กระทรวงวิทย์ ฯ สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ สร้างความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้าน วทน.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทย – สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฝ้ารับเสด็จ เพื่อสนองพระราชดำริฯ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยไทย – สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรตอบโจทย์ประเทศ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทและหน้าที่ในวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ มีความปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทรงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนาจนเกิดความก้าวหน้าในหลายสาขา อาทิ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การจัดการทรัพยากรน้ำ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
โดยนิทรรศการประกอบด้วยความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (Chinese Academy of Science: CAS) จำนวน 4 ฉบับ, ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักวิจัย ผ่านกิจกรรมต่างๆ, ความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. กับ Institute of Computing Technology –Chinese Academy of Sciences ในด้านเทคโนโลยีการประมวลภาษาธรรมชาติและความหมาย และ Institute of Remote Sensing and Digital Earth (RADI) –Chinese Academy of Sciences ในด้านเทคโนโลยี Remote Sensing การสำรวจระยะไกล เพื่อต่อยอดงานวิจัย Application Ari-Map ของ สวทช., ความร่วมมือระหว่าง นาโนเทค สวทช.กับ The National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) สภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ, โครงการศูนย์วิจัยระบบรางร่วมไทย-จีน ดำเนินการโดย สวทช. จัดตั้งห้อง
ปฏิบัติการจำลองและออกแบบระบบอาณัติสัญญาณและการสื่อสาร (Signaling and Communication Laboratory) และห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยการเรียนรู้การบริหาร และควบคุมระบบรถไฟ (Railway Teaching Platform)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (CRRC-TISTR Jiont Railway Research Center) ให้บริการศูนย์ทดสอบหลักในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ นครราชสีมาเพื่อการออกแบบ ทดสอบ การเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (จิสด้า)ได้แก่ โครงการ National Space Exploration (NSE) ได้ร่วมกับ CAS จีน จัดสัมมนาเรื่องขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ และ The 1st Thailand Space Science & Exploration Forum เชิญนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนรู้ความรู้ด้านอวกาศซึ่งกันและกัน ร่วมถึงการศึกษาด้าน Space Objects/DEBRIS Monitoring and Management และ Remote Sensing Application for NortheasternThailand Water Resources Management Project ด้านอวกาศ และศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (ส.ภ.) ทำวิจัยและศึกษาเทคโนโลยีด้านอวกาศ และ Geo-Informatics ร่วมกับมหาวิทยาลัยอู๋ฮั่น ของจีน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ศึกษาด้านเทคโนโลยีภูมิอากาศ การจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ CAS และ The Institiue of Atmospheric Physics รวมถึงสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาบุคลากรและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทย – จีน กระทรวงฯ นี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างไทยกับจีน ในทุกด้านและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยเป็นหลัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนให้เกิดการไปใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในระดับที่เท่าเทียมกัน ปัจจุบันมีความร่วมมือในเรื่องดาราศาสตร์ ระบบราง ดาวเทียมและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์
สำหรับในปี 2561 นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการโครงสร้างบุคลากรไทยที่ประจำการในต่างประเทศ ได้ส่งข้าราชการมาประจำการในตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อทำหน้าที่ประสานภารกิจความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไทย-จีน และปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ สนองเบื้องพระยุคลบาทด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-จีน ต่อไป