ปากคำชาวบ้าน...แฉขบวนการรีดหัวคิวเยียวยาไฟใต้
ดูเหมือนรัฐบาลเพิ่งงัวเงียตื่นจากความหลับใหล เมื่อรัฐมนตรีหลายราย นำโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ เพิ่งออกมาพูดเรื่องขบวนการเรียกหัวคิว "เงินเยียวยาก้อนพิเศษ" ที่รัฐบาลเตรียมจะจ่ายให้กับญาติผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะจะว่าไป "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้เปิดโปงปัญหานี้ไปตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว!
หนำซ้ำขบวนการเรียกหัวคิวเยียวยาจากชาวบ้านที่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาก้อนพิเศษจากรัฐก็ไม่ได้เพิ่งเคลื่อนไหวเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท ให้ช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อไฟใต้ 4 กลุ่มเมื่อวันอังคารที่ 24 เม.ย.2555 ตามการเสนอของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน
ทว่า ขบวนการนี้ลงพื้นที่กันอย่างคึกคักตั้งแต่มีข่าวรัฐบาลเตรียมจ่ายเงินเยียวยาก้อนพิเศษให้กับเหยื่อไฟใต้โดยใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองแล้ว
และจะว่าไป...ตลอด 8 ปีไฟใต้ ก็พบปัญหาหักหัวคิวจาก "เงินเยียวยา" ทุกประเภทที่รัฐจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบหรือครอบครัวผู้สูญเสีย แต่รัฐก็แทบไม่เคยขยับทำอะไรในลักษณะป้องกันหรือแก้ไขปัญหา เพื่อให้ชาวบ้านซึ่งทุกข์ยากเดือดร้อนจากความสูญเสียอยู่แล้วได้รับความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า คำบัญชาของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สั่งกำชับในวันถัดมาหลังจากการเปิดประเด็น "หัวคิวเยียวยา" ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ คงไม่มีอะไรในกอไผ่เหมือนเคย
ขณะที่ปัญหาการเรียกหัวคิวในพื้นที่ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ดังที่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากชาวบ้านมานำเสนอ...
รัฐขยับเยียวยา...นายหน้าโผล่!
การเรียกหัวคิว หรือ "ค่าดำเนินการ" จากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยกลุ่มบุคคลบางกลุ่มนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบรายละ 7.5 ล้านบาท เท่ากับกรณี "คนเสื้อแดง" หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง
แหล่งข่าวซึ่งเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย ถูกจับกุมอีกกว่า 1 พันคน) เล่าให้ฟังว่า เมื่อปรากฏข่าวผ่านสื่อ กลุ่มบุคคลบางกลุ่มก็ตั้งตนขึ้นเป็น "นายหน้า" ก็เข้าไปติดต่อบรรดาญาติผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งอยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาทันที โดยอ้างว่าการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลเกิดจากการผลักดันของพวกเขา และหากอยากจะได้เงินต้องมีค่าดำเนินการ ซึ่งพวกเขาจะหักประมาณ 20%
แฉ 3 กลุ่มตั้งตนเป็น "นายหน้า"
เท่าที่ประมวลข้อมูลจากพื้นที่ พบว่า กลุ่มที่แสดงตัวเป็น "นายหน้า" เพื่อหักค่าหัวคิวหรือของบดำเนินการจากชาวบ้านนั้นมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)
2.กลุ่มที่อ้างตัวเป็นผู้นำศาสนา หรือกรรมการอิสลามระดับต่างๆ
และ 3.กลุ่มผู้สูญเสียด้วยกันเอง ซึ่งบางคนตั้งตนเป็นผู้นำหรือผู้ประสานงานกับภาครัฐ
สบช่องหากินเหตุชาวบ้านไม่รู้หนังสือ
สาเหตุที่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถตั้งตนเป็นนายหน้าหากินกับชาวบ้านได้ ก็เนื่องจากเหตุปัจจัย 3 ประการ คือ
1.ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาไทย หรือรู้ก็ไม่แตกฉานจนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาษาเขียนและภาษาราชการ
2.ชาวบ้านในพื้นที่มักหวาดกลัวที่จะต้องติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐ เพราะหลายปีที่ผ่านมามักถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองหรือปฏิบัติไม่ค่อยดี จนกลายเป็นความฝังใจของคนในพื้นที่ จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อกับหน่วยงานราชการ
และ 3.ชาวบ้านไม่ค่อยรู้ระเบียบกฎหมายต่างๆ จึงมีกลุ่มคนตั้งตนเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับชาวบ้านในแทบทุกพื้นที่ และกลุ่มคนเหล่านี้เองที่สร้างเครือข่ายเป็นเอเย่นต์หักค่าหัวคิวเงินเยียวยาจากชาวบ้าน รวมไปถึง "เรียกรับ" ค่าดำเนินการอื่นๆ ด้วย แม้แต่ช่วยเหลือไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียกผลประโยชน์ฝ่ายเดียว เมื่อช่วยไม่ได้ก็โทษคนของภาครัฐอีก ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดีกับหน่วยงานราชการมากยิ่งขึ้น
เดินสายเก็บเอกสาร-ตีสนิทญาติเหยื่อ
แหล่งข่าวซึ่งสมาชิกในครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรทำงานเพื่อสังคมเชิญญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งพุทธและมุสลิมไปประชุมกันบ่อยครั้งที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยได้เก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของญาติผู้สูญเสียไปด้วย โดยอ้างว่าเป็นการนำไปทำเรื่องขอเงินเยียวยา
เรื่องนี้เมื่อมาทราบความจริงภายหลังจึงคิดว่าน่าจะถูกหลอก เพราะคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลตั้งขึ้น และมี พล.ต.อ.ประชา เป็นประธาน ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 8 คณะเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาทุกกลุ่ม โดยครอบครัวผู้สูญเสียสามารถยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานโดยตรงกับคณะกรรมการฯ หรืออนุกรรมการฯ ได้เลย
นอกจากนั้น ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยังได้ใช้เครือข่ายของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดชายแดน และเครือข่ายผู้นำท้องถิ่น ในการรับเรื่องร้องขอรับเงินเยียวยาจากชาวบ้านในทุกพื้นที่ด้วย
"ข่าวสารจากรัฐส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปถึงชาวบ้าน ทำให้กลุ่มนายหน้ายังคงทำงานได้ และเข้าถึงชาวบ้านมากกว่า ประกอบกับกลุ่มนายหน้าใช้ความเป็นมุสลิมเข้าไปคุย ทำให้ชาวบ้านคล้อยตามมากกว่าการฟังตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ" แหล่งข่าว ระบุ
อ้างตัวเลขสูงเกินจริง-หักหัวคิว1ล้าน
แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งซึ่งสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์กรือเซะ (เหตุการณ์ที่วัยรุ่นและกลุ่มชายฉกรรจ์บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของทางราชการนับสิบจุด เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีผู้เสียชีวิต 108 ราย) กล่าวว่า มีคนเข้ามาบอกก่อนหน้านี้แล้วว่า คนที่ตายในมัสยิดกรือเซะจะได้เงินช่วยเหลือเยียวยาคนละ 4.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เสียชีวิตนอกมัสยิดจะไม่ได้ และยังมีคนมาบอกด้วยว่า ถ้าต้องการได้รับเงินเยียวยาต้องมีการเดินเรื่องและมีค่าดำเนินการ
"เขาบอกว่ามีคนมาเดินเรื่องให้ คนที่ไม่มีรายชื่อหรือรายชื่อตกหล่นก็สามารถทำให้มีชื่อและรับเยียวยาได้ แต่ต้องใช้เวลา และเสียค่าดำเนินการรายละ 1 ล้านบาท" หม้ายจากเหตุการณ์กรือเซะ ระบุ
ปลุกกระแส 7.5 ล้านหวังค่าหัวคิว
แหล่งข่าวซึ่งเป็นญาติผู้สูญเสียอีกรายหนึ่ง และเคยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มนายหน้าที่อ้างตัวเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม กล่าวว่า จริงๆ แล้วก่อนจะมีเรื่องเงินเยียวยาเป็นข่าวใหญ่โต ทางกลุ่มญาติผู้สูญเสียก็ไม่ได้สนใจเรื่องเงินเยียวยามากนัก เพราะอยากได้ความยุติธรรมหรือให้รัฐหาตัวคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้มากกว่า เพื่อครอบครัวของพวกเธอจะได้พ้นมลทินว่าไม่ใช่โจร หรือเป็นครอบครัวโจร แต่เมื่อรัฐประกาศว่าจะให้เงินเยียวยาก็ถือเป็นเรื่องดี และหลายคนก็ตั้งความหวัง เนื่องจากทุกครอบครัวมีหนี้สินรุงรังหลังจากสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเงินเยียวยาไม่ค่อยนิ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องตัวเลขหลายครั้ง สุดท้ายมีข่าวว่าอาจไม่มีใครได้ 7.5 ล้านบาทเลย และชาวบ้านทั่วไปที่เป็นเหยื่อความรุนแรงรายวันอาจได้เพียงรายละ 1 แสนบาท จุดนี้ทำให้กลุ่มนายหน้าพยายามเข้ามาปลุกระดมสร้างกระแสในหมู่ญาติผู้สูญเสียให้ออกมาประท้วงและตำหนิรัฐบาลเพื่อให้ได้เงินเยียวยาคนละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งหากชาวบ้านได้รับจริง นายหน้าก็จะได้รับค่าหัวคิวเพิ่มมากขึ้น
"ที่ผ่านมาพวกเราซึ่งเป็นครอบครัวผู้สูญเสียรู้ดีว่ามีคนเข้ามาหาประโยชน์จากพวกเราในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะรัฐก็ไม่เคยสนใจ ใส่ใจ และไม่เคยแก้ไขปัญหาให้เราเลย" แหล่งข่าว กล่าว
จี้รัฐสกัด "นายหน้า" ตั้งทีมคุยตรงชาวบ้าน
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาขบวนการนายหน้าเรียกค่าหัวคิวเยียวยานั้น มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายเช่นกัน...
นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ขบวนการนายหน้ามีหลายรูปแบบ บางรายมาแบบตรงๆ แบบหวังดี จะไปช่วยซื้อบ้านซื้อรถให้กับชาวบ้าน เรื่องลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นได้ทุกที่ ฉะนั้นภาครัฐต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อพบใครที่มีพฤติกรรมแบบนี้ก็แจ้งความดำเนินคดี และประกาศต่อสาธารณะไปเลยว่าบุคคลผู้นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเยียวยา
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ระเบียบการเยียวยาก็กำหนดชัดเจนว่าบุคคลที่เป็นญาติผู้สูญเสียคือใคร หรือมีใครบ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเยียวยา ฉะนั้นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการที่ตั้งขึ้นก็ต้องลงไปพูดคุยกับญาติผู้สูญเสียโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยให้ไปคุยกับใครก็ไม่รู้ แล้วทำให้เกิดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ได้
"ดิฉันเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะตัดปัญหาทั้งหมด ในส่วนของคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแต่ละกลุ่ม ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์กัน เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คนที่จะมาทำหน้าที่ในอนุกรรมการเยียวยาต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่คนที่แสวงหาผลประโยชน์จากความรุนแรง และที่สำคัญต้องเข้าใจความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างแท้จริง" นางอังคณา กล่าว
นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบบสรรหา ซึ่งเป็นชาว จ.ปัตตานี และเป็นประธานอนุกรรมาธิการติดตามประเมินผลการเยียวยาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เรื่องนายหน้ายอมรับว่ามีจริงๆ และเคยเจอกับตัวเองโดยตรงด้วย
"ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาปรึกษา เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมานี้เอง (เหตุการณ์คาร์บอมบ์บนถนนรวมมิตร ย่านธุรกิจในเทศบาลนครยะลา) เขามาปรึกษาว่ามีบางคนอ้างตัวว่าจะเข้ามาดำเนินการในเรื่องเอกสารและหลักฐานให้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดรับผิดชอบอยู่ ทั้งพัฒนาสังคมฯจังหวัด เยียวยาจังหวัด และอีกหลายหน่วยงาน แสดงว่ามีกลุ่มคนต้องการแสวงหาผลประโยชน์จริง และคนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องพยายามเข้าถึงประชาชน เข้าถึงให้ได้ก่อนและรวดเร็วด้วย หากทำได้ก็จะลดช่องว่างไม่ให้ผู้แสวงหาผลประโยชน์อาละวาดอยู่อย่างทุกวันนี้"
"ขณะเดียวกัน ศอ.บต.ต้องชี้แจง ประกาศให้ชัดเจนว่าได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เยียวยาแล้ว เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ากลุ่มอื่นนอกเหนือจากคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นไม่ใช่ของจริงและไม่เกี่ยวข้อง เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ค่อยเข้าใจหลักการเยียวยาและการติดต่อประสานงานกับภาครัฐเท่าไหร่ ก็เลยต้องอาศัยคนเหล่านี้ที่พยายามแสวงหาประโยชน์อยู่แล้ว" นายอนุศาสตร์ กล่าว
เร่งตั้งตัวแทนกลุ่มอาชีพ-ผู้สูญเสียร่วมอนุกรรมการฯ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จะเร่งจัดช่องทางการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะได้ไม่ต้องผ่านนายหน้า โดยหลังจากที่คณะกรรมการฯแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เป็นตัวแทนเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนจริงๆ แล้ว คิดว่าปัญหาลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
"คณะอนุกรรมการเยียวยาก็มาจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครอง ครู ทหาร ตำรวจ แพทย์ และตัวแทนคนที่ทำงานเพื่อประชาชน รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบเอง เมื่อตั้งคณะอนุกรรมการเรียบร้อยก็จะประกาศให้รับทราบกันอย่างทั่วถึง และคณะอนุกรรมการเยียวยาก็จะลงพื้นที่ไปสำรวจความเดือดร้อน จากนั้นจะสรุปประมวลส่งให้คณะกรรมการเยียวยาชุดใหญ่ชี้ขาด ไม่ได้จบแค่อนุกรรมการเยียวยาเท่านั้น"
พ.ต.อ.ทวี ย้ำด้วยว่า เป้าหมายของการเยียวยาคือดูแลผู้ได้รับผลกระทบให้อยู่ในสังคมได้ อย่างกรณีการเยียวยาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรณีที่รัฐไม่สามารถดูแลความปลอดภัยให้ได้ เบื้องต้นจะจ่าย 5 แสนบาท ที่เหลือนอกเหนือจากนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป มีกรรมการพิจารณาชัดเจน และเพดานไม่เกิน 7 ล้านบาท
"เรื่องนี้แม้จะมีเสียงวิจารณ์กันมากก็ไม่เป็นไร เพราะพลังในการทำงานจะสะท้อนความจริง ไม่สามารถเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของเราได้" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ดูเหมือนตัวเลขเยียวยาจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีโจทย์ข้อยากให้ผู้รับผิดชอบต้องตามแก้อีกมากทีเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบต้นฉบับจากอินเทอร์เน็ต ปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
อ่านประกอบ :
1 เคราะห์ซ้ำที่ชายแดนใต้...เงินเยียวยายังไม่มา แต่มีนายหน้าขอหักหัวคิวแล้ว!
2 ศอ.บต.ล้อมคอกหัวคิวเยียวยา ญาติเหยื่อแฉซ้ำเจอไถ