บัตรรถไฟฟ้าฟรีสะดุด สนข.เชื่อมระบบบัตรแมงมุมกับบัตรคนจนเสร็จไม่ทันเป้ามี.ค.
กรมบัญชีกลางชี้คนมีรายได้น้อย 1.3 ล้านราย ยังต้องรอขึ้นรถต่อไฟฟ้าฟรีต่อไป หลังคมนาคมยังทำระบบบัตรแมงมุมเชื่อมไม่เสร็จ
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่เปิดใช้บริการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนของบัตรแมงมุมได้ตามแผน เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ของกระทรวงคมนาคม ยังไม่สามารถเชื่อมระบบการใช้งานบัตรแมงมุมกับระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยกว่า 1.3 ล้านคน ที่อยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ยังไม่สามารถใช้บริการขึ้นรถไฟฟ้าทุกเส้นทางทั้ง กทม. และปริมณฑลได้
"ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแบบแมงมุมจะใช้รถไฟฟ้าได้เมื่อไหร่ เพราะ สนข.ยังทำข้อมูลเชื่อมหลังบ้านกับบัตรสวัสดิการไม่เสร็จ ซึ่งเดิมที สนข.แจ้งว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือภายในเดือน มี.ค. 2561 นับจากเดือน ต.ค. 2560 จะทำเสร็จ แต่ขณะนี้เกินกำหนดแล้ว ดังนั้นต้องรอทาง สนข.ว่าจะทำเสร็จเมื่อไหร่" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว
ด้านการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือรถเมล์ ผู้มีรายได้น้อยยังใช้บริการได้อยู่แม้ระบบบัตรแมงมุมจะยังใช้ไม่ได้ เนื่องจากทาง ขสมก.อนุโลมให้ผู้มีสิทธิโชว์บัตรได้ แต่ ขสมก.ไม่สามารถหักเงินจากค่าบริการกับกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเงื่อนไขระบุว่าจะหักเงินได้ต่อเมื่อมีการทำข้อมูลเชื่อมระบบออนไลน์กับบัตรแมงมุมแล้วเท่านั้น ดังนั้นเมื่อระบบแมงมุมยังไม่เสร็จ ขสมก.ไม่สามารถมาหักเงินจากประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากได้ ทำให้ปัจจุบันวงเงินสำหรับใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่ให้เฉลี่ยเดือนละ 500 บาท/ราย ยังคงไม่ถูกเบิกจ่ายออกไป
น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการเดินทางด้วยรถไฟ และรถโดยสารของบริษัทขนส่งอย่างละ 500 บาท/เดือน ยังคงใช้งานได้ปกติ เนื่องจากไม่ได้ใช้ผ่านระบบบัตรแมงมุม แต่ใช้เครื่องอีดีซี หักเงินแทน ซึ่งพบว่ามีคนมาใช้บริการเฉลี่ย 3,000 ล้านบาท/เดือน โดยการใช้บริการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าเป็นบริการที่ นิยมมากสุดถึง 90% ของการใช้จ่าย ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คาดจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 4,000 ล้านบาทได้ เนื่องจากได้ปรับเพิ่มวงเงินให้กับผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรคนจนระยะ 2 โดยให้วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐได้อีกรายละ 100-200 บาท/เดือน จากเดิมได้รับเดือนละ 200-300 บาท เพิ่มเป็น 300-500 บาท
"ยอดการซื้อสินค้ามีเข้ามาเยอะขึ้น เห็นได้จากยอดใช้จ่ายช่วงวันแรกของวันที่ 1 เม.ย. มีรายการซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้าเกิน 2.1 ล้านครั้ง วงเงิน 768 ล้านบาท ขณะที่การใช้บริการรถทัวร์ บขส.ก็มีถึง 1,615 ครั้ง วงเงิน 625,435 บาท ก๊าซหุงต้ม 10,717 ครั้ง วงเงิน 481,319 บาท และรถไฟใช้ 9,009 ครั้ง วงเงิน 1.26 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์" น.ส. สุทธิรัตน์ กล่าว
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำบัตรสวัสดิการแบบบัตรแมงมุม แต่ไม่สามารถใช้งานได้นั้น เชื่อว่าบัตรสวัสดิการแบบแมงมุมยังใช้งานได้ดีอยู่และไม่เป็นการสิ้นเปลือง เนื่องจากตัวบัตรสวัสดิการและชิปบัตรแมงมุมจะมีอายุใช้งานถึง 5 ปี