จิ๋วแต่แจ๋ว 'วีรษา' แบรนด์ไทยรักษ์โลก ปั๊ม 'กาบหมาก' ที่ร่วงหล่น ขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์
"เขามองว่า ยังไงจานกาบหมากก็สู้โฟมไม่ได้ นี่คือผู้จัดการระดับสูงของธนาคารหนึ่งตอบเรากลับมา ทั้งๆ ที่ยุคนี้มองเรื่องสิ่งแวดล้อมกันแล้ว ถามว่า ทำไมท่านไม่มองตรงนี้ เราผลิตจานกาบหมาก ได้คนเดียวหรือไม่ ไม่ใช่นะ สิ่งแวดล้อมก็ได้ด้วย คุณใช้จานเราไม่ต้องไปสร้างโรงงานกำจัดขยะหลักร้อยล้าน”
ปี 2538 สุมาลี ภิญโญ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตก งานประเพณีชื่อดัง “กินเข่าค่ำ” ของอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา งานประเพณีแบบภาคอีสานขันโตกนั่งกับพื้นช่วงค่ำๆ ท่ามกลางบรรยากาศแบบสมัยโบราณ
สมัยนั้น ภาชนะบรรจุอาหารส่วนใหญ่ยังเป็น “โฟม” ซึ่งสวนทางกับธีมงานที่เป็นแบบย้อนยุค ในความคิดของ สุมาลี ได้พยายามเปลี่ยนภาชนะจากโฟมที่สุดท้ายกลายเป็นขยะกำจัดยาก มาใช้จาน ชาม ของจริงแทน แต่แล้วเมื่อเสร็จงานจานชามเหล่านั้นเหลือให้เธอเก็บกลับบ้านไม่ถึงครึ่งจากจำนวนที่ขนไป
แม้ว่า ปีต่อมาเธอจะเปลี่ยนไปใช้กระทงใบตอง เพราะมองว่า ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ก็พบว่า ใบตอง มีข้อจำกัดที่บรรจุอาหารได้น้อย และฉีกขาดง่าย
"ใส่ลาบ ส้มตำ ก็รั่ว กลายเป็นปัญหาของคนที่ซื้อขันโตกมานั่งรับประทานในงาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบงาน โดนต่อว่าเยอะ จึงกลับมาคิด ปีต่อไปทำอย่างไรไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก”
มาวันหนึ่งขณะที่เธอนั่งทานข้าวในภาชนะที่เป็นกล่องโฟมอยู่บริเวณพื้นที่สวนหมาก ก็เหลือบไปเห็บกาบหมากร่วงอยู่
สุมาลีเอ่ยถามผู้เป็นสามีว่า "กาบหมากนี้เอามาขึ้นรูปแบบโฟม เป็นจานได้ไหม"
สามีถามกลับเธอว่า จะเอาไปทำอะไร ?
“เราก็บอกไปว่า หากทำได้จะทำเป็นภาชนะแทนโฟมในงาน“กินเข่าค่ำ” ช่วงนั้นไม่ได้คิดไปขายอะไรที่ไหน คิดแค่ว่า สมัยก่อนไม่มีโฟม" สุมาลี เล่า และว่า ความที่สามีเป็นช่าง คิดเพียงว่า เขาทำได้
จากนั้นปีต่อมาสามีเธอ เอารูปแบบมาให้ดู การขึ้นรูปเป็นภาชนะ เธอจึงไปนำเสนอกับผู้จัดงาน
“เครื่องจักรที่สามีคิดขึ้นมานั้นผลิตได้แค่ทีละชิ้น งานประเพณีกินเข่าค่ำจะเริ่มแล้วยังได้ของไม่ครบเลย"สุมาลี นึกถึงเครื่องจักรขึ้นรูปจานกาบหมาก สมัยที่ทำได้ทีละชิ้น และใช้ยังแก๊สอยู่
ก่อนสามีจะพัฒนาต่อยอดเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้า สามารถปั๊มขึ้นรูปได้ทีเดียวถึง 8 ชิ้น
หลังงาน จานกาบหมากเป็นที่ชื่นชอบของผู้มาร่วมงาน ทุกคนที่มางานกินขันโตกต่างสงสัยภาชนะที่ใส่อาหาร ไม่ใช่โฟม...
แล้วมันคืออะไร?
เธอบอกว่า ต้องคอยไปตอบคำถาม ทำมาจากกาบหมาก ก็ต้นหมากที่คนแก่เคี้ยวนั่นแหละ
และจากแนวคิดผลิตภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากธรรมชาติ 100% แข็งแรง สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ นั่นก็คือ “กาบหมาก” ซึ่งในขณะนั้นคนในชุมชนย่านสูงเนิน มีการปลูกต้นหมากกันมาก แต่ส่วนใหญ่จะเก็บแต่ลูกหมากขายกัน
ขณะที่กาบหมากหล่นทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก ถือได้ว่า เธอเป็นผู้ทดลองนำมาทำเป็นภาชนะ พร้อมคิดค้นเครื่องจักรปั๊มขึ้นรูป ผลที่ได้กลับมา สามารถผลิตกาบหมากออกมาได้ในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นผู้ผลิตภาชนะจานกาบหมาก 100% เป็นรายแรกๆ ในประเทศไทย และยังได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาดูงาน
กระทั่งปี 2547 มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ สุมาลีได้ส่งสินค้าของเธอเข้าประกวด จนได้ 4 ดาว จากนั้นได้นำจานกาบหมากไปขายที่งานโอท็อป เมืองทองธานีครั้งแรก เธอเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า เพียงแค่วันเดียว ขายหมดเกลี้ยง จะเอาไปขายอีกก็ผลิตไม่ทัน ช่วงนั้นจำได้ต้องขึ้นล่องเมืองทอง-โคราชแทบทุกวัน
และแล้ว จานกาบหมาก ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จัก
เธอมองว่า "คนไทยยังเฉยๆ นะ กับจานกาบหมาก แต่สำหรับต่างชาตินั่งเครื่องบินมาจากสวิตเซอร์แลนด์ มาสั่ง 1 ตู้คอนเทรนเนอร์เลยทีเดียว เขาถามว่า จะผลิตให้ได้เมื่อไหร่ เราก็ตอบเขาลำบาก อีกทั้งไม่กล้ารับปาก หรือทำสัญญาใดๆ”
หลังจากทดลองผลิตภาชนะจากกาบหมากไปได้ระยหนึ่ง จนเริ่มเป็นที่รู้จัก ปี 2558 สุมาลี ตัดสินใจสร้างโรงงาน ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ “วีรษา” โดยมีที่มาจากชื่อของคุณปู่ และคุณย่า มารวมกัน “วีระ+อุษา” ซึ่งมองว่าเป็นชื่อ ที่สามารถจดจำได้ง่าย โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ออกเสียงได้ไม่ยาก
สุมาลี ย้อนไปช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ สาเหตุที่ช่วงนั้นธุรกิจยังไปได้ไม่ไกล เพราะขาดเรื่องเงินทุน เธอยังจำคำพูดได้ตอนไปขอกู้ธนาคารนั้นแสนยากลำบากอย่างไร
"เขามองว่า ยังไงจานกาบหมากก็สู้โฟมไม่ได้ นี่คือผู้จัดการระดับสูงของธนาคารหนึ่งตอบเรากลับมา ทั้งๆ ที่ยุคนี้มองเรื่องสิ่งแวดล้อมกันแล้ว ถามว่า ทำไมท่านไม่มองตรงนี้ เราผลิตจานกาบหมาก ได้คนเดียวหรือไม่ ไม่ใช่นะ สิ่งแวดล้อมก็ได้ด้วย คุณใช้จานเราไม่ต้องไปสร้างโรงงานกำจัดขยะหลักร้อยล้านบาท ที่สำคัญ และเรายังส่งเสริมชาวสวนปลูกหมาก หมากปัจจุบันราคาสูงมาก ใช้ได้ทั้งต้น ใบ ลูก และกาบหมาก”
ปลูกหมาก สร้างรายได้
ปัจจุบัน บริษัท ภิญโญวานิช จำกัด เจ้าของแบรนด์ “วีรษา” มีโครงการส่งเสริมการปลูกหมากในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มดำเนินการแล้วที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตามด้วยแนวคิดการส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาปลูกหมาก และพัฒนาถิ่นฐานใหม่ ยกระดับสู่การเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้
ส่วนการรับซื้อกาบหมากที่ร่วงหล่นลงมา เป็นการไปรับซื้อถึงที่ ราคาอยู่ที่กิโลละ 8 บาท ซึ่งนอกจากให้ชาวสวนเห็นคุณค่าจากที่เอาไปเผาไฟทิ้ง วันนี้กาบหมากที่เห็นร่วงหล่นกลับมีค่าขึ้นมาแล้ว ยิ่งเมื่อนำมาแปรรูปให้ชาวสวนเห็น สุมาลี บอกว่า เขาก็ชื่นใจ "เออตัวกาบหมากทำแบบนี้ ขึ้นรูปได้จริง กาบหมากของเราไม่ใช่ใส่อาหารแทนโฟมแล้วทิ้ง ปัจจุบันเราต่อยอด ทำเป็นแม่พิมพ์อบขนมเค้ก นึ่งขนม ทำห่อหมก หรือทำข้าวกล่องก็ได้"
สำหรับจุดเด่นของภาชนะจากกาบหมาก คือ ปราศจากสารเคมีและการฟอกสี นอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีน้ำหนักเบา ไม่แตกหักง่าย สามารถใช้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย บรรจุของเหลวได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี รวมถึงมีกลิ่นหอมและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ กาบหมากใช้เวลาในการย่อยสลายเพียง 45 วัน
ขอสินเชื่อขยายธุรกิจ 9 แสน บสย.ค้ำเต็ม
จากการสร้างโรงงานเมื่อปี 2558 พร้อมสร้างแบรนด์วีรษา ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น "จานกาบหมาก" มีออเดอร์จากหลายหน่วยงานเพิ่มขึ้น แต่โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการ เนื่องจากขณะนั้นรูปแบบการผลิตเป็นการใช้แรงงานคน
ดังนั้น ในปี 2560 บริษัทฯ ตัดสินใจขอสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร จำนวน 9 แสนบาท โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน ระยะเวลา 7 ปี ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ เพื่อลงทุนซื้อเครื่องจักร (เครื่องขึ้นรูปภาชนะกาบหมาก) และเครื่องมือในการผลิตภาชนะจากกาบหมากเพิ่มเติม เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
การซื้อเครื่องจักรดังกล่าว ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากแรงงานคนสู่เครื่องจักร เพิ่มศักยภาพการผลิต ทำให้มีสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 5-6 หมื่นชิ้นต่อเดือน
ภาชนะจากกาบหมาก แบรนด์ “วีรษา” กวาดออร์เดอร์จากเหล่าซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะ ในธุรกิจค้าปลีกที่จริงจังกับแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จากเดิมส่งแค่ 8 สาขา ขยายเป็น 15 ถึงวันนี้วางขายไม่ต่ำกว่า 50 สาขาแล้ว รวมทั้งยังมีออเดอร์ใหญ่ๆ ในมือถึง 5 แสนชิ้นต่อเดือน แต่บริษัทยังไม่สามารถผลิตสินค้าให้ได้ไม่ทันกับความต้องการ
“วีรษา” จึงอยากได้เงินทุนเพิ่มเติม เพื่อนำมาพัฒนาเครื่องจักร และเพิ่มกำลังการผลิต
“เราอยากได้วงเงินอีก 10 ล้านบาท เพราะสินค้าเรายังต้องการเครื่องเลเซอร์ เพื่อใช้แทนมือคนปั๊มแบรนด์ เครื่องยูวีฆ่าเชื้อ อนาคตยังเตรียมซื้อเครื่องบด ซึ่งเศษกาบหมากที่เหลือจากการผลิต เราจะป่นและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป” เจ้าของธุรกิจ แบรนด์ “วีรษา” ตั้งความหวัง
ภาชนะจากกาบหมาก “วีรษา” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นที่กำลังแปลงร่างจากโรงงานผลิตระดับจิ๋ว สู่การเป็นโรงงานผลิตที่แจ่มแจ๋ว ด้วย Economy of scale ไต่ระดับก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจ ด้วยความหวังว่าจะได้รับเงินทุนก้อนใหม่เพื่อนำไปขยายกำลังการผลิต และคิดค้นเครื่องจักรในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ รองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค