รัฐบาลหนุน'กองทุน LTC' รุกดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ
สปสช. เผย 'กองทุน LTC ของขวัญวันผู้สูงอายุแห่งชาติ' รัฐบาลจัดงบหนุนต่อเนื่อง พร้อมเผยผลดำเนินงาน 2 ปี ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแล้วกว่า 1.7 แสนคนรวม กทม. มี อปท.ร่วมจัดระบบกว่า 4,274 แห่ง คาดปี 61 มี อปท.ร่วมจัดระบบเพิ่มเติมอีก 841 แห่ง ระบุเป็นมาตรการยั่งยืนรองรับสังคมผู้สูงอายุ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลานตระหนักและเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ และด้วยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทั้งมีแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งรัดการจัดระบบเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศ เพราะด้วยศักยภาพของครัวเรือนในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันที่ถดถอย เป็นผลมาจากสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งขนาดครัวเรือนที่เล็กลงและการเคลื่อนย้ายของวัยแรงงานจากชนบทสู่เมืองมากขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสุขภาพในผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง) จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่ถูกทอดทิ้งและได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อจัด “กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” (Long term care: LTC) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้นโยบายประสบผลสำเร็จ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในช่วง 3 ปี ของการดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 600 ล้านบาท ในปี 2559 เป็นจำนวน 900 ล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มเป็นจำนวน 1,159 ล้านบาท ในปี 2561 นี้ ส่งผลให้มีการขยายจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลภายใต้ระบบเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากจำนวน 100,000 คน ในปี 2559 เป็นจำนวน 150,000 คน ในปี 2560 และเพิ่มเป็นจำนวน 193,200 คน ในปี 2561
ด้วยระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ยังประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาจึงมี อปท.เข้าร่วมจัดระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559-2560 มี อปท.เข้าร่วม 4,274 แห่ง และในปี 2561 นี้ คาดว่าจะมี อปท.เข้าร่วมเพิ่มเติมอีก 841 แห่ง ซึ่งจะทำให้มี อปท.ที่ร่วมจัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 5,115 แห่ง ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยดำเนินการร่วมกับทีมหมอครอบครัว หน่วยบริการและเครือข่ายบริการปฐมภูมิในพื้นที่ นอกจากนี้ทางกรุงเทพมหานครยังได้เข้าร่วมจัดระบบนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ กทม.เข้าถึงการดูแลที่ดีเช่นกัน
“การจัดตั้งกองทุน LTC นับเป็นของขวัญที่ดีในวันผู้สูงอายุแห่งชาติที่รัฐบาลได้มอบให้กับประชาชนและได้สนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงทำผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวน 175,378 คน (รวม กทม.) ได้รับการดูแลที่ดี แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาล รวมทั้งการลดความแออัดในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ ซึ่งในอนาคตคงจะมีการขยายระบบให้ครอบคลุมดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงยิ่งขึ้น วันนี้กองทุน LTC จึงเป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ยั่งยืน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://empros.gr/2018/03/met-empodion-voitheia-sto-spiti-stous-oreinous-oikismous/