คสช.รื้อบอร์ดรฟท. ดึง‘กุลิศ’อธิบดีกรมศุลนั่งประธาน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 10/2560 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชุดใหม่
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังจากพบว่าการบริหารงานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟฯยังไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีกรรมการบอร์ดบางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และพ้นสภาพจากการลาออก คสช.จึงแก้ไขคำสั่งเดิม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ 9 คน ประกอบด้วย
1.นายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธาน แทนคำสั่งเดิมที่ให้นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ 2.นายวินทังสุพานิช 3.น.อ.ธนากร พีระพันธุ์ 4.นายพชร อนันตศิลป์ 5.น.ส.เพ็ญจันทร์ จริเกษม 6.นายวรวุฒิ มาลา 7.นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา 8.นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ และ 9.นายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์
“คณะกรรมการชุดใหม่มีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่รักษาการว่าร.ฟ.ท. (แทน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์) ก่อนจะนำเสนอครม.และคสช.เพื่อรับทราบต่อไป” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง (ภูเก็ต)วงเงิน 13,000 ล้านบาท แหล่งข่าวจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คณะผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม(คชก.) แล้ว และหลังจากนี้จะเสนอเรื่องต่อไปยังที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.),สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป
“จะเปิดประมูลภายในปีนี้ตามแผนเดิมได้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สผ.ว่าจะใช้เวลาพิจารณามากน้อยเท่าใด เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้าในขั้นตอนดำเนินการหลายด้านทั้งร่างเอกสารประกวดราคาและรายงาน EIA จึงทำให้ต้องล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้แม้จะเป็นโครงการที่เป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจรเมืองภูเก็ต” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้หลังจากที่ทางกระทรวงคมนาคม ได้มีการสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กลับไปทบทวนความคุ้มค่าและความเสี่ยงในการก่อสร้างโครงการและได้ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าเพียงพอที่จะดำเนินประกวดราคาและก่อสร้างต่อไป
ทั้งนี้ หากรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะมีการเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน(Market Sounding) ว่ามีความสนใจลงทุนโครงการมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะงานก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขานาคเกิดระยะทาง 1.85 กิโลเมตร ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากจนทำให้เอกชนมองว่าต้องแบกรับต้นทุนที่สูงจนเสี่ยงต่อความไม่คุ้มค่าในการดำเนินโครงการ ซึ่งจะต้องให้ทางกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางว่าจะดำเนินการร่างเอกสารประกวดราคาไปตามขั้นตอนหรือเสนอขอเปลี่ยนมือให้หน่วยงานอย่างกรมทางหลวง(ทล.)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเฉพาะงานอุโมงค์โดยใช้งบประมาณของภาครัฐแทนเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตามตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2567 และจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารอัตรา 15-240 บาท