เสียงเตือนจากกระทรวงดิจิฯ ถึงกรมคุมประพฤติ ต่อกรณีเช่าเครื่องติดตามตัวนักโทษ151ล.
"...ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงอาจส่งผลให้การซื้ออุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาสั้น และในอนาคตการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อาจ มีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระความรับผิดชอบในครุภัณฑ์ของทางราชการ กรณีที่อุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์สูญหาย หรือถูกทำลาย รวมทั้งเพื่อให้การสั่งใช้งานอุปกรณ์เป็นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว..."
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้กรมคุมประพฤติเช่าอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบควบคุมการทำงาน จำนวน 4,000 เครื่อง ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 วงเงินทั้งสิ้น 151,200,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 28 เดือน ตามนัยมาตรา 23 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกรณีเฉพาะราย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณโครงการพัฒนาระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว จำนวน 21,600,000 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 129,600,000 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562- 2563 โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
ขณะที่ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.วาระนี้ว่า ข้อดีของการเช่าคือ ทำให้รัฐบาลมีอุปกรณ์ ที่ใหม่และพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องเสมอไม่ขาดตอน และไม่ต้องตั้งงบประมาณในการซ่อมด้วย ทั้งนี้การใช้เครื่งมือติดตามเหล่านี้ รัฐจะประหยัดงบได้เยอะ เมื่อพิจารณาค่าอาหาร กับจำนวนผู้คุม เพื่อดูแลผู้ต้องหา
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมติที่ประชุมครม.พิจารณาวาระนี้ เพิ่มเติม พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. เหตุผลการเช่าแบบผูกพันข้ามปี มีการระบุว่า ที่ผ่านมาในการเช่าเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมคุมประพฤติ มีลักษณะเป็นการเช่าปีต่อปี โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 กิดข้อข้ดข้อง ในการดำเนินงานทั้งในด้านข้อกฎหมายและการบริหารจัดการ เนื่องจากข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่จะต้องชะลอการสั่งใช้ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. เพราะใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการเช่าและต้องส่งคืนเครื่องมือติดตามตัวฯ และอุปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ กรมคุมประพฤติจึงเห็นควรดำเนินการเช่าในลักษณะผูกพันข้ามปีงบประมาณ พร้อมระบบควบคุมการทำงานจำนวน 4,000 เครื่อง ดังกล่าว
2. ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องใช้วิธีเช่า ไม่ซื้อขาดนั้น มีการระบุว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับการเช่าอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งผลิตอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการออกแบบสถาปัตยกรรมของอุปกรณ์ออกแบบให้รองรับระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของประเทศนั้นๆ
ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงอาจส่งผลให้การซื้ออุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาสั้น และในอนาคตการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อาจ มีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระความรับผิดชอบในครุภัณฑ์ของทางราชการ กรณีที่อุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์สูญหาย หรือถูกทำลาย รวมทั้งเพื่อให้การสั่งใช้งานอุปกรณ์เป็นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่ถูกพูดถึงกันมากเกี่ยวกับวาระการพิจารณาเรื่องนี้ คือ ที่ประชุม ครม. ได้เห็นสมควรให้กรมคุมประพฤติ รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เห็นควรดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐในขั้นตอนการจัดหาให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และเพื่อประโยชน์ของราชการ รวมถึงเปิดกว้างไม่ระบุเจาะจงเทคนิคหรือเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง เพื่อให้มีการแข่งขันกันได้อย่างเป็นระบบ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า กรมคุมความประพฤติ เคยมีการนำร่องใช้กำไล EM ไว้ที่ข้อมือ หรือข้อเท้าตลอดเวลาในการคุมความประพฤติและหวังจะลดปัญหาผู้ต้องหาล้นคุกมาแล้ว
โดยปี 2557 กรมคุมประพฤติ ทำสัญญาเช่าอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (electronic monitoring) มาใช้กับผู้กระทำผิดในระบบงานคุมประพฤติ กับ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด วงเงินกว่า 74 ล้านบาท วันที่ทำสัญญาวันที่ 29 ก.ย. 57 วันสิ้นสุดสัญญา 13 พ.ย. 57
ต่อมาพบว่า กรมคุมประพฤติขอเช่ากำไล EM ซึ่งถือเป็นช่วงสัญญาที่ 3 ของปี 2558 แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณ
ขณะที่ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม ปี 2560 ได้ซื้อขายครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์เพื่อส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 11 รายการ จากบริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด วงเงินกว่า 13 ล้านบาท วันที่ทำสัญญา 29 ส.ค. 60 วันสิ้นสุดสัญญา 28 ต.ค. 60
และ ปีเดียวกัน สำนักงานศาลยุติธรรม เช่าและติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว จากบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงินกว่า 80 ล้านบาท วันที่ทำสัญญา 18 ก.ย. 60 วันสิ้นสุดสัญญา 17 พ.ย. 60 (อ่านประกอบ : กรมคุมประพฤติ เล็งของบฯ จัดซื้อกำไล EM จำนวน 4 พันเครื่องวงเงินกว่า 100 ล้าน)
ส่วนการเช่าอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบควบคุมการทำงาน แบบผูกพันข้ามปี จำนวน 4,000 เครื่อง วงเงิน 151,200,000 บาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. มาแล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น
คงต้องจับตามองกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!