8 ปีกรือเซะ (1) ชีวิตของอาตีกะฮ์..."วันที่เสียสามี ฉันท้อง 9 เดือน"
เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่เรียกกันติดปากว่า "เหตุการณ์กรือเซะ" นั้น เวียนมาบรรจบครบ 8 ปีเต็มแล้ว และปีนี้นับเป็นปีที่สื่อมวลชนและสังคมไทยให้ความสนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวมากที่สุด หลังจากห่างหายไปจากการรับรู้ในช่วง 2-3 ปีหลัง
สาเหตุที่เหตุการณ์กรือเซะกลับมาเป็นประเด็นพูดถึงกันอีกครั้ง มีอยู่ 2 ประการ คือ
1.เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 เพิ่งเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องปรับแผนรักษาความปลอดภัย และมีการแจ้งเตือนต่อเนื่องมาว่าอาจมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกในวาระครบรอบ 8 ปีกรือเซะ
2.เมื่อวันอังคารที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะ อยู่ในข่ายได้รับการเยียวยาด้วย กระทั่งมีข่าว "กลุ่มนายหน้า" เข้าไปเรียกหัวคิวจากชาวบ้านตามมา
แม้ยอดเงินเยียวยาน่าจะไม่สูงถึง 7.5 ล้านบาทตามที่ประโคมข่าวกันในช่วงแรกๆ แต่การที่รัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีนโยบายช่วยเหลือดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวผู้สูญเสีย ก็ทำให้หลายคนหลายครอบครัวมีความหวังมากขึ้น
เป็นความหวังที่แม้จะริบหรี่ แต่ก็ช่วยสร้างกำลังใจให้ต่อสู้ชีวิตต่อไป หลังจากต้องเผชิญกับความเสียใจและความสูญเสียครั้งใหญ่โดยปราศจากคนเหลียวแลตลอด 8 ปีที่ล่วงมา...
ดังเช่นครอบครัวของผู้สูญเสียที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเฉพาะในหมู่บ้านนี้ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะมากถึง 9 ราย และ 3 ใน 9 คือสามีกับน้องชายของ อาตีกะฮ์ กาลอ หญิงมุสลิมวัย 48 ปี เธอเล่าว่าวันที่สามีจากไปนั้น เธออุ้มท้อง 9 เดือน!
และในวาระครบรอบ 8 ปีเหตุการณ์กรือเซะ ลูกสาวคนที่เธออุ้มท้อง ซอบารียะ อีแต ก็มีอายุครบ 8 ปีพอดี
ชีวิตต้องสู้...กัดฟันเลี้ยงดูลูกๆ 5 คน
เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 นั้น คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเกิดเหตุเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ชานเมืองปัตตานีเพียงแห่งเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วในวันนั้น เกิดความรุนแรงขึ้นราว 10 จุด กระจายไปในหลายพื้นที่ ทั้ง จ.ยะลา ปัตตานี และสงขลา แต่จุดที่ก่อความสูญเสียมากที่สุดคือที่มัสยิดกรือเซะ เพราะมียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย
เหตุการณ์ที่ล่วงผ่านมานานถึง 8 ปี ทำให้ความจริงบางส่วนที่ขาดวิ่นไปเริ่มปรากฏเค้าลาง โดยเฉพาะเรื่องที่มีขบวนการเข้าไปปลุกระดมหลอกลวงชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิม ให้ถือลูกประคำ จับมีด ไม้ และกริช เข้าไปโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเต็มไปด้วยอาวุธหนัก โดยเฉพาะปืน!
และแน่นอนว่าความสูญเสียได้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เห็นได้จากสามีและน้องชายของอาตีกะฮ์ แม้จะไปจากหมู่บ้านเดียวกัน แต่ก็ไปเสียชีวิตคนละสถานที่กัน...
อาตีกะฮ์ เล่าว่า เธอต้องสูญเสียสามีและน้องชายของเธอเองอีก 2 คน รวมเป็น 3 ชีวิตในวันเดียว คือ อิสมัน อีแต สามีของเธอจบชีวิตในมัสยิดกรือเซะ ซำซูดิน กาลอ น้องชายคนถัดจากเธอ เสียชีวิตบริเวณมัสยิดกรือเซะเช่นเดียวกัน และ อับดุลเลาะ กาลอ น้องชายคนที่ 2 เสียชีวิตที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
"ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉันท้องแก่ 9 เดือน หลังจากเสียสามี ฉันก็คลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิง เป็นลูกคนเล็กจากทั้งหมด 5 คน ซึ่งฉันต้องรับภาระเลี้ยงดูแทนสามีมาตลอด 8 ปี"
ลูกๆ ของอาตีกะฮ์ กับ อิสมันที่ไปจบชีวิตที่กรือเซะนั้น คนโตกับคนรองเป็นผู้ชาย อายุ 16 ปีและ15 ปีตามลำดับ ทั้งสองเรียนอยู่ที่สถาบันปอเนาะวังโอ๊ะ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ส่วนคนที่ 3 เป็นผู้หญิง ชื่อ เด็กหญิงพาตีเมาะ อีแต อายุ 14 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนปอเนาะปาแดลางา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี คนที่ 4 เป็นผู้ชาย และคนสุดท้อง คือ เด็กหญิงซอบารียะ อีแต อายุ 8 ปี ลูกคนเล็กทั้ง 2 คนเรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านควนโนรี อ.โคกโพธิ์
"ตอนนี้เป็นช่วงปิดเทอม ฉันเป็นห่วงพวกเขา กลัวว่าจะเรียนสู้เพื่อนๆ ไม่ได้บ้าง กลัวจะไปติดยาเสพติดบ้าง ก็เลยส่งไปเรียนพิเศษ ถ้าเป็นลูกชายก็ส่งไปดาวะห์ (เดินทางเผยแผ่ศาสนา) แม้ฉันจะไม่มีเงินส่งพวกเขา แต่ฉันก็ไม่อยากให้ลูกๆ อยู่ที่บ้านแล้วต้องตกเป็นทาสยาเสพติด เพราะยาเสพติดระบาดหนักมากในพื้นที่ โชคดีที่ยังมีโรงเรียนปอเนาะที่มีโครงการเรียนฟรีให้กับเด็กกำพร้าในช่วงปิดเทอม ฉันก็เลยส่งลูกชายทั้ง 3 คนไปดาวะห์ ส่วนซอบารียะไปเรียนที่โรงเรียนฮาฟีซะฮ์ บ้านโผงโผง อ.โคกโพธิ์ เหลือแค่ลูกสาวคนที่ 3 คือพาตีเมาะ ที่ให้อยู่บ้านคอยหุงข้าวดูแลบ้านแทนฉันเวลาฉันไปกรีดยาง"
กรีดยางได้วันละ 300 เลี้ยงนับสิบชีวิต!
การเป็นหญิงหม้ายตัวคนเดียว ไม่มีงานอื่นทำนอกจากกรีดยางพาราจากสวนยางเล็กๆ กับภาระอันหนักอึ้งเลี้ยงดูลูกๆ 5 คนในวัยเรียน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ ในที่สุดเมื่อราวๆ ปีกว่าที่ผ่านมา อาตีกะฮ์จึงตัดสินใจแต่งงานใหม่ อย่างน้อยก็เพื่อหาผู้ชายสักคน มาดูแลครอบครัว
"เพราะเป็นห่วงลูก ฉันจึงต้องแต่งงานใหม่ เพราะลำพังเราเป็นผู้หญิงคงเอาไม่อยู่ ลูกคนโต 2 คนของฉันเป็นผู้ชาย กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ถ้ามีสามีน่าจะพอปรามได้" อาตีกะฮ์ เผยความในใจ
แต่กระนั้น การแต่งงานใหม่ก็ทำให้เธอต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก เพราะสามีใหม่ก็มีลูกติดมาถึง 8 คน รายได้ที่ได้มาในแต่ละวันจึงต้องแบ่งไปเลี้ยงลูกของสามีใหม่ด้วย แต่เธอก็จำยอม เพื่อหวังให้มีคนคอยกำราบลูกชาย
"ชีวิตประจำวันของฉันจะตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 จากนั้นก็แต่งตัวไปกรีดยาง ต้องเดินทางไปราวๆ 1 กิโลฯ โดยไปกับสามี ฉันมีสวนยาง 3 ไร่ มีต้นยางประมาณร้อยกว่าต้น วันหนึ่งๆ มีรายได้ 300 บาท แต่ก็ต้องแบ่ง 3 ส่วน เพราะสวนยาง 3 ไร่นี้เป็นของพี่น้องฉัน 3 คน พ่อแม่ให้แบ่งกัน จริงๆ แล้วฉันมีพี่น้อง 5 คน เสียไปในเหตุการณ์กรือเซะ 2 คน จึงเหลือ 3 คน ฉันเป็นโต และรับหน้าที่ดูแลสวนยาง ได้เงินมาก็เอามาแบ่งเป็น 3 ส่วน สำหรับฉันและน้องๆ 3 คน คนละ 100 บาท โชคดีที่น้องคนสุดท้องสงสารฉัน เขาจึงไม่เอาส่วนแบ่ง ฉันก็เลยเหลือเงินวันละ 200 นำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน"
"ฉันออกจากบ้านตี 5 กว่าจะกลับมาก็ 9 โมงเช้า เสร็จแล้วก็กลับมากินข้าว ถ้าเป็นหน้านาก็ออกไปทำนาอีก ฉันมีนาอยู่ 2 ไร่ ก็ต้องทำเพื่อเอาข้าวมากินในครอบครัว ถ้าไม่ใช่หน้านา ฉันก็จะปลูกผักสวนครัว มะเขือ ข้าวโพด พริก ตะไคร้ หรือกล้วย ส่วนใหญ่ก็เอาไว้กิน ถ้าพอมีเหลือก็ขาย ก็พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวบ้าง แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะลูกๆ ต้องเรียนหนังสือทุกคน แม้ทางโรงเรียนจะช่วยเรื่องค่าอาหาร แต่เรื่องชุดนักเรียน ของใช้ต่างๆ ก็ต้องมีให้ลูก"
แต่ละวันกว่าที่ อาตีกะฮ์ จะเสร็จงานก็ปาเข้าไปบ่าย 3 โมง ยังดีที่ช่วงนี้โรงเรียนปิด ลูกสาวของเธอ พาตีเมาะ จึงพอเป็นที่พึ่งหุงหาอาหารไว้ให้ แต่ถ้าเป็นตอนเปิดเทอม เธอก็ต้องทำเอง ทั้งหุงข้าว ทำอาหารกินกับสามี กว่าจะได้นอนก็ 3 ทุ่ม พอตี 5 ก็ตื่นไปกรีดยาง เป็นอย่างนี้ทุกวัน
เยียวยาขอแค่แสน...ไม่เคยหวัง 7.5 ล้าน
เป็นที่ทราบกันดีว่าครอบครัวของผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะทั้งหมดไม่ได้รับเงินเยียวยา ยกเว้นค่าทำศพเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพราะในสายตาของทางราชการ ผู้ที่ไปเสียชีวิตในเหตุการณ์ คือกลุ่มคนที่บุกทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐก่อน
"ตั้งแต่เกิดเหตุเป็นต้นมา ฉันเคยได้รับเงินจากนายอำเภอ 1 หมื่นบาท จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 2 หมื่นบาท เงินก้อนนี้ฉันยกให้แม่ของสามี (อิสมัน) จากนั้นก็ได้เงินจากคณะ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ที่มาจากกรุงเทพฯ 3 ปี ปีละ 9 พันบาท รวมเป็น 27,000 บาท แล้วก็ได้รับทุนการศึกษาของลูกคนที่ 3, 4, 5 ส่วนคนโต 2 คนไม่ได้รับ เพราะเรียนจบมัธยมแล้ว รัฐก็เลยไม่ให้" อาตีกะฮ์ บอก
จากที่ใช้ชีวิตอย่างอัตคัตขัดสนมานมนาน ฉะนั้นทันทีที่ได้ทราบข่าวจากรัฐบาลและ ศอ.บต.ว่ามีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ จึงทำให้เธอรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก
"ฉันก็ดีใจอยู่ลึกๆ นะ ถ้าถามจากสภาพความเป็นอยู่จริงๆ แค่ได้เงินมาสักแสนหนึ่งก็พอใจแล้ว จะได้เอามาเป็นทุนทำการเกษตร เพราะฉันยังมีที่ดินเปล่าอีก 2 ไร่ ก็กะว่าจะเอาไปปลูกยางกับข้าวโพด หรือไม่ก็ผักสวนครัวเพื่อเอาไปขาย แค่นี้เราก็สบายแล้ว ไม่ต้องมีเงินถึง 7.5 ล้านบาทหรอก แต่ถ้าได้เพราะเป็นสิทธิของเราก็ยิ่งดีใจ"
"ตั้งแต่มีข่าวเรื่องเงินเยียวยา ฉันก็คิดวางแผนเอาไว้คร่าวๆ โดยเฉพาะการส่งลูกๆ ไปเรียนตามที่เขาเคยขอ เพราะลูกเคยบอกว่าอยากเรียนพิเศษกับอาจารย์เพื่อเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซียน ตอนที่เขาพูดฉันไม่มีเงินมากขนาดนั้น ถ้าได้เงินมาจริงๆ ก็จะเอาส่วนนี้ส่งให้ลูกไปเรียนพิเศษ"
ส่วนเรื่องนายหน้าเรียกหัวคิว ซึ่งเป็นข่าวฉาวที่มาพร้อมๆ กับข่าวเยียวยา อาตีกะฮ์ รับว่าเกิดขึ้นจริงๆ และหากรัฐตั้งใจจะช่วยเหลืออย่างจริงใจ ก็อยากให้เรียกครอบครัวผู้สูญเสียทั้ง 9 ครอบครัว (ในบ้านส้ม) ไปพูดคุยโดยตรง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ อย่าใช้ระบบตัวแทน เพราะไม่อยากนั้นคนที่เป็นตัวแทนจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายคนเดียว ไม่ได้นำมาให้ผู้สูญเสียคนอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของทางราชการ
"ส่วนใหญ่ครอบครัวผู้สูญเสียไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากทะเลาะกับใคร ทำให้คนที่ทำก็ทำได้ตลอด (หมายถึงคนที่หักหัวคิว) ได้เงินไปมากมาย บางครั้งเราได้ข่าวว่าทหารหรือทางอำเภอให้เงินมาเพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แต่สุดท้ายคนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็ได้แต่ความว่างเปล่า"
ลูกถามทุกวัน...ทำไมพ่อไม่กลับมา
ด้วยความที่มีลูกหลายคน และคนเล็กลืมตาดูโลกไม่ทันบิดา เพราะพ่อด่วนจากไปเสียก่อน ทำให้ลูกสาวคนสุดท้องตั้งคำถามกับอาตีกะฮ์อยู่บ่อยๆ ว่าพ่อหายไปไหน ทำไมไม่กลับบ้าน
"ลูกจะถามบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อถึงเทศกาลรายอ เพราะเขาเห็นเพื่อนๆ คนอื่นมีพ่อแม่ครบทุกคน แต่ของเขาไม่มี เขาก็เลยถาม เมื่อลูกถามฉันก็จะบอกลูกตรงๆ พร้อมเอารูปให้ลูกดู จะบอกเขาว่าพ่อของลูกตายที่มัสยิดกรือเซะ ลูกก็ถามว่าทำไมพ่อถึงไปตายตรงนั้น ฉันก็บอกลูกว่าพ่อไปดาวะห์ ลูกก็จะถามอีกว่าพ่อโดนอะไร ทำไมถึงตาย ฉันก็บอกว่าโดนยิง ลูกก็จะซักต่ออีกว่าใครยิง ฉันก็บอกว่าทหารยิง จากนั้นลูกก็จะเงียบไป ส่วนลูกคนอื่นๆ ไม่เคยถามเรื่องนี้เลย ได้แต่แอบร้องไห้ ฉันรู้มาตลอด และสงสารพวกเขา"
เด็กหญิงพาตีเมาะ อีแต อายุ 14 ปี ลูกสาวของอาติกะฮ์กับอิสมัน เล่าว่า ตอนที่พ่อเสียไปใหม่ๆ เธออายุ 6 ขวบแล้ว ก็พอรู้ความ และรู้สึกว่าทำไมเธอถึงต่างจากคนอื่น ทำไมถึงไม่มีพ่อ ช่วงเทศกาลรายอก็จะมีแต่แม่ ก็เลยร้องไห้ตลอด
"แต่พอเหตุการณ์ผ่านไปนานๆ แม่หนูทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ ทำให้คลายความเสียใจลงไปได้บ้าง แต่ก็สงสารแม่ที่ต้องเหนื่อนเพื่อพวกเรา หนูเองก็ไม่ได้ช่วยอะไรแม่มากไปกว่าหุงข้าว และบอกกับน้องๆ ตลอดว่าพวกเราต้องเป็นเด็กดี อย่าให้แม่ต้องเป็นห่วง เพราะครอบครัวของเราเจอปัญหามาเยอะแล้ว ทุกคนก็เข้าใจ"
"ทุกวันนี้กลัวมากเลยว่าพี่ๆ หรือน้องๆ ผู้ชายจะไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะในชุมชนมียาเสติดเยอะมาก วัยรุ่นติดยาก็เยอะ ก็ได้แต่หวังว่าถ้าทุกคนเรียนหนังสือ ยาเสพติดก็จะหายไปจากพื้นที่"
เมื่อถาม พาตีเมาะ เกี่ยวกับเงินเยียวยาที่รัฐบาลจะมอบให้ เธอบอกว่า รู้สึกดีใจ ถ้าครอบครัวได้รับการพิจารณาจริงๆ อย่างน้อยแม่ก็จะเหนื่อยน้อยกว่านี้ และพวกเธอก็จะได้เรียนในสิ่งที่ตั้งใจ
"หนูอยากเรียนจบเป็นครู จะได้มาสอนน้องๆ และดูแลครอบครัวในช่วงที่แม่แก่ ทำงานไม่ไหว" พาตีเมาะ บอกถึงความตั้งใจของเธอ
นี่คือเสียงเล็กๆ จากครอบครัวเหยื่อเหตุการณ์กรือเซะที่สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งว่า ความรุนแรงไม่ได้ก่อประโยชน์กับใครเลย มีแต่ความสูญเสีย ความเดือดร้อนลำบาก และหยดน้ำตา...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาตีกะฮ์ กาลอ
2 บ้านหลังเล็กๆ ใกล้พังที่อยู่รวมกันนับสิบชีวิต อาติกะฮ์เล่าว่าหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ทหารเคยเข้ามาซ่อมบ้านให้ แต่ผ่านไป 8 ปีก็ผุพังไปตามกาลเวลา
3 พาตีเมาะ ช่วยแม่หุงหาอาหาร (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
อ่านประกอบ :
- เปิดปาก "พยานปากเอก" ไขปมศพเกลื่อนที่กรือเซะ ขบวนการหลอกชาวบ้าน แล้วทหารถูกใครหลอก? (งานเขียนของศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งเว็บไซต์มติชนนำไปเผยแพร่ต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304592749&grpid=01&catid&subcatid
- ชำแหละคดีกรือเซะ- 28 เมษาฯ กับปัญหากระบวนการ "ไต่สวนการตาย"
http://www.isranews.org/south-news/stat-history/49-2009-11-17-18-22-35/1983-28-qq.html