ขีดเส้น20เมษานี้ จี้ผู้ว่าฯล้วงโกงรถดูดโคลน-ขยะ'อปท.'
ฟันไม่เลี้ยง! "กรมท้องถิ่น-บก.ปปป."จี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วไทยล้วงโกงฮั้วประมูลรถดูดโคลน-รถขยะของ"อปท." ขีดเส้นรายงานคืบหน้าภายใน20เม.ย.นี้ จ่อชง"ศอตช."ฟัน
วันที่ 4 เม.ย. 2561 พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รองผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (รอง ผบก.ปปป.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.ได้มีการแถลงข่าวคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายจังหวัดทั่วประเทศว่า ขณะนี้มี 5 จังหวัด ที่เข้ามาพบ บก.ปปป.แล้ว คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ และเพชรบูรณ์ โดยตัวแทนจากสมุทรปราการ และเพชรบูรณ์ ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เอาผิดผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อปท.และบริษัทเอกชนที่ร่วมกันทุจริต ฮั้วประมูลซื้อรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้ายแล้ว ส่วนจังหวัดพิษณุโลกทำหนังสือขอเลื่อนมาพบวันที่ 9 เม.ย.นี้ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นนทบุรี ศรีสะเกษ และสิงห์บุรี ยังไม่ได้ประสานมาว่าจะมาวันไหน
จี้5จว.คดีฮั้วประมูลรีบมาแจ้งความ
ด้าน พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.กล่าวว่า เบื้องต้นได้ทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจ 10 จังหวัดที่มีชื่อพบการทุจริตฮั้วประมูลให้มาพบพนักงานสอบสวน หลังจากนี้มีเวลาประมาณ 15 วันหา ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนที่รับมอบอำนาจ 5 จังหวัด ที่เหลือไม่มาพบ บก.ปปป. จะทำรายงานไปศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบการทุจริต เพื่อรายงานให้รัฐบาลทราบตามขั้นตอน
"หากผู้บริหารจังหวัดใดไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดในฐานะผู้เสียหาย เพื่อเอาผิดกับขบวนการฮั้วประมูล จะเข้าความผิด ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 104/2557 เรื่อง การกำกับดูแลการใช้จ่าย งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ คสช. ที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อให้การบริหารราชการของ คสช. ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ"
เผยมีตัวแทน2จว.เข้าร้องทุกข์แล้ว
พล.ต.ต.กมล กล่าวเผยด้วยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก 2 จังหวัดได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปปป.แล้ว โดยพนักงานสอบสวนมีกรอบการทำงาน รวบรวมสำนวน พยานหลักฐานต่างๆภายระยะเวลา 30 วัน ก่อนส่งให้ ปปช.ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.ได้มีการประชุม "โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ" หรือทุจริตฮั้วประมูล โดยมี พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีทุจริตฮั้วประมูล) พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป.(ดูแลคดีเงินทอนวัด) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 10 หน่อยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช., ป.ป.ท., ปปง., กองทัพภาคที่ 1, สตง., กรมสรรพากร, กรมบัญชีกลาง, บก.ป., บก.ปอศ.และ บก.ปอท. ก่อนแถลงข่าวสางคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ อปท. เบื้องต้นล็อตแรกพบ 21 อปท. ส่งให้ ปปช.แล้ว 20 อปท. ส่วนล็อตสองพบ 12 อปท.ใน 10 จังหวัดประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี กระทั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัด 4 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง และสมุทรปราการ ได้มอบให้ตัวแทนเข้าพบ บก.ปปป.ตามหนังสือเชิญแล้ว
จี้ผู้ว่าฯล้วงโกงงาบรถขยะ-ดูดโคลน
ขณะที่นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อรถขยะ รถดูดโคลน ของ อปท. สืบเนื่องจาก บก.ปปป. พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ได้ดำเนินการตรวจสอบการฮั้วประมูล รวมถึงการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติ (ล็อคสเป็ก) ในการขายรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้ายให้หน่วยงานรัฐ
โดยได้ดำเนินคดีในครั้งแรกกับ อปท.จำนวน 21 แห่ง และส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.แล้ว 20 แห่ง เหลือ อปท.อีก 1 แห่ง และครั้งที่ 2 มี อปท. 12 แห่งใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีษะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี ซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายกับครั้งแรก อยู่ระหว่างดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน บก.ปปป.รวมทั้งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีรายชื่อพบทุจริตการฮั้วประมูลมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ในฐานะผู้เสียหาย หลังจากนั้นคณะทำงานจะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ขีดเส้นรายงานคืบหน้า20เม.ย.นี้
ในเรื่องการตรวจสอบทุจริตดังกล่าว จึงขอความร่วมมือให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ตรวจสอบว่ามี อปท.ใด ที่จัดทำโครงการจัดซื้อรถขยะ - รถดูดโคลนดังกล่าว 2.ให้ตรวจสอบว่ามี อปท. ภายในเขตจังหวัดที่ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งถูกพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ดำเนินคดีแล้ว 3.หากมี อปท. ดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อรถขยะ-รถดูดโคลนของ อปท. ดังกล่าว ในทางแพ่ง อาญา และทางวินัย อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้รายงานผลการดำเนินการ พร้อมทั้งความเห็นของจังหวัด และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ ภายในวันที่ 20 เม.ย.2561