ถอดรหัส คสช.เปิดทางให้พรรคใหม่ประชุมได้ ทำพรรคเล็กหน้าเก่าเสียเปรียบ?
"...การที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้ประชุมพรรคการเมืองเก่าเพื่อให้เขาได้หาสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคได้ แต่ในขณะเดียวกัน คสช.กลับให้พรรคการเมืองใหม่สามารถจัดประชุมจนทำตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ครบถ้วนได้อย่างกรณีพรรคทางเลือกใหม่นั้น ต้องยอมรับว่าพรรคเก่าขนาดเล็กที่มีสมาชิกอยู่น้อยจะเสียเปรียบพรรคใหม่ค่อนข้างมาก..."
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้น คือ การถือกำเนิดของพรรคทางเลือกใหม่ที่มี นายราเชน ตระกูลเวียง เป็นหัวหน้าพรรค นับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และที่ถูกจับตามองอย่างมาก เมื่อพรรคทางเลือกใหม่ในขณะนี้นับเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรคจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. และใช้เวลาผ่านกระบวนการ 180 วันเพื่อหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ครบ 500 คนไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีอีก 8 พรรคการเมืองที่จะได้รับอนุญาตจาก คสช.เพื่อจัดประชุมพรรคและดำเนินการตามกรอบเวลา 180 วัน ได้แก่ พรรคพลังชาติไทย ที่นางกิ่งฟ้า อรพันธ์ เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคเครือข่ายประชาชนไทย ที่นายธนานินทร์ ชะฎาแก้ว เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่นายสุภดิช อากาศฤกษ์ เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่น.พ.ระวี มาศฉมาดล เป็นผู้ยื่นคำขอ ะพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่นายธนพัฒน์ สุขเกษม เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคกรีนที่ยื่นขอจดทะเบียนโดย นายพงศา ชูแนมพ พรรคประชานิยมจดทะเบียนโดย น.ส.ภิญญาดา ไพรัช และพรรคพลังสยามยื่นขอจดทะเบียนโดยนายวิษณุ อินทรพยุง
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคการเมืองเก่านั้น กิจกรรมที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้ทำได้กลับมีแค่การให้พรรคการเมืองเก่าต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรคของตัวเองเท่านั้น
ส่วนการจัดประชุมพรรคเพื่อให้หาสมาชิกพรรคให้ได้จำนวน 500 คน ทันตามกรอบเวลา 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.หรือก็คือต้องทันก่อนวันที่ 1 ต.ค.นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากทาง คสช.แต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อการดำเนินงานของพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมเป็นอย่างมาก
ล่าสุด นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศราว่า พรรคการเมืองหน้าใหม่ โดยเฉพาะพรรคที่มีความพร้อมทั้งหลายถ้าหากผ่านการตรวจสอบของ กกต. และสามารถดำเนินการตามกรอบเวลาในกฎหมายภายใน 180 วันได้เร็วเท่าไร พรรคใหม่พรรคนั้นจะถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องของการเตรียมตัวสู้ศึกสนามเลือกตั้งมากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นพรรคทางเลือกใหม่เป็นต้น
ดังนั้น พรรคการเมืองที่จะเสียเปรียบก็คือพรรคการเมืองเก่า โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็ก เพราะการที่พรรคเหล่านี้จะหาสมาชิกมายืนยันตัวเองขั้นต้นให้ครบ 500 คน จ่ายเงินคนละ 100 บาท ภายในระยะเวลา 180 นับจากวันที่ 1 เม.ย. นั้นก็ไม่ง่ายเลย ถ้าหากทำไม่ได้ พรรคเขาก็ต้องสิ้นสภาพไป
โดยเฉพาะการที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้ประชุมพรรคการเมืองเก่าเพื่อให้เขาได้หาสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคได้ แต่ในขณะเดียวกัน คสช.กลับให้พรรคการเมืองใหม่สามารถจัดประชุมจนทำตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ครบถ้วนได้อย่างกรณีพรรคทางเลือกใหม่นั้น ต้องยอมรับว่าพรรคเก่าขนาดเล็กที่มีสมาชิกอยู่น้อยจะเสียเปรียบพรรคใหม่ค่อนข้างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะเกิดกรณีที่สมาชิกพรรคเก่าอาจจะมีวิธีการเอาตัวรอด โดยอาจจะย้ายไปอยู่กับพรรคใหม่ หรือพรรคเก่าย้ายไปพรรคใหม่หมดทั้งพรรคเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในวงการการเมือง
“ผมว่า 1. สำหรับพรรคการเมืองเก่าตั้งแต่พรรคขนาดกลางถึงพรรคขนาดใหญ่ ถ้าหากเขาต้องการจะเป็นพรรคการเมืองต่อไปมันก็อยู่ในวิสัยที่เขาทำได้ 2.พรรคเก่าขนาดเล็กนั้นโอกาสจะฟื้นขึ้นมาค่อนข้างยากมาก และ3.พรรคใหม่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากตามกติกาใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมว่ามันเป็นวัฎจักรทางการเมือง"
"แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าในบรรดาผู้มาจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด 98 พรรค จะมีพรรคการเมืองเข้าใหม่จริงๆแค่ร้อยละสิบเท่านั้น” นิพิฎฐ์กล่าวทิ้งท้าย
และทั้งหมดนี้ก็คือด่านแรกที่พรรคการเมืองเก่าจะต้องเผชิญ กับภารกิจหาสมาชิกให้ครบ 500 คน ก่อนวันที่ 1 ต.ค. ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการประชุมพรรคการเมืองจาก คสช. เพราะถ้าหากทำไม่ได้ ก็หมดโอกาสจะไปด่านสองคือ หาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คนภายใน 1 ปีนับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้
และแน่นอน หมดโอกาสสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งหน้าด้วยเช่นกัน