นักวิชาการชี้"ภท.-ชาติไทยพัฒนา"ส่อเป็นตัวแปรตั้งรัฐบาล
นักวิชาการเชื่อนายกฯคนนอกอยู่ยาก "ปริญญา"แนะดูบทเรียนจาก"บิ๊กสุ" เตือนคสช.อย่าเลื่อนเลือกตั้งอีก ให้ประชาชนตัดสินอนาคตเอง ชี้"ภท.-ชาติไทย พัฒนา"ส่อเป็นตัวแปรตั้งรัฐบาล
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการเสวนาหัวข้อ "นายกรัฐมนตรีคนนอกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และแนวโน้มการเมืองไทย" เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2561 โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้ระบุไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. แต่ต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ และในมาตรา 272 วรรค 2 หากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ได้ ก็เปิดช่องให้เอาคนนอกบัญชีที่พรรคเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยมีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เป็นกลไกสำคัญ กล่าวคือถ้าคสช.อยากกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะมี 2 ทางเลือก คือ 1.เป็นนายกฯในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ และ 2.มารอบหลัง
รัฐสภาเลือกนายกฯในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ซึ่งทางนี้จะใช้จำนวนส.ส.เพียง 126 เสียง เนื่องจากมีส.ว.ในมือ 250 เสียง ซึ่งช่องทางนี้ไม่น่าจะยากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะมีปัญหาว่าอาจอยู่ไม่ได้ ดังนั้นหากมีเสียงส.ส.ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จะถูกปลดได้ จากมติไม่ไว้วางใจ และพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
"ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีก จะต้องมาในรอบแรก และเมื่อดูเสียงส.ส.แล้ว ตนเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา รวมกับพรรคใหญ่พรรคไหน จะได้เสียงส.ส.เกิน 250 คน และได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน แต่เขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตาม เพราะแม้พรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาแม้บอกว่าไม่สนับสนุนหรือเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่โหวตให้ นอกจากนี้ต้องดูว่าพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะมีศักยภาพแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดจะชัดเจนได้ในเดือน พ.ค.นี้ หลังการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเสร็จในเดือนเม.ย.นี้"นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวอีกว่า การส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีประเด็นว่าบทบัญญัติใดที่ขัดและแย้งรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป ซึ่งเท่ากับว่าเงื่อนไขต้องเลือกตั้งใน 150 วัน จะเริ่มไม่ได้ เท่ากับคสช.และรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ในอำนาจต่อ และขยับการเลือกตั้งออกไป ซึ่งประเด็นนี้ ตนขอเตือนว่าไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเมือง และถ้าขยับการเลือกตั้งออกไปอีก คสช.จะเอาไม่อยู่ ซึ่งคะแนนนิยมของคสช.ในช่วง 2 ปีหลัง ไม่ดีเท่าช่วง 2 ปีแรก นอกจากนี้ขอย้ำว่าคสช.เข้ามาเพื่อมากำหนดกติกาและบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่หากดูพฤติกรรมในช่วงหลังดูเหมือนว่าจะลงมาเป็นผู้เล่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีกับคสช.เอง และตนขอเตือนว่าถ้าเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกบัญชี จะมีปัญหาตามมาแน่นอน ซึ่งมีกรณีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เห็นแล้ว ดังนั้นคสช.อย่าถลำลึกไปมากกว่านี้ ต้องถอนตัวออกมา ปล่อยให้ประชาชนปกครองตัวเองและตัดสินอนาคตตัวเองอีกครั้ง ให้การเลือกตั้งเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยด้านนายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนไป 60 ปี ตั้งแต่ปี 2500 พบว่าที่มานายกรัฐมนตรีของไทยมี 5 แบบ คือ 1.นายกฯที่ลงเลือกตั้งส.ส.และผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ 2.นายกฯที่สภาฯให้ความเห็นชอบ แต่ตัวเองไม่ได้เป็นส.ส. เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 3.นายกฯที่มีคณะรัฐประหารเชิญมาเป็นนายกฯ อาทิ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 4.นายกฯที่มาจากหัวหน้าหรือแกนนำรัฐประหาร อาทิ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 5.นายกฯภายใต้วิกฤติ คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ทั้งนี้เราน่าจะมีนายกฯคนนอกรวมกันแล้ว กินเวลาประวัติศาสตร์การเมือง 34 ปีถ้าดูจากระยะเวลาการเมืองไทยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน คนที่เกิดก่อนปี 2535 รู้สึกชินกับการมีนายกฯคนนอก แต่คนที่เกิดหลังปี 2535 จะรู้สึกแปลกๆ ตะขิดตะขวงใจหรืออาจรับไม่ได้กับการมีนายกฯคนนอก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาทางการเมือง การที่เรามีนายกฯคนนอกได้นาน เป็นเพราะรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา หรือมีการรัฐประหารบ่อยครั้งซึ่งคนที่ก่อการมีรูปแบบทำไว้อยู่แล้ว.
ที่มาข่าว: https://www.dailynews.co.th/politics/636542