนนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีเด็ก 2-3 คนเท่านั้นที่มีเลข 13 หลัก นอกนั้นยังเป็นรหัสอยู่ ผมก็ยังไม่ได้ข้อมูลตรงนี้ชัดเจน แต่เราก็รับที่จะสอนเด็กไปก่อน เรื่องหลักฐานค่อยตามมาทีหลัง" เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าสู
แม้ว่าโครงการ "พาคนกลับบ้าน" จะถูกโจมตีจาก "กลุ่มมารา ปาตานี" ที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย แต่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะมั่นใจว่ามาถูกทาง และเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะทำให้พื้นที่ปลายด้ามขวานมีสันติสุขเหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ
แต่ความสำเร็จ ณ วันนี้ ต้องรอดูในระยะยาว และต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวของพวกเขาต่อไป เพื่อไม่ให้กลับไปหลงผิด หรือหวนกลับสู่เส้นทางสายเดิม
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพมุมสูงของ "บ้านสันติสุข" ในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี
เรื่อง/ภาพ : อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหาร ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22