8 ปีกรือเซะ (2) เสียงจากญาติผู้สูญเสียในกระแสเยียวยา
เวียนมาบรรจบครบ 8 ปีแล้วสำหรับ "เหตุการณ์กรือเซะ" ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงเมื่อเช้ามืดของวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมกว่าร้อยคนใช้มีด กริช และไม้เป็นอาวุธบุกโจมตีป้อมจุดตรวจ 10 แห่งพร้อมกันในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงตอบโต้จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 108 ราย นับเป็นเหตุร้ายที่ก่อความสูญเสียมากที่สุดในรอบ 8 ปีไฟใต้
อย่างไรก็ดี คนทั่วไปมักจดจำได้เฉพาะเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีจุดตรวจบ้านกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี บางส่วนได้วิ่งหลบหนีเข้าไป และถูกเจ้าหน้าที่ทหารปิดล้อมเอาไว้ กระทั่งมีการใช้อาวุธหนักยิงถล่มจนคนที่อยู่ภายในต้องสังเวยชีวิตถึง 32 คน
ป้อมจุดตรวจที่ถูกโจมตี นอกจากที่บ้านกรือเซะแล้ว ยังมีกระจายอยู่ในพื้นที่ จ.ยะลา 6 จุด ได้แก่
1.จุดตรวจบ้านเนียง ต.ลิดล อ.เมือง ขึ้นกับ สภ.ลำใหม่ อ.เมืองยะลา
2.ฐานปฏิบัติการของทหาร กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน 4) ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา
3.สภ.กิ่ง อ.กรงปินัง (ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอแล้ว)
4.ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4202 บ้านกาจะลากี หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา
5.ฐานปฏิบัติการชุดมวลชนสัมพันธ์ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 บ้านบาโงย ต.โกตาบารู อ.รามัน
6.ชุดสันตินิมิตรที่ 403 บ้านบัวทอง หมู่ 2 ต.บ้านแหร อ.ธารโต
พื้นที่ จ.ปัตตานี มี 3 จุด รวมที่กรือเซะ ได้แก่
1.จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง
2.จุดตรวจเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก
3.สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
และพื้นที่ จ.สงขลา มี 1 จุด ได้แก่ จุดตรวจบริการประชาชน บริเวณตลาดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
หลังเกิดเหตุได้มีการทำสำนวนไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในทุกพื้นที่เกิดเหตุ เนื่องจากเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ทว่าหลายคดีกลับไม่มีความคืบหน้า หลายคดีอัยการทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่มีการสอบสวนจากคณะกรรมการอิสระที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งขึ้นในสมัยนั้น สรุปว่าเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ...เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการเกินกว่าเหตุ!
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวของผู้สูญเสียส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า หลายพื้นที่ เช่น ที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีผู้ชายในหมู่บ้านเสียชีวิตไปถึง 9 คนในคราวเดียว ภรรยาของพวกเธอเหล่านั้นจึงต้องต่อสู้ชีวิตด้วยความลำบากยากแค้น เพราะต้องเสียผู้นำครอบครัวไป ในขณะที่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ก็ไม่ได้รับรู้ เพราะแทบไม่มีคดีใดขึ้นพิสูจน์ความจริงบนชั้นศาล
ยังดีที่ปีนี้มีข่าวที่พอจะเป็นความหวังอยู่บ้าง คือกรณีที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะก็อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาด้วย
ทว่าในความรู้สึกของพวกเขา เงินอาจไม่สำคัญเท่าความเป็นธรรมและข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่หลายคนยังเฝ้ารอ...
คอลีเยาะ : อย่าให้คนตายเดือดร้อน คนอยู่ถูกประณาม
น.ส.คอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียบิดาคือ นายมะแอ หะหลี จากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และเพิ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานทำรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กล่าวว่า ถึงวันนี้ครอบครัวสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ไม่ได้ลำบากหรือรู้สึกแย่เหมือนเมื่อก่อน การจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากไม่ได้ต้องการตอกย้ำหรือสะกิดแผลของฝ่ายใด แต่เป็นการทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพ่อของเธอเอง
ส่วนประเด็นเรื่องเงินเยียวยาที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ คอลีเยาะ บอกว่า ได้ติดตามข่าวอยู่บ้าง แต่ยังมีคำถามทั้งจากตัวเองและครอบครัวผู้สูญเสียคนอื่นๆ ว่าในแง่ความเป็นไปได้จะมีมากน้อยแค่ไหน จึงไม่ได้คาดหวังอะไรกันมากมาย
"จำนวนเงินตามที่เป็นข่าว 7.5 ล้านบาทก็เยอะนะ ล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น ล่าสุดทราบมาว่าผ่านมติ ครม.แล้ว แต่มีบางฝ่ายตั้งคำถามว่ามีกฎหมายรองรับการจ่ายเงินหรือไม่ และจะเอาเงินจากที่ไหนมาให้ สรุปก็คือมันยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง ญาติผู้สูญเสียหลายคนไม่ได้ค่อยติดตามข่าวสาร รู้เพียงแต่ว่ารัฐจะจ่ายให้แน่นอน หลายคนก็เฝ้ารอ มีความหวัง ขณะที่อีกหลายคนเริ่มจะทำใจ เบื่อกับกระแสโจมตีต่างๆ นานาว่าคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไม่สมควรได้รับ เพราะไปโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน"
คอลีเยาะ ในฐานะที่สูญเสียบิดาซึ่งเป็นชายสูงวัยในมัสยิดกรือเซะ เห็นว่า การที่มีหลายเสียงออกมาพูดทำนองว่าคนที่เสียชีวิตทั้งหมดไปก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน จึงไม่ควรได้รับเงินเยียวยานั้น ได้กลายเป็นการสะกิดแผลของครอบครัวผู้เสียชีวิตให้เจ็บปวดขึ้นมาอีก
"เรื่องที่เกิดขึ้นยังเป็นข้อกังขา ไม่มีใครรู้ความจริงว่าคนที่อยู่ในมัสยิดเป็นกลุ่มที่โจมตีป้อมจุดตรวจทุกคนหรือไม่ เพราะในมัสยิดอาจมีคนที่ไม่รู้เรื่องรวมอยู่ด้วยก็ได้ เนื่องจากเป็นสถานที่ละหมาด ฉะนั้นการสรุปว่าคนที่ตายไปโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อนจึงไม่มีความเป็นธรรม และไม่สามารถสรุปแบบนั้นได้เพราะคดีไม่มีความคืบหน้าเลย"
"ประเด็นที่อยากเรียกร้องตอนนี้คือ 1.ทำอย่างไรก็ได้อย่าให้คนที่เสียชีวิตไปแล้วต้องมาเดือดร้อนทรมานอีก และ 2.อย่าให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องถูกสังคมประณาม ซึ่งเรื่องนี้น่าจะสำคัญกว่าเงิน" คอลีเยาะ กล่าว
รอซียะห์ : อย่าให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องทะเลาะกันเอง
รอซียะห์ บาซา ญาติของผู้เสียชีวิตจากบ้านส้ม ต.ควนโนรี ในเหตุการณ์กรือเซะ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์และยอดเงินเยียวยามากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าจะต้องถูกสังคมตั้งคำถามและบางส่วนอาจไม่พอใจหากการเยียวยาไม่ทั่วถึงครอบคลุม
"กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่กรณีกรือเซะ ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 มีผู้เสียชีวิต 85 ราย) และไอร์ปาแย (เหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 มีผู้เสียชีวิต 10 ราย) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่โดนกระทำจากเหตุร้ายรายวันด้วย ทั้งครู ตำรวจ ทหาร และข้าราชการหน่วยอื่น ซึ่งพวกเขาก็สูญเสียเหมือนกัน"
รอซียะห์ ย้ำว่า รัฐต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาค มิฉะนั้นจะกลายเป็นการสร้างปัญหาตามมาจากการเยียวยาอย่างแน่นอน
"อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียความรู้สึก ไม่สบายใจ อย่าให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องมาโจมตีกันเอง รัฐจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้บาดแผลที่เจ็บปวดและตกค้างมาหลายปีของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ต้องมาถูกสะกิดครั้งแล้วครั้งเล่ากับคำโจมตีจากสังคม เพราะทุกคนมีความทุกข์ มีภาระเหมือนๆ กัน ที่สำคัญไม่อยากเห็นการถูกเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอีกแล้ว" รอซะยะห์ กล่าว
ซีตีนอร์ : คนตายจบ แต่คนอยู่ยังต้องทรมาน
ซีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ อายุ 40 ปี ซึ่งสามีของนางคือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกจับกุมดำเนินคดีจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 และถูกตัดสินประหารชีวิต กล่าวว่า สามีทำงานวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถูกจับกุมหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี หนึ่งในจุดที่มีการโจมตีป้อมจุดตรวจ ปัจจุบันคดีอยู่ในศาลฎีกา โดยศาลล่าง 2 ศาล (ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์) พิพากษาประหารชีวิต
"สามีเล่าว่าในวันเกิดเหตุมีคนจ้างให้ขี่รถไปส่งที่ สภ.แม่ลาน โดยไม่รู้ว่ากำลังจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น สามีก็ไปจนตัวเองถูกยิงได้รับบาดเจ็บ สุดท้ายกลับถูกดำเนินคดี ทุกวันนี้ติดคุกอยู่ที่บางขวางในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวฉันเองเชื่อว่าสามีไม่ได้ทำ และสามีก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง เราเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา หาเช้ากินค่ำ การจะไปแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องไกลมาก ฉันเชื่อในความบริสุทธิ์ของสามี"
ซีตีนอร์ ระบายความรู้สึกด้วยว่า คนที่ก่อเหตุและเสียชีวิตไปแล้วก็คือจบ แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ และต้องถูกดำเนินคดี ถือเป็นเรื่องทรมาน ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังก็ต้องลำบาก ต้องเลี้ยงลูก 5 คนตามลำพัง ต้องดิ้นรนทุกอย่างเมื่อขาดเสาหลักของครอบครัวไป ถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก
ซีตีนอร์ มีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน คนโตอายุ 19 ปี คนสุดท้องอายุ 12 ปี ปัจจุบันนางมีรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวจากการรับจ้างกรีดยางและทำนาเท่านั้น ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ขณะที่ลูกชายคนโตตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อ เพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งเสีย ยังดีที่ลูกอีก 2 คนมีผู้อุปการะมอบทุนการศึกษาให้ ทำให้ภาระลดลงไปบ้าง
ส่วนเรื่องเงินเยียวยานั้น นางไม่หวังว่าจะได้ เพราะสามีถูกจับในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่
"รัฐอย่าคิดว่าจ่ายแล้วจะจบ เพราะมันไม่จบง่ายๆ ลูกของผู้เสียชีวิตยังอยู่ เหตุเกิดเมื่อตอนที่เขายังเด็ก เขาอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาย่อมรับรู้ในสิ่งที่เกิดกับครอบครัวของเขา จึงมีโอกาสสูงมากที่เด็กๆ เหล่านั้นจะโกรธแค้นรัฐ แล้วสถานการณ์จะสงบได้อย่างไร โดยเฉพาะความจริงของเหตุการณ์ก็ยังไม่ชัดเจน" ซีตีนอร์ กล่าว
เหตุการณ์กรือเซะผ่านมาแล้ว 8 ปี แต่ก็ยังมีผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อีกมากเหลือเกิน...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มัสยิดกรือเซะ
2 คอลีเยาะ หะหลี