ครบ 1 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ช่วยผู้ป่วย 1.5 หมื่นรายเข้าถึงการรักษา
สปสช.เผย ครบรอบ 1 ปี "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ผลดำเนินงานบรรลุเป้า ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 1.5 หมื่นรายเข้าถึงการรักษา 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ทั้งหลังพ้นวิกฤต 72 ชม. ส่งกลับผู้ป่วยรักษาต่อ รพ.ตามสิทธิได้ร้อยละ 90 ทั้งเคลียร์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามเกณฑ์
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ตามที่รัฐบาลได้เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ในช่วงแรกของการดำเนินการยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกผู้ป่วยว่าเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ แต่หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้ปรากฎว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก สามารถดำเนินการเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพก็ตาม
ขณะที่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกัน โดย สปสช.ประมวลผลค่ารักษาพยาบาลภายใน 30 วัน ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม สปสช.ส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย โดยแต่ละกองทุนจะจ่ายค่ารักษากับโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยภายใน 15 วัน ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยในช่วงภาวะฉุกเฉินวิกฤตเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งจากข้อมูลการดำเนินนโยบายนี้ครบรอบ 1 ปี มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับบริการประมาณ 15,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,300 ราย โดยในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยในกรณีที่พ้นสิทธิรักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้ว หากผู้ป่วยบัตรทองยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่พร้อมย้าย หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองไว้ไม่มีเตียงหรืออุปกรณ์รองรับ หรือระบบไม่สามารถหาโรงพยาบาลอื่นเพื่อรองรับดูแลแทนได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะรับดูแลค่ารักษาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.สามารถหาโรงพยาบาลรองรับเพื่อนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่หน่วยบริการภายใต้ระบบบัตรทองได้เกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 90 ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยพ้นวิกฤตแล้วแต่ไม่ยอมย้าย ยังคงต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาหลังพ้น 72 ชั่วโมงเอง
นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน นับเป็นนโยบายที่ช่วยปิดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน และ สปสช. ซึ่งทุกฝ่ายยังคงเดินหน้าและพัฒนานโยบายนี้ เพื่อให้เป็นหลักประกันคุ้มครองการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้กับประชาชนต่อไป