แต่งตัวเซ็กซี่ ล่อแหลม ไม่ใช่ใบอนุญาตคุกคามทางเพศ ช่วงเทศกาลสงกรานต์
“ผู้หญิงแต่งตัวด้วยหลากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แต่งตัวเพื่อให้ผู้ชายดูตลอด ทุกวันนี้อย่าคิดว่า ตื่นมาแต่งตัวเพื่อผู้ชาย อย่าเห็นแก่ตัวเองขนาดนั้น เซ็กซี่ของคุณกับเซ็กซี่ของเราคืออะไร เซ็กซี่ของเจ้าหน้าที่คืออะไร คำว่า เปิดเผยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วต้องมิดชิดแค่ไหนถึงจะปลอดภัย"
เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ของความสุขสำหรับทุกคน บางคนเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด บ้างเลือกที่จะไปเล่นน้ำสงกรานต์ตามสถานที่ต่างๆ และบางคนกลับต้องเจอประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบต่างๆ ขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่เกิดหลายคนมักจะโทษว่า เป็นความผิดของผู้หญิงเองที่แต่งกายไม่เรียบร้อย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โครงการปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเครือข่ายชุมชนลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว เขตกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ จัดงานเสวนา “ลวนลาม คุกคามทางเพศขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่จริงหรือ?” ณ ห้องพิกุลแก้ว โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานครฯ
ถูกลวนลามในเทศกาลสงกรานต์
"จรีย์ ศรีสวัสดิ์" หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เปิดเผยสถิติจากการสำรวจความคิดเห็นต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกฉวยโอกาสหรือถูกลวนลาม มากถึงร้อยละ 59.3 ปัญหาที่เคยเจอ อาทิ ถูกปะแป้งที่ใบหน้า ถูกก่อกวนจากคนเมาสุราหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกฉวยโอกาสลวนลามแต๊ะอั๋งหรือถูกคุมคามทางเพศทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ปัญหาการทะเลาะวิวาท เป็นต้น
ในปีที่ผ่านมีผู้ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ถึงร้อยละ 25.1 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้ ให้เหตุผลว่า เคยถูกแต๊ะอั๋งหรือกลัวถูกฉวยโอกาสลวนลามช่วงเทศกาลสงกรานต์
ส่วนรูปแบบพฤติกรรมการลวนลาม "การถูกจับแก้ม" เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกระทำมากที่สุดถึงร้อยละ 33.8 รองลงมาคือ ถูกจับมือ จับแขน หรือเบียดเสียด การใช้สายตาจ้องมอง แทะโลมจนทำให้รู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย การถูกแซวหรือล้อเลียนส่อไปในทางเรื่องเพศ การถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกายหรือถูกล้วงอวัยวะอื่นๆที่เกินเลย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในแบบสอบถามข้อหนึ่งถามว่า ถ้าหากท่านถูกลวนลามหรือถูกคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ ท่านจะทำอย่างไร พบว่า มีเพียงร้อยละ 25.8 เท่านั้นที่ตอบว่า จะแจ้งความกับตำรวจ
“มีหลายกำแพงที่ผู้หญิงต้องแบกรับกับมายาคติหลายๆ อย่างที่สังคมมองปัญหาเรื่องนี้ เลยทำให้ตัวเลขของผู้ที่จะแจ้งความค่อนข้างน้อย” เธอ ระบุ และว่า นอกจากสถิติที่ได้รวบรวมมา ทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานกับภาคีเครือข่ายชุมชนและได้เจอกับผู้ประสบปัญหาโดยตรงที่อยู่ในชุมชน ได้มีการพูดคุยและสัมภาษณ์กันในเชิงลึก พบว่าสถานการณ์ค่อนข้างหนักไม่ต่างจากในสถิติที่นำเสนอ บางชุมชนคนอายุ 60 ปียังโดนล่วงละเมิดทางเพศ
แต่งตัวมิดชิดแต่กลับถูกลวนลาม
“ตอนนั้นกลัวมากว่าเขาจะมาทำร้าย ก็สงสัยว่า กลุ่มผู้หญิงด้านหน้าเขาแต่งตัวเซ็กซี่กว่า ใส่เสื้อกล้ามสีอ่อนๆ แต่ทำไมเขาไม่ได้โดนลวนลาม” น้องบี (นามสมมติ) ผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วไปเล่นสงกรานต์กับเพื่อนผู้หญิงประมาณ 5 – 6 คน ใส่เสื้อยืดสีดำ สวมกางเกงขาสั้นประมาณเข่า มีกลุ่มผู้ชายใส่แต่กางเกงยีนส์ ไม่ใส่เสื้อ มาดึงเธอออกไปหากลุ่มผู้ชาย แล้วก็เข้ามาปะแป้งและเหมือนมีอีกมือหนึ่งเข้ามาล้วงที่หน้าอก พอเธอรู้สึกตัวก็เลยผลักผู้ชายคนนั้นออกไป จากนั้นจึงวิ่งไปหาเพื่อนเพื่อหนีออกจากตรงนั้นแล้วจึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้เพื่อนฟัง ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เพื่อนของบีก็ถูกกระทำอนาจารด้วยการจูบปาก แต่ตอนนั้นไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วย เพราะกลัวถูกทำร้าย
“ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแออยู่แล้ว ไม่ได้แต่งตัวโป๊ ไม่ได้ไปยั่วเขา อยากให้คนที่คิดว่าเราไปยั่วเขาลองไปอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง”
เช่นเดียวกับ สิรินยา บิชอฟ หรือ ซินดี้ นางแบบ นักแสดง และพิธีกรชื่อดัง เป็นอีกคนที่มีประสบการณ์ไม่ต่างจากน้องบี บอกว่า เคยไปเล่นสงกรานต์กับเพื่อนๆโดนกลุ่มผู้ชายแยกออกจากกลุ่มเพื่อนแล้วโดนลวนลามแทบทุกส่วน เธอพยายามดิ้นออกไปจากตรงนั้นแล้วรีบขึ้นรถแท็กซี่กลับบ้านในทันที
#donttellmehowtodress #tellmetorespect
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซินดี้ สิรินยาได้อัดคลิปวิดีโอผ่านอินสตราแกรมส่วนตัวเพื่อระบายความในใจเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาแนะนำให้ผู้หญิง "งด" แต่งตัวเซ็กซี่ แต่งตัวมิดชิดเพื่อป้องกันผู้ชายลวนลาม
คลิปนี้ได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ และได้ใช้แฮชแทค #donttellmehowtodress #tellmetorespect ในการรณรงค์เรื่องนี้
ซินดี้เล่าว่า วันหนึ่งเธอกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่บนรถเพื่อจะไปงานเดินแบบ ได้เห็นพาดหัวข่าวว่า เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้หญิงงดแต่งตัวเซ็กซี่เพื่อที่จะลดปัญหาลวนลามทางเพศ แต่ไม่มีการเสนอข้อควรระวังอื่นๆ ไม่มีการเตือนฝ่ายผู้ชาย
เธอจึงไม่พอใจ เพราะมีความรู้สึกว่า ในวันที่เธอโดนล่วงละเมิดนั้น เธอไม่ได้ใส่อะไรเซ็กซี่แล้วทำไมถึงโดนลวนลาม
“เป็นคนที่ไม่ค่อยออกมาพูดอะไรแบบนี้ ทำงานปกติทั่วไป วันนั้นคืออดใจไม่ได้จริงๆ อยากจะพูดความในใจว่า ทำไมเรายังมีแนวคิดแบบนี้อยู่ ทำไมเราไม่มีการเสนอข้อมูลอื่นๆเลย ทำไมไม่การเตือนฝ่ายผู้ชาย ทำไมผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายถูกลงโทษหรือมองว่า เป็นสาเหตุของการลวนลาม และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะออกมาเป็นผู้พิทักษ์สิทธิสตรี จากคลิปที่ออกไปด้วยความที่เรามีชื่อเสียงจึงไปโดนใจผู้หญิงหลายๆคน เหมือนกับที่เรารู้สึก ณ ตอนนั้น ถึงแม้จะมีคนมาพูดแต่ทำไมมันยังไม่ได้ถูกยอมรับจากสังคมโดยทั่วไปว่า เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม”
ซินดี้ บอกว่า สิ่งที่รู้สึก คือ ความไม่ยุติธรรม การควบคุมการแต่งกายของผู้หญิงเพื่อที่จะลดปัญหาลวนลามทางเพศ เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุดแล้ว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เราต้องมาคุยกันเรื่องสาเหตุหลักๆ มีอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือ การดื่มสุรา
เธอตั้งคำถาม และชวนสงสัยว่า ทำไมวันนั้นไม่มีการออกมาเตือนผู้ชายหรือคนที่จะกระทำแบบนี้ ถ้ามีแบบนี้เขาก็คงอ้างว่า "สิทธิของผม ผมจะดื่ม การแต่งกายก็เป็นสิทธิของพวกเราที่เราจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่อนาจาร ไม่ผิดกฎหมาย"
“เรามีสิทธิ์ที่จะแต่งตัว เราเข้าใจว่าบ้านเรายังคงมีเรื่องของวัฒนธรรม กาลเทศะ เราจะไปอธิบายพฤติกรรมของผู้หญิงทุกคนทั่วไปก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ยังเป็นสิทธิของเขาอยู่ แต่ปัญหาจริงๆมันมาจากตรงไหน แล้วทำไมเรายังมองว่า เป็นเรื่องไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เป็นเรื่องตลกเลยหยิบยกเรื่องพวกนี้มาล้อเล่น ฟังแล้วไม่เข้าหู เลยเป็นที่มาของแคมเปญ #donttellmehowtodress #tellmetorespect การที่เราสามารถพูดแล้วมีคนได้ยิน มีการเชิญชวนให้คนมาแสดงความคิดเห็น ถกเถียงกันไปมาด้วยความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกันจะนำมาซึ่งทางออก เราเปลี่ยนความคิดของทุกคนไม่ได้แต่อย่างน้อยมีคนให้ความสนใจ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนว่า สถิติเป็นอย่างไร หน่วยงานต่างๆสามารถทำอะไรช่วยตรงนี้ได้บ้าง เพราะอย่างน้อยคนก็ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น”
ซินดี้ มองว่า กรณีที่ผู้ชายล่วงละเมิดผู้หญิงมักจะมากันเป็นกลุ่ม และอาจจะเลือกเหยื่อที่ไม่ได้แต่งตัวเซ็กซี่ คนที่แต่งตัวเปิดเผยมั่นใจคือคนที่อาจจะดูพร้อมลุย แต่เหยื่อที่ดูอ่อนแอ ดูอายุน้อย อาจจะสู้ไม่ไหวจึงตกอยู่ในอันตราย ทำไมเราไม่มองแบบนั้น การมุ่งแต่ผู้หญิงที่แต่งตัวเซ็กซี่แล้วมองว่า เขาเป็นผู้หญิงไม่ค่อยดี สมควรแล้วละที่โดน
เธอยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้เลย...
“ผู้หญิงแต่งตัวด้วยหลากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แต่งตัวเพื่อให้ผู้ชายดูตลอด ผู้หญิงเรามีการแต่งตัวเพื่อที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเรา เราชอบแฟชั่น เรามีหุ่นสวย เราออกกำลังกาย เราต้องการที่จะให้เห็นซิกซ์แพ็ค เราให้ผู้หญิงกันเองดูด้วย เราชอบให้เพื่อนๆเราชื่นชม ทุกวันนี้อย่าคิดว่า ตื่นมาแต่งตัวเพื่อผู้ชาย อย่าเห็นแก่ตัวเองขนาดนั้น เซ็กซี่ของคุณกับเซ็กซี่ของเราคืออะไร เซ็กซี่ของเจ้าหน้าที่คืออะไร คำว่า เปิดเผยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วต้องมิดชิดแค่ไหนถึงจะปลอดภัย”
อย่ามองผู้หญิงเป็นต้นตอของปัญหา
ด้านรศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากกรณีของน้องบีและซินดี้นั้นสอดคล้องกับหลักวิชาการ คนมักจะเข้าใจผิดว่ าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืน ลวนลามหรือกระทำมิดีมิร้ายทางเพศเกิดจากผู้หญิง ปัญหาดังกล่าวเกิดจากวิธีคิด ผู้ชายบางคนที่คิดแบบนี้เราต้องซ่อมสร้างเขา เราต้องเปลี่ยนการกระทำในสังคมนี้
“การสื่อสารว่ าผู้หญิงเป็นต้นเหตุ นอกจากจะป้องกันปัญหาไม่ได้ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ผู้หญิงเสียหาย เป็นการทำถูกแล้วที่เราลุกขึ้นมาพูด อย่างที่คุณซินดี้ออกมาพูด ผมก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า คนทั้งสังคมไทยคิดเหมือนคุณซินดี้หรือเปล่า เหมือนเราเอาไม้ซีกมางัดไม้ซุง ต้องมีดารามาสนับสนุน ช่วยส่งเสริม ทำให้รู้สึกมีพลัง เราต้องออกมาแสดงให้รู้ว่า ผู้หญิงไม่ใช่ต้นตอ แต่ผู้ชายที่มีวิธิคิดแบบนี้ที่เป็นต้นเหตุ เขาจะต้องจัดการ สิ่งที่เรามาพูดเหมือนเราหยัดยืนการให้คุณค่าการแก้ปัญหาของสังคม ถ้าสังคมมองผู้หญิงเป็นต้นตอ มันเหมือนคุณสร้างกำแพงเจ็ดแปดชั้นทับเขาแล้วกระทืบซ้ำ แต่ถ้าเราตีแผ่ออกมาในโซเชียลมีเดียแล้วมีคนเห็นด้วยกับเรา ผู้ชายก็จะได้ตระหนักว่าเขาควรจะเคารพเพศตรงข้าม การกระทำแบบนี้จะได้น้อยลง”
เพศที่สามถูกลวนลามไม่ต่างจากเพศหญิง
“เคยเล่นสงกรานต์และเคยโดนกระทำแบบนี้ เลยรู้สึกว่า ทำไมเราต้องเอาตัวเราไปให้คนอื่นมาจับมากอดมาลวนลาม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากมาเล่นสงกรานต์อีก”
นอกจากการล่วงละเมิดทางเพศในเพศหญิงแล้วนั้น เพศที่สาม ยังเป็นอีกกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ต่างกับเพศหญิง
ในงานเสวนาครั้งนี้มีการให้ผู้ร่วมฟังได้เสนอความคิดเห็น หนึ่งในผู้ฟังที่เป็นเพศที่สามได้เปิดเผยว่า เพศที่สามมีหลากหลายรูปแบบ โดยเธอได้ยกตัวอย่างกรณีของสาวประเภทสองว่า มีความเสี่ยงที่จะโดนลวนลามหรือละเมิดสิทธิในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น การจับหน้าอก จับก้น หรืออื่นๆ
“หนึ่ง ผู้ชายอาจจะคิดว่า เป็นกะเทย มันไม่เอาเรื่องอะไรเราหรอก สอง ผู้ชายคิดว่าไม่ใช่ผู้หญิงแท้ กะเทยก็คือผู้ชาย สาม คือ กะเทยชอบให้จับหน้าอก คิดว่ามันเป็นความเชื่อ ความคิดที่ผิดๆ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เพศที่สามถูกลวนลามและถูกมองว่า เป็นเรื่องปกติที่จะทำแบบนี้กับเพศที่สาม”
เธอเห็นว่า การแต่งตัวเป็นไปตามยุคตามสมัย ถึงแม้ว่าเขาจะใส่ชุดสายเดี่ยวหรือกางเกงขาสั้นก็ไม่มีสิทธิที่จะมาลวนลาม และอยากฝากคนที่จะเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ว่า ขอให้เคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ไปลวนลามผู้อื่น แค่นี้เราก็จะเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขร่วมกันแล้ว
นอกจากการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น "แต่งตัวเซ็กซี่ ล่อแหลม ไม่ใช่ใบอนุญาตข่มขืน หรือคุกคามทางเพศ" แล้ว ภายในงานยังได้มีการนำเสื้อผ้าของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจัดเป็นนิทรรศการ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ถูกล่วงละเมิดนั้น เขาเหล่านั้น กำลังสวมชุดอะไร? .....